xs
xsm
sm
md
lg

6 ตุลาฯไม่ซ้ำรอย ยกเว้น “จงใจ” ให้นองเลือด !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

แน่นอนเหลือเกินว่าเวลานี้หลายคนคงหวั่นวิตกว่าการชุมนุมของบรรดากลุ่มเยาวชนที่ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเรียกขานจากเยาวชนปลดแอกมาเป็น “ประชาชนปลดแอก” อาจจะบานปลายไปสู่ความรุนแรง ที่กลัวกันว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ “นองเลือด” เหมือนกับ “เหตุการณ์ 6 ตุลา 19” โดยพิจารณาจากข้อเสนอของพวกเยาวชน นักศึกษาเหล่านั้น ที่มีการเสนอ “แหลม” ออกมาจำนวน 10 ข้อ ที่พุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง


ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่ทำให้เกิดความหวั่นใจว่าจะ “บานปลาย” เนื่องจากพิจารณาจากเนื้อหาในข้อเสนอ 10 ข้อดังกล่าว ทำให้หลายคน “รับไม่ได้” เนื่องจากเห็นว่าเป็นการ “ก้าวล่วง” เป็นการ “ล้ำเส้น” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ข้อเสนอดังกล่าวมีการมองกันว่า มีความชัดเจนว่าในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีเป้าหมายเกินกว่าการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มุ่งเน้นในเรื่องประเด็นทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย เหมือนกับการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้งในอดีต ที่ไม่เคยมีการแตะต้องในหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน มีการมองออกว่าการเคลื่อนไหวของบรรดาเด็กเยาวชนในครั้งนี้ มีคนคอย “ยุยงอยู่เบื้องหลัง” ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หากมีการออกแถลงการณ์สนับสนุนของบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางแห่งบางคน ที่ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้นักศึกษาเหล่านี้ เพราะหลายคนก็ล้วน “หน้าเดิม” ที่สังคมรับรู้กันอยู่แล้วว่าพวกเขามีทัศนคติในทางลบต่อสถาบันฯมาตลอด บางคนก็เป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีตาม มาตรา 112 โดยใช้การเคลื่อนไหวทางสื่อโซเชียล และเชื่อมโยงมาถึงการชุมนุมในครั้งนี้

โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นภาพชัดเจนระหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่สังคมได้เห็นความจริง และทุกอย่างก็ได้เปิดเผยโฉมหน้าออกมาให้เห็นว่า “เจตนาที่แท้จริง” ของพวกเขาที่ซ่อนอยู่ หรือที่หลายคนบอกว่าเป็นการ “แอบอยู่ข้างหลัง” เด็กๆ พวกนี้ ซึ่งถือว่า “อำมหิต” มาก เพราะเหมือนกับว่ากำลังใช้เป็นเครื่องมือ โดยที่ตัวเองไม่กล้าออกมา “ชน” ด้วยตัวเอง


สาเหตุที่มีการบอกว่าเป็นแผนอำมหิต เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ว่านั้น ถือว่าเป็นการมุ่งเน้นในเรื่อง “อ่อนไหว” ต่อความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ และหากพิจารณาในบางมุมก็เหมือนกับว่า กำลังพยายาม “ยั่วยุ” ให้เกิดความรุนแรง หรือยั่วให้มีการ “จับกุม” เพราะบางคำพูดของแกนนำบางคนมีลักษณะ “จาบจ้วง” และดูหมิ่นอย่างชัดแจ้ง รวมไปถึงการเขียนข้อความหลายข้อความ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการสื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหมายถึง “ใคร”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีความกังวลกันว่าอาจจะเกิดความรุนแรงบานปลายไปเหมือนกับ เหตุการณ์ “6 ตุลาฯ” เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่พวกเยาวชนพวกนี้ยังไม่เกิด ยังไม่เคยสัมผัสกับเหตุการณ์สยดสยองดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อพิจารณากันอีกมุมหนึ่งก็ต้องบอกว่า สถานการณ์และบรรยากาศในปัจจุบัน ถือว่า “ต่างกันกับปี 2519” อย่างสิ้นเชิง

ในยุคนั้นที่ถือว่ายังเป็นสังคม “ค่อนข้างปิด” การสื่อสารยังไม่ฉับไว และยังไม่แพร่หลาย และยุคนั้นยังถือว่าบรรดานักเรียน นักศึกษา เป็นคนที่มีความรู้ สามารถชี้นำสังคมได้ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคนั้น ยังได้รับการศึกษาไม่มากนัก มีน้อยคนที่เรียนจบปริญญาตรี ได้ร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบัน ปี 2563 ที่แม้ว่าหลายคนจะถูกมองว่าเป็นผู้ “สูงวัย” แต่แทบทั้งหมดล้วนถือว่ามีความรู้ มีประสบการณ์ จบปริญญาตรี ปริญญาโท กันแทบทั้งนั้น หรือหากสิ่งไหนที่ไม่รู้ ก็สามารถหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องสอบถามเอาจากบรรดาเด็กๆ พวกนี้ ก็จะได้คำตอบอยู่แล้ว นี่คือ การชี้ให้เห็นข้อเปรียบเทียบว่าสังคมในยุคก่อนกับยุคปัจจุบันนั้นต่างกันแทบจะสิ้นเชิง การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สามารถหาได้ทุกทาง และที่สำคัญ ยังรู้ทันว่าการชุมนุมของเด็กๆ นักศึกษาพวกนี้ มีใคร “ชักใย” อยู่ข้างหลัง

เมื่อพิจารณาบรรยากาศที่เป็นอยู่ แม้ว่าจะมีความ “ตึงเครียด” อยู่บ้าง แต่เมื่อมองไปโดยรอบแล้วก็เชื่อว่า หลายคนมีความ “เข้าใจสถานการณ์” มีความพยายามประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้บานปลายออกไปจน “เข้าทาง” อีกฝ่าย เมื่อพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ย้ำว่า จะใช้วิธีแบบละมุนละม่อมที่สุด ที่สำคัญ ยังไม่เห็นการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เลย

ทำให้เบาใจได้เปลาะหนึ่งเหมือนกันว่า ฝ่ายรัฐบาลกำลังใช้วิธี “ยืดหยุ่น” สถานการณ์ ยังไม่ส่งสัญญาณจับกุมรุนแรงตามที่มีการยั่วยุ แต่กลายเป็นว่า กำลังถูก “สังคมกดดัน” เข้าใส่อีกฝ่ายว่า กำลัง “ล้ำเส้น” เกินกว่าเป้าหมายในการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตยที่แทบทุกฝ่ายกำลังเห็นตรงกันว่า “ต้องแก้ไข”

แต่หากมองในมุมบวก ก็ถือว่านี่คือการปะทะกันทางอารมณ์และความคิด ก่อนที่จะ “ตกผลึก” ลงในอีกไม่ช้า และเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุซ้ำรอย ยกเว้นมีใคร “จงใจ” ให้เกิดนองเลือด ซึ่งในยุคนี้ย่อมมองออกได้ไม่ยาก !!


กำลังโหลดความคิดเห็น