xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบ 19 กันยายน เพื่อวิจารณ์สถาบันแบบเบิ้มๆ !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การแถลงข่าวของ แกนนำปลดแอก นัดชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.
เมืองไทย 360 องศา


นาทีนี้กลายเป็นว่าการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มปลดแอก” หรือกลุ่มที่เรียกว่า “แนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่กำหนด ในวันที่ 19 กันยายน นี้ เป็นการชุมนุมใหญ่ของพวกเขา จะเดินหน้าต่อไป แม้ว่าทางผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกคำสั่งห้ามใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตามที่เคยนัดหมายเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม โดยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และย้ำว่า พวกเขามีเจตนาอันแน่วแน่ในการต่อต้านเผด็จการ

อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตาก็คือ กลายเป็นว่าการชุมนุมในครั้งนี้ มีแกนนำจากการที่มีการตั้งโต๊ะแถลงไปก่อนหน้านี้ ก็คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายณัฐชนน ไพโรจน์ และ นายภานุพงศ์ จาดนอก โดยสองสามคนแรก เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทั้งหมดล้วนมีท่าทีสนับสนุนร่วมเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่อ้างว่าเป็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงก่อนหน้านี้ก็มีการเคลื่อนไหว และพูดจาปราศรัยวิจารณ์ค่อนข้างรุนแรงมาตลอด

ในการชุมนุมครั้งนี้ ยังประกาศว่า เป็นปฏิบัติการ “ทวงอำนาจคืนราษฎร” อะไรนั่นอีกด้วย ซึ่งการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวนี้ เริ่มมีขึ้นระหว่างการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา จนนำไปสู่เสียงวิจารณ์จากภายนอก จากประชาชนทั่วไปอย่างรุนแรง จนทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บางคน ต้องออกมาขอโทษ และออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในเรื่องการยึดมั่นในการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยึดมั่นในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมไปถึงมีข้อกำหนด จำนวน 3 ข้อ หรือ 3 เงื่อนไข ในการขออนุญาตใช้สถานที่ โดยหนึ่งในนั้นต้องไม่ไปเกี่ยวข้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน และล่าสุด ก็นำไปสู่การออกคำสั่งของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา ห้ามใช้สถานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในการจัดการชุมนุมทางการเมือง โดยระบุเหตุผลในเบื้องต้นว่า เนื่องจากเป็นกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี บรรดาแกนนำที่จัดการชุมนุมครั้งนี้ก็ยังยืนยันที่จะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของมหาวิทยาลัย โดยอ้างเสรีภาพและการใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยจะจัดชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยต่อไปตามกำหนดเดิม พร้อมโจมตีผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างรุนแรงว่า “รับใช้เผด็จการ”


ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ที่มีการสนับสนุนและโต้แย้งของแต่ละฝ่าย โดยฝ่ายสนับสนุนให้ใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมไปถึงสนับสนุนให้ชุมนุมต่อไป ก็คือ “กลุ่มก้าวหน้า” ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล รวมไปถึงพรรคในเครือข่ายของเขา อย่างพรรคก้าวไกล เป็นต้น

ขณะที่อีกฝ่ายที่ออกเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างชัดเจน ก็คือ กลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (บางส่วน) ที่มี นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตรองอธิการบดีฯ ที่ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพวก “ปลดแอก” ด้วยเหตุผล 5 ข้อ โดยหลักๆ ก็คือ เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่บริสุทธิ์ ไม่ใช่มีเจตนาชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความสูญเสีย และยังเห็นว่าแกนนำไม่อาจควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในความสงบได้ พร้อมกับรณรงค์สนับสนุนให้กำลังใจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกคำสั่งห้ามใช้สถานที่ในบริเวณมหาวิทยาลัยจัดการชุมนุมดังกล่าว

แน่นอนว่า การชุมนุมในครั้งนี้ ย่อมต้องเป็นที่จับตามองว่า นี่คือ ม็อบของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล รวมไปถึงบรรดาสาวกที่คลั่งไคล้ในตัว นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ สองนักวิชาการที่หลบหนีคดี มาตรา 112 ในต่างประเทศ


แม้ว่าในรายละเอียดทั้งสองกลุ่มจะมีความขัดแย้งและเกิดการวิวาทะผ่านทางโซเชียลฯ ในทำนองว่า อีกฝ่ายไม่ยอมลงทุนลงแรงในการ “ออกหน้า” มานำการชุมนุมด้วยตัวเอง แต่มัวเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากบรรดาเด็กเยาวชน เช่น นายสมศักดิ์ เคยโจมตี นายธนาธร และนายปิยบุตร มาก่อนหน้านี้ จนถูกสวนกลับจาก นายปิยบุตร มาแล้ว และครั้งล่าสุด ทั้งนายธนาธร และนายปิยบุตร ก็ยอมรับเองว่า จะไปร่วมชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น แต่จะไม่ร่วมปราศรัยบนเวที

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากัน ก็คือ การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน เป็นการชุมนุมที่มี นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายณัฐชนน ไพโรจน์ และ นายภานุพงศ์ จาดนอก เป็นแกนนำ และมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล สนับสนุนอยู่ข้างหลังเวที ขณะที่พรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย กลับไม่ได้ออกโรงสนับสนุนอย่างชัดเจนนัก โดยเน้นไปที่การเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องของบรรดาแกนนำในการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน นาทีนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก เพราะหากบอกว่าเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นประเภทแก้ไขทั้งฉบับ หรือรายมาตรา เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ต้านเผด็จการ ก็ถือว่ามีการยื่นญัตติแก้ไขเข้าไปแล้ว โดยมีกำหนดประชุมอภิปรายพิจารณาวาระแรกกัน ในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ มันก็ถือว่าเงื่อนไขการชุมนุมนั้นมีน้ำหนักลดลงแล้ว

แต่ที่ทำให้หลายคนเป็นห่วง และจับตามองก็คือ การที่แกนนำผู้ชุมนุมประกาศว่า จะมีการปราศรัยพูดจาในเรื่องสถาบันในแบบ “เบิ้มๆ” ในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และยืนยันว่า จะต้องพูดเรื่องดังกล่าวให้ได้ นี่แหละที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดปัญหาจะสร้างความขัดแย้งบานปลาย อีกทั้งยังทำให้การชุมนุมเบี่ยงเบนเป้าหมายออกไป จากการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และข้ออ้างเรื่องการขับไล่เผด็จการสืบทอดอาจ กลายเป็นการชุมนุมเพื่อวิจารณ์สถาบันจนสร้างความกระอักกระอ่วน และไม่พอใจจากประชาชนจำนวนมาก

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้หากพิจารณาจากกระแส รวมไปถึงผลสำรวจที่ออกมา ล้วนกังวลกับการชุมนุมที่ “เลยเถิด” ออกนอกเส้นทางไปไกล และถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือของ การเมือง “บางกลุ่ม” รวมไปถึงการบงการชักใยจากต่างชาติ เพื่อให้เกิดสถานการณ์ปั่นป่วน แล้วเข้าแทรกแซง หรือไม่ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น