xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ม็อบ 14 ตุลาม้วนเดียวไม่จบ (อีกแล้วครับทั่น) “ลุงตู่” ชงเกมเลือก อบจ.-หวังอยู่ครบเทอม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คำประกาศกร้าวของม็อบ กับท่าทีของรัฐบาล “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มันย้อนแย้งกันแปลกๆ ตามคิวที่แกนนำฮึ่มเสียงดังว่า 14 ต.ค.63 นี้ ต้อง “ม้วนเดียวจบ”

ทว่า ปฏิกิริยาของ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ต่อ “เดือนตุลาฯ” ซึ่งเป็นวันสัญลักษณ์การต่อสู้ประชาธิปไตยที่ผ่านมา ดูจะไม่ได้ยี่หระอะไรเท่าไร

เทียบกับการโหมโรง การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.63 ยังดูว่า รัฐบาลยังมีความหวาดระแวงมากกว่าเสียอีก โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือม็อบ ที่ถึงขนาดต้องระดมตำรวจหลายกองร้อยมาอารักขาสถานที่สำคัญ วางลวดหนาม แบริเออร์กันราวกับทำสงคราม

ตรงนี้นี่เองที่หลายฝ่ายอ่านใจรัฐบาล ว่าไม่ได้หวาดหวั่นกับม็อบเลย ยิ่งย้อนดูการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 ก.ย.63 ที่เลือกเล่น “เกมเสี่ยง” ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ม็อบล้อมเอาไว้หมดแล้ว ยิ่งตอกย้ำได้เป็นอย่างดี

ขณะที่การปรากฏตัวของ “หญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร นายหญิงตัวจริงแห่งค่ายเพื่อไทย ยิ่งทำให้เป้าหมายของม็อบยิ่งดูเลือนราง

 ม็อบไม่เบิ้ม รบ.ชิลล์ๆ
การเยื้องย่างกลับมากุมบังเหียนพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง พร้อมส่ง “คุณแจ๋ว” จุฑารัตน์ เมนะเศวต เพื่อนสนิทมาเป็น “โปลิตบูโร” คือ เครื่องการันตีว่า ยุคนี้ “หญิงอ้อ” ดูเอง

และนั่นถูกแปลรหัสว่า ยุทธวิธีการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย จะเน้นไปที่การไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเดียว หากเลยเถิด “ขึ้นฟ้า” จะปลีกตัวออกมาทันที

เมื่อพรรคเพื่อไทย สงวนท่าที ร่วมแจมเฉพาะม็อบที่ไม่ลามปาม ย่อมส่งผลต่อกองกำลังสำคัญของม็อบนั่นคือ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีพรรคตระกูลชินเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่อาจจะไม่ได้มาร่วมมากมายนัก

และการที่ “เสื้อแดงอีสาน” ประกาศระดมพลมาชุมนุมในแต่ละหน ก็เป็นธรรมชาติที่กลุ่มคนเสื้อแดง ที่รังเกียจ “รัฐบาลทหาร” เป็นทุน เมื่อได้ยินว่าจะมีการขับไล่เผด็จการ ย่อมทำให้เลือดสูบฉีด แต่ถึงวันจริงอาจเป็นอีกเรื่อง

แน่นอนว่า “คนเสื้อแดง” มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขับเคลื่อนทุกครั้งย่อมต้องการสปอนเซอร์ เรื่องค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา หากท่อไม่พร้อมเปิดการมาปักหลักค้างแรมยาวๆ เกิดขึ้นได้ยาก

แล้ววันที่ 14 ต.ค.63นี้ “ทนายอานนท์” อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศว่า จะจัด “เบิ้มๆ” กว่าวันที่ 10 ส.ค.63 ที่เป็นวันประกาศ “10 ข้อเรียกร้อง” ย่อมเดาทางได้ว่า ม็อบจะเน้นไปที่เนื้อหาเรื่องไหน
ทำให้ “เส้นเลือดใหญ่” อย่างพรรคเพื่อไทย อ่านทางออกมาว่า ควรจะนำมาสมทบให้ม็อบมีขนาดใหญ่โตหรือไม่

ขณะเดียวกัน การที่ “เฮดหลัก” อย่าง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ยังเล่น “ซ่อนแอบ” อยู่ข้างหลัง ก็เป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้ม็อบไม่สามารถโตไปได้มากกว่านี้

การปล่อยให้ “อานนท์” หรือ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้นำโอกาสจะไปไกลกว่านี้ยิ่งริบหรี่ ตรงกันข้าม มันอาจจะยิ่งทำให้ม็อบฟ่อไปเรื่อยๆ

“เพนกวิน - รุ้ง” เริ่มถูกตั้งคำถามถึงวุฒิภาวะ และพฤติกรรมมากขึ้นจากฝั่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความก้าวร้าว รุนแรง เรื่อยไปถึงความสะเปะสะ ไม่มีแบบแผน

กลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่นำโดย “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ยังแหยงที่จะร่วมงานด้วย เห็นได้ชัดในงานวันที่ 19 ก.ย.63 ที่ปลีกตัวออกมาห่างๆ

หาก “ตัวจริง” ไม่เอามาเล่นเอง ยากที่จะบิวท์อารมณ์มวลชน ไม่ต่างอะไรกับการส่ง “รัฐบาลบิ๊กตู่” ให้อยู่บนฐานอำนาจไปอีกยาว เพราะไม่มีแรงกดดันมากพอจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน

“พรรคเพื่อไทย” ไม่ร่วมกับม็อบหากเฉียดขึ้นฟ้า “ธนาธร” รวมถึงปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช ไม่ออกมาถือธงนำเอง วันที่ 14 ต.ค.63 จึงไม่มีอะไรน่ากลัวสำหรับ “รัฐบาลบิ๊กตู่”

“14 ตุลาฯ” อาจจะคึกคักจากการเข้าร่วมของผู้คน แต่สุดท้ายมันจะจบลงแบบทุกครั้งที่เปรี้ยงปร้างแค่ขณะชุมนุม เมื่อเสร็จสิ้น ก็เป็นเพียงพลุตะไล ที่ยิงขึ้นฟ้าเสียงดังและเงียบหายไปเอง

เกมแก้ รธน.ลากยาวๆ
เมื่อม็อบจุดไม่ขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะค่อยดีเลย์ลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน เพราะไม่มีเหตุอะไรไปกดดันให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรีบเอาฟืนออกจากกองไฟ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกล้าที่จะเล่นเกมเสี่ยง หลังประเมินแล้วว่า อานุภาพของม็อบไม่สามารถสร้างความสะทกสะท้านได้

นอกจากนี้ พี่เบิ้มอย่างพรรคเพื่อไทย ก็มีปัญหา เพราะเดินหน้าหนุนเด็กไม่ถนัด เพราะสัญญาณของ “หญิงอ้อ” มันชัดว่า อย่าได้เฉียดเรื่องฟ้าเด็ดขาด

หันซ้าย หันขวา แลหน้า เหลียวหลัง ยังไม่เจอปัจจัยอะไรที่ทำให้ต้องถอย มันจึงถูกจับตาไปที่ประเด็นร้อนก่อนหน้านี้อย่างเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ส่อแววจะถูกเตะถ่วงไปเรื่อยๆ

ตามกระแสข่าวที่ว่า มีโอกาสจะค้างเติ่งไปยาวๆ ตราบใดที่ม็อบยังสร้างแรงกระแทกให้รัฐบาลได้ไม่มากพอ ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ว่า “บิ๊กตู่” ส่งสัญญาณให้ ส.ส. และส.ว.ยกมือหนุนนั้น ตอนนี้ชักไม่แน่

หากดูท่าทีของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...)พ.ศ. ... ก่อนรับหลักการ มันชักน่าสงสัย ที่ล่าสุดออกมาระบุว่า หากต้องมีการทำประชามติอาจต้องชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหลายประเภทที่จะมีขึ้นในปีหน้า 
        
หรือแม้แต่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดของรัฐธรรมนูญเขียนว่าให้แต่งตั้งขึ้นมา ชักเริ่มมีการอ้างกันว่า เสียวหลังหากให้มี ส.ส.ร.แล้วจะถูกสอย เหมือนกับพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2555-2556 
              
มิหนำซ้ำ ตลอดการประชุม เทียบเชิญฝ่ายค้านหลายครั้งแต่ไม่มีใครให้ความร่วมมือมาชี้แจง ตรงนี้มันอาจเป็นช่องให้รัฐบาลล้มกระดาน “คว่ำทุกญัตติ” เพื่อไปตั้งต้นกันใหม่

แล้วกลับไปแก้ไขเป็น “รายมาตรา” เพราะความต้องการจริงๆ ของพรรคเพื่อไทย คือ เรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับมาใช้ “บัตรสองใบ” เหมือนเดิม เนื่องจากกติกาเก่าทำให้เด็กรุ่นหลังอย่างพรรคก้าวไกล เผยอมาวัดรอยเท้า

ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ ก็เหมือนไปไม่สุด แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเอาแต่เรื่องตัวเอง เหมือนกับสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องการแบ่งเขต แต่สุดท้ายพ่ายแพ้อยู่ดี

แล้วยิ่งพรรคเพื่อไทยทำตัวมีปัญหามากเท่าไร ยิ่งเข้าทางรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น เพราะมันจะมีเวลาลากยาวขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงม็อบที่ยังกดดันได้ไม่มากพอ

หากย้อนดูยุทธวิธีรับมือม็อบของรัฐบาล จะเห็นว่า ไม่มีแบบแผนตายตัว แต่มีการแก้เกม ปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ตลอดเวลา แม้แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งที่ตัดสินใจใช้วิธีตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพื่อซื้อเวลาออกไป ขนาดฝ่ายค้านยังตั้งตัวไม่ทัน

จะยิ่งตลกร้ายกว่านี้อีก หากสถานการณ์ในประเทศสงบ ม็อบป่วนไม่ได้ เผลอๆ จากจะได้แก้มาตรา 256 และให้มี ส.ส.ร. สุดท้ายอาจ “ไม่ได้อะไรเลย”

การแก้ไขมาตรา 256 ถือเป็น “ของเล่น” ที่รัฐบาลสามารถนำมาซื้อเวลาได้หลายทอดหลายตอน เพราะการแก้ไขมาตรานี้จะต้องทำประชามติ ที่ตอนนี้ยังเถียงกันไม่ตกผนึกว่า จะต้องทำกี่ครั้ง

ไหนจะต้องรอกฎหมายประชามติที่ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไหนจะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาของสภาฯ กว่าจะมีผลบังคับใช้กินเวลาไปหลายเดือน

เอาว่า เฉพาะมาตรา 256 มีช่องให้เตะถ่วงเพียบ ไปๆ มาๆ กว่าจะแก้กันเสร็จก็ปลายรัฐบาล ทำเสร็จยุบสภา เลือกตั้งใหม่จากนั้นไปว่ากันต่อในรัฐบาลหน้า ที่ไม่รู้ว่า จะมีแรงกดดันเท่านี้หรือไม่

หรือสถานการณ์เปลี่ยน ม็อบกลับมากดดันรัฐบาล ก็ลุยทำประชามติ แล้วไปหาวิธีทำแท้งเพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านตอนซาวน์เสียงประชาชน มันมีลูกเล่นให้พลิกเยอะ

สถานการณ์เปลี่ยน แผนก็เปลี่ยน

 ฤดูกาลเลือกตั้งมาแล้ว
ประเด็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้ได้รับความสนใจเท่าที่ควรนับจากนี้ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นแบบติดกันถี่ๆ โดยเริ่มจากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ในเดือนธันวาคมนี้

เสร็จจากนั้นอีก 60 วัน จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกประเภทคือ เทศบาล เมืองพัทยา และในทุกๆ 60 วัน จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นอีกแบบหายากกันไปข้าง

ซึ่งตามไทม์ไลน์ ที่ถูกวางไว้คือ อบจ. เทศบาล เมืองพัทยา อบต. และกรุงเทพมหานคร

สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ประเทศกำลังกลับสู่บรรยากาศประชาธิปไตย เพราะได้ออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงกันแบบต่อเนื่องทั้งปี

ขณะเดียวกัน ยังมีผลข้างเคียงที่จะตามมาคือ จะเกิดข้อจำกัด ทำให้การชุมนุมไม่สามารถทำได้ถนัดนัก เพราะมีกฎหมายห้ามเอาไว้ เพื่อป้องกันการใช้เวทีดังกล่าวหาเสียง

อารมณ์ของคนที่ออกมาไล่เผด็จการจะค่อยๆ หาไป เพราะการเลือกตั้งในสายประชาชนคือ ส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

ตรงนี้จะทำให้ม็อบเกิดข้อจำกัดเรื่องเงื่อนไขเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะกลายเป็น “ตัวประกัน” ที่อาจถูกนำมาใช้ หากรัฐบาลต้องการจะซื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพราะถ้านับประเภทการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ต่อคิวรอหย่อนบัตร มันจะกินเวลาไปถึงปลายปีหน้า ที่เบื้องต้นประเภทสุดท้ายคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การเลือกตั้งท้องถิ่นจะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อย่างการเลือกตั้ง อบจ.เที่ยวนี้ต้องใช้งบถึง 3,200 ล้านบาท แม้ประเภทอื่นๆ ที่เหลือจะใช้ไม่มากเท่า แต่สถานการณ์ในประเทศขณะนี้ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยที่จะให้รัฐควักเงินได้แบบไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง

ซึ่งมันมีวี่แวว จะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างได้เหมือนกัน เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นอกจากเรื่องการทับซ้อนกันของวันทำประชามติกรณีมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการให้มี ส.ส.ร. ที่อาจไปชนกับการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของงบประมาณที่อาจไม่เพียงพอ

การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อครั้งจะต้องใช้ถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังเถียงกันไม่ตกผลึกว่า ต้องทำกี่ครั้ง บ้างว่า 1 ครั้ง บ้างว่า 2 ครั้ง และบ้างว่า 3 ครั้ง

ซึ่งไม่ว่าจะกี่ครั้ง ล้วนเป็นเงินงบประมาณมหาศาล ยังไม่นับรวมกรณีหากจะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อีก เมื่อนำไปนับรวมกับงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่นๆ ที่เหลือ อาจทะลุหลายหมื่นล้านบาท
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างย่ำแย่ รัฐกำลังถูกจับจ้องเรื่องการนำงบประมาณไปใช้อย่างสิ้นเปลือง หากมีการยกตัวเลขนี้มาพูดถึงอาจมีประชาชนบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะต้องสูญเสียงบประมาณมากมายมหาศาลขนาดนี้
การเลือกตั้งท้องถิ่น กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลานั้น และประชาชนย่อมต้องเห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยมาก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่องปากท้อง

หากคิดว่า นักการเมืองฉลาด ให้ดูหมากในกระดานนี้ให้ดีว่า จริงแล้วใครที่กำลังหลงเกมของใคร

นักการเมืองต่างหากที่อาจกลายเป็นคนถูกหลอก เพราะเกมอยู่ในมือ “ลุงๆ 3 ป.” หมดแล้ว

การณ์เป็นเช่นนี้ฟันธงโช๊ะ “รัฐบาลลุงตู่ 2” อยู่ครบเทอมเป็นอย่างน้อย ส่วนจะมี “ลุงตู่ ภาค 3” หรือเปล่า อันนี้ต้องติดตามตอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น