เมืองไทย 360 องศา
ก็ไม่รู้สินะ สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวในสารพัดชื่อ ทั้งเยาวชนปลดแอก ประชาชนปลดแอก มาจนถึงแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรืออาจมีชื่ออื่นอีกตามมาหลังจากนี้ แต่เท่าที่เห็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันมาหากเอาแบบ “เบิ้มๆ” ก็น่าจะเริ่มนับกันตั้งแต่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม จนมาถึงวันที่ 19 กันยายน ที่บอกว่าเป็นการชุมนุมแบบ “เบิ้มๆ” นั่นแหละ
เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหว จำนวนมวลชนที่เข้าร่วม รวมไปถึงการพิจารณากันถึง “พลัง” และวุฒิภาวะของระดับ “แกนนำ” ทั้งในระดับบุคคล หรือระดับกลุ่มแกนนำแล้วก็ต้องกล่าวกันแบบตรงไปตรงมาว่า “ยังไม่ผ่าน” ไม่เหมาะที่จะนำการชุมนุมในระดับใหญ่แบบสาธารณะในแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลักๆ ได้เลย
เพราะเมื่อได้มองเห็นจากการชุมนุมในแต่ละครั้ง แทนที่จะสามารถสะสมพลังให้เพิ่มขึ้น ได้แนวร่วมเข้ามาอย่างหลากหลาย แต่ผลออกมาในทางตรงกันข้าม นั่นคือ มีแต่ “คนถอยห่าง” หรือพวกที่ยังกัดฟันอยู่ร่วมก็อยู่ในภาวะ “กระอักกระอ่วน” กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
หากจะบอกว่า เป็นการเคลื่อนไหวและการชุมนุมที่ “ขาดเอกภาพ” ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จนเหมือนกับว่าพวกแกนนำ “ไม่ลงรอย” ช่วงชิงการนำซึ่งกันและกัน ซึ่งสังเกตเห็นจากการชุมนุมในแต่ละครั้ง เช่น การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม ที่มีการเปิดตัว 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ จนทำให้สังคมหันมามองว่า “เด็กๆ” พวกนี้มีเป้าหมายเกินเลย
แน่นอนว่า ในยุคปัจจุบันที่ไม่ว่า “รุ่นเก่า” หรือ “รุ่นใหม่” ต่างก็มีความรู้ สามารถใช้อินเทอร์เน็ตระดับพื้นฐาน สามารถค้นหาข้อมูลได้ไม่แพ้กัน ย่อมรับรู้ได้ไม่ยากว่า ได้รับการชักใยมาจากสองนักวิชาการที่หลบหนีคดีอาญา มาตรา 112 อย่าง นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ นายปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธุ์ และกลุ่มแกนนำก็เป็นพวกที่ชื่นชอบในแนวทางนี้ เช่น นายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
แต่กลายเป็นว่าในวันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 16 สิงหาคม ถัดมาบรรดาแกนนำพวกนี้กลับไม่ได้ขึ้นเวที มีรายงานว่า “ถูกกันออกนอกวง” ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเป็นคนละกลุ่ม และมีเป้าหมายในการเรียกร้องคนละอย่าง โดยกลุ่มแรกเน้นไปที่การ “โจมตีสถาบันฯ” ส่วนการเรียกร้องในประเด็นสาธารณะอื่นๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การให้หยุดคุกคามประชาชน ให้ยุบสภา เป็นต้น กลายเป็นเรื่องรองจนแทบไม่มีการพูดถึงเลย
จนกระทั่งมาถึงการชุมนุมแบบที่คุยว่าเป็นแบบ “เบิ้มๆ” และมี “เซอร์ไพร้ส์” ในตอนย่ำรุ่ง วันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ที่พอเอาเข้าจริงมันก็กลับสร้างความขบขันในเรื่องของการ “ไร้แก่นสาร” ไร้วุฒิภาวะของบรรดแกนนำ และที่สำคัญ ในการชุมนุมวันนั้น อย่างที่ทุกคนทราบกันดีแล้ว ก็คือ มันไม่ใช่เป็นการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่มีพวกนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วม หรือมีก็เพียงไม่กี่คน แต่แทบทั้งหมดกลายเป็น “มวลชนคนเสื้อแดง” ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ว่าใครก็ย่อมมองออกว่า นี่คือ “มวลชนจัดตั้ง”
ส่วนจะเป็นใครที่ออกทุน จะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายทุนจากกลุ่มทุนไทยซัมมิทหรือไม่ ก็ไม่อาจฟันธงได้ แต่หลายคนสงสัยเพราะทั้งตัวเขาและกลุ่มเพื่อนรวมไปถึง ส.ส.ในกลุ่มพรรคก้าวไกล ออกตัวแรงมาตลอด
แต่บทสรุปก็คือ หากไม่ “อวย” กันจนเกินงาม ก็ต้องพูดความจริงว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมามัน “แป้ก” หรือห่างจากเป้าหมายไปไกลโข ซึ่งรายละเอียดต่างก็มีการสรุปกันไปให้เห็นอยู่แล้ว และจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่เห็นการโพสต์อะไรออกมาในโซเชียลฯ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาเลย เรียกว่าเงียบผิดปกติ
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีการนัดหมายการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ในวันที่ 14 ตุลาคม โดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ประกาศว่าคราวนี้จะมา“แบบมืดฟ้ามัวดิน”และจะชุมนุมแบบยืดเยื้ออย่างน้อยก็ 7 วัน 7 คืน เลยทีเดียว ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง มันก็ถือว่าจะยิ่งใหญ่กว่า “ม็อบเบิ้มๆ” เมื่อหลายวันก่อน แต่นั่นก็อาจเป็นการคุยโม้ คำโตอีกครั้งก็เป็นไปได้สูง เมื่อพิจารณาจาก ศักยภาพ ภาวะผู้นำในการนำม็อบที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่า “กลุ่มปลดแอก” กลุ่มนี้ “ไม่ผ่าน” เพราะยิ่งเคลื่อนไหว มีแต่ลดทอนกำลังของตัวเอง ไม่มีแนวโน้มที่จะสร้างแนวร่วมที่เพิ่มขึ้นได้เลย ในทางตรงข้ามมีแต่ถอยห่างออกไปเรื่อยๆ
ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทยอย่างกะทันหัน ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มันก็อาจมีผลกระทบต่อมวลชนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะมวลชนคนเสื้อแดง ที่ยังละล้าละลัง ต้องดูทิศทางลม ต้องซอยเท้าอยู่กับที่เอาไว้ชั่วคราวก่อน
ดังนั้น หากพิจารณาเรื่อยมาตั้งแต่ระดับแกนนำที่เห็น หากยังปล่อยให้มีบทบาทนำต่อไปก็รังแต่จะสร้างความล้มเหลว ถดถอยไร้พลังที่จะกดดันฝ่ายตรงข้ามได้ ยิ่งได้เห็นการเคลื่อนไหว เช่นการไปโจมตี ด่าทอทหาร รวมทั้งสาดสี ปาไข่บริเวณรั้วกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ การใช้วาจาหยาบคาย จาบจ้วง เช่น การใช้ถ้อยคำและสัญลักษณ์สื่อสารแบบนั้นออกมา ถือว่าทำให้ถูกมองด้วยสายตาเป็นลบ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะได้ดีว่ามีระดับไหน ซึ่งจะส่งผลถึงการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม อย่างแน่นอน !!