xs
xsm
sm
md
lg

วอนนอนคุก-แผนยั่วให้จับ ปลุกเร้าม็อบชุมนุมใหญ่ !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อานนท์ นำภา - ภานุพงศ์ จาดนอก
เมืองไทย 360 องศา

หากจะบอกว่าการที่ศาลอาญา มีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 3 กันยายน ทำให้เขาต้องถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่อีกคนหนึ่ง คือ นายภานุพงศ์ จาดนอก ศาลให้โอกาส แต่เพิ่มหลักทรัพย์ประกันเป็น 2 แสนบาท แต่มีรายงานว่า นายภานุพงศ์ ไม่ยื่นขอประกันตัว และไม่เพิ่มวงเงินประกันตัว ความหมายก็คือ ต้องการให้ถูกคุมขังโดยไม่ขอประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีนั่นแหละ ซึ่งก็ได้สิทธิ์นั้น เมื่อทั้งคู่ถูกนำตัวไปควบคุมตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในตอนเย็นวันเดียวกัน


สำหรับ นายอานนท์ นำภา และ นายภานุพงศ์ จาดนอก ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตาม ป.อาญามาตรา 116 และข้อหาอื่น จากกรณีร่วมชุมนุมปราศรัยกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม แต่ได้รับการประกันตัวออกมา โดยมีเงื่อนไขห้ามกระทำหรือเคลื่อนไหวในลักษณะเดิม ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลขอให้เพิกถอนการประกันตัว หลังจากทั้งคู่ยังมีการเคลื่อนไหว มีการขึ้นเวทีปราศรัยในลักษณะเดิมอีกหลายเวที หลายจังหวัด และศาลนัดไต่สวนคำร้อง และในที่สุดก็นำไปสู่การเพิกถอนการประกันตัวดังกล่าว

ขณะที่อีกคนคือ นายภานุพงศ์ จาดนอก แม้จะไม่ถูกเพิกถอนการประกันตัว แต่ก็ต้องการจะติดคุก ไม่ขอประกันตัว ก็ถือว่ามีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา เพราะหากพิจารณาจากไทม์ไลน์ ก็เป็นช่วงเวลาก่อนที่จะถึงวันที่พวกเขานัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน โดยอ้างว่าเพื่อ “ขับไล่เผด็จการ” และที่ผ่านมา ก็มีการนัดชุมนุมกันมาตามสถานที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รวมถึงการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ไปด้วย และเรียกร้องให้ยุบสภา

แม้ว่าจะมีรายละเอียดในข้อเรียกร้องแยกย่อยเพิ่ม เช่น ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ แต่ความหมายก็อยู่ในเรื่องแบบนี้แหละ รวมไปถึงเรื่องข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ที่มีจำนวน 10 ข้อ เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่นำเสนอจากแกนนำบางคน แต่มาระยะหลังกลับไปเน้นในข้อเรียกร้องแรก ส่วน 10 ข้อหลัง ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงแล้ว
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากสองคนดังกล่าวแล้ว ยังมีแกนนำที่เหลืออีกจำนวนรวมทั้งหมด 18 คน ที่ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันไปเกือบครบแล้ว แต่ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขในลักษณะเดียวกัน



  แน่นอนว่า หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวอีกด้านหนึ่งก็สามารถมองออกได้ไม่ยาก ว่า นี่คือแนวทางในการ “ปลุกเร้า” การชุมนุมใหญ่ของพวกเขาที่กำหนดเอาไว้ในวันที่ 19 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นั่นแหละ เพียงแต่ว่าจะได้ผลแค่ไหนก็ต้องรอพิสูจน์กัน

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ การคุมขังครั้งเป็นไปตามคำสั่งศาลที่มีการไต่สวนจากพยานหลักฐานที่ชี้ชัดแล้วว่า ผู้ต้องหามีการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวจริง จึงสั่ง “เพิกถอน” ส่วนอีกคนหนึ่ง ศาลให้โอกาสกลับตัวโดยพิจารณาจากอายุ และอาชีพการงานของผู้ต้องหา แต่เมื่อปฏิเสธไม่ต้องการให้ประกันตัว ก็ต้องได้สิทธิ์นั้นเหมือนกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ หนึ่งในข้อเรียกร้องหลัก คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเสนอแก้ไขของสภาผู้แทนราษฎร ที่แทบทุกพรรคการเมืองมีความเห็นตรงกันแล้วว่า จะต้องแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในความหมายก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มต้นในรัฐสภา และที่สำคัญ ต้องได้รับความร่วมมือกันจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 84 เสียง ถึงจะสามารถไปต่อได้ เพราะอย่างที่บอก ไม่ว่าจะชอบหรือรังเกียจ ส.ว.ชุดนี้แค่ไหนก็ตาม หากต้องการแก้ไขตามขั้นตอน ก็ต้องพึ่งพาเสียงของพวกเขาในการโหวต วาระที่ 1 และ 3 อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

และเมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุด ก็มีความเคลื่อนไหวที่มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับความร่วมมือจาก ส.ว.ในการโหวตร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.ดังกล่าว



อย่างไรก็ดี ยังมีบางพรรค คือ พรรคก้าวไกล ที่เคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกัน แกนนำกลุ่มก้าวไกล ที่เป็นอดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องการใช้ม็อบกดดันให้มีการแก้ไข เพื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” พ่วงเข้าไปด้วย ซึ่งหลายคนมองว่ามี “เจตนาแอบแฝง” หรือ “เจตนาป่วน” รวมไปถึงไม่ได้ต้องการให้แก้ไขให้เกิดผลสำเร็จจริงจัง หรือเปล่า


เพราะเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้ว ถือว่าแนวทางดังกล่าวเป็นไปได้ยาก ซึ่งความเห็นแบบนี้ ยังมาจากพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้านด้วยกัน ที่มีการเสนอญัตติด่วนเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางไปสู่การยกร่างใหม่ หรือการแก้ไขในมาตราสำคัญที่เห็นว่าเป็นหลักการประชาธิปไตย โดยไม่แตะต้องในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งพรรคก้าวไกล ไม่ยอมลงชื่อร่วมด้วย และมีเจตนาจะให้มีการ “ปฏิรูปสถาบัน” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว และจุดชนวนความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาอีก


ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากแกนนำผู้ชุมนุมทั้งสองคนดังกล่าวข้างต้น ที่คนหนึ่งถูกเพิกถอนการประกันตัวหลังจากจากจงใจทำผิดเงื่อนไข ขณะที่อีกคนหนึ่งก็ไม่ยอมขอประกันตัว และยอมเข้าคุก ซึ่งแน่นอนว่า การเคลื่อนไหวของทั้งคู่ที่ผ่านมา ล้วนไปในแนวทางเดียวกับแกนนำกลุ่มก้าวไกล ที่พุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงข้อความที่ผู้ต้องหาเขียนขึ้นให้เผยแพร่ในทำนองปลุกเร้าให้เข้าร่วมชุมนุมวันที่ 19 กันยายน



มองในเกมมันก็เหมือนกับพยายามสร้างเงื่อนไขแบบ “เรียกแขก” ซึ่งต้องพิสูจน์กันว่า แผนนี้จะได้ผลหรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น