ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปังหรือแป้ก คงต้องให้คะแนนกันเอง
เวที “ม็อบเบิ้มๆ” ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่โพนทะนาเอาไว้ว่า จะจัดแบบเบิ้มๆ ไซส์ใหญ่ แต่สุดท้ายกลายเป็นม็อบที่ถูกค่อนแคะจนถึงวันนี้
แน่นอนว่า มีมวลชนทะลักเข้ามาจำนวนมาก ชนิดถ่ายภาพแล้วแน่นครึ่งหนึ่งของท้องสนามหลวง จนหลายคนยกให้เป็น “ปรากฏการณ์” ทว่า หากสแกนภาพรวมของผู้ที่มาชุมนุม จะพบว่า กว่าค่อนของท้องสนามหลวงล้วนเป็นกลุ่ม “คนเสื้อแดง” หน้าเดิมๆ
ลดความศักดิ์สิทธิ์ของ “ม็อบนักศึกษา” ที่ขาย “พลังบริสุทธิ์” ไปมากโข
แล้วยิ่งเนื้อหา คำปราศรัย ที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอว่า กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะเล่นใหญ่กว่า “10 ข้อเรียกร้อง” เมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สุดท้ายแล้วสร้างความผิดหวังให้กับผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก เมื่อเนื้อหาไร้ประเด็นแปลกใหม่ นอกจาก “ความกล้า” ที่จะเพิ่มดีกรีการพูดถึง “สถาบันเบื้องสูง” แบบ “ปีนบันได ไต่เพดาน” หมายจะ “ตะกายฟ้า คว้าดาว” เท่านั้น
ในขณะที่ “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” อีเวนท์ที่อวยกันว่า สร้างสรรค์สุดๆอย่างการปัก “หมุดคณะราษฎร 2563” ไม่ต่างจากจุดพลุตะไล ที่ได้แค่วูวาบหวือหวา
ครึกครื้นกันได้ไม่นาน “หมุดสามนิ้ว” ของ “ม็อบเพนกวิน” ได้รับเกียรติแปะอยู่กลางท้องสนามหลวงแค่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็ถูกถอนออก พร้อมด้วยของแถมเป็นคดีความทำให้โบราณสถานเสียหายไปอีกกระทง
สำคัญกว่านั้นบทสรุปของม็อบ 19 ก.ย. ยังขยายรอยปริของ “ม็อบเพนกวิน” กับแนวร่วมอย่าง “ม็อบปลดแอก” ในเรื่องจุดยืนข้อเรียกร้องให้เห็นเด่นชัดขึ้นอีก
และขณะที่ “หมุดสามนิ้ว” ต้องปลิดปลิวไปอย่างปุบปับ โดยไม่สามารถสะเทือนอำนาจ ลดอายุ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ กลับกันกลายเป็นต่อลมหายใจ สร้างความชอบธรรมให้กับ “รัฐบาลลุงตู่” ที่ต้องอยู่
เท่ากับว่าม็อบ 19 ก.ย. ตอก “หมุดประยุทธ์” ให้อยู่ยั้งยืนยงในอำนาจไปอีกหลายปี เรียกว่าเข้าทาง “รัฐบาลลุงตู่” พร้อมๆ กับกลเกมในการแก้ “รัฐธรรมนูญ” ที่สามารถยืดเวลา และว่ากันว่า กว่าจะได้ใช้ก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 2 ปี
ม็อบก้าวร้าว ได้แค่ห้าว
ภาพประจานจากพฤติกรรมการตัดแม่กุญแจพังประตูเข้าสู่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือการพังรั้วเข้าสู่ “มณฑลพิธีท้องสนามหลวง” ห่างไกลกับแนวทาง “สันติ อหิงสา” อย่างที่ม็อบควรจะทำ
หนักหนากว่านั้นคือ ความพยายามแตะต้อง “เรื่องที่มิบังควร” ที่อาจสร้างความครื้นเครงภายในแกนนำม็อบกันเอง หรือมวลชนสายฮาร์ดคอร์บางส่วน แต่โดยภาพรวมแล้วทั้งพฤติกรรม และเนื้อหาปราศรัย ถือว่าไม่ได้เป็นผลบวกกับม็อบ เพราะพบว่าผู้ชุมนุมหลายคน “ทนฟังไม่ได้” และเลือกจะเดินลุกออกมาจากเวทีใหญ่
ด้วยผู้ชุมนุมหลายคนเดินทางมาแสดงพลัง เพื่อมุ่งหวังว่า ม็อบจะขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการปฏิรูปการเมืองให้เข้ารูปเข้ารอย ตามแนวทาง “ม็อบปลดแอก” ผู้ปลุกกระแสการชุมนุมมาตั้งแต่ต้น และเป็นผู้โยน 3 ข้อเรียกร้อง “ที่รับฟังได้” ไว้ คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภา
หากแต่เนื้อหาของ “ม็อบเบิ้มๆ” กลับไม่พูดถึง 3 ข้อเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งยังแทบไม่ปรากฏเนื้อหาที่เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ส่วน “บิ๊กเซอร์ไพร์ส” ที่มีการแพลมเอาไว้ เพื่อหวังให้คนติดตาม แต่เซอร์ไพร์ส กว่า เมื่อสิ่งที่แกนนำม็อบทำได้ “ต่ำกว่า” ที่ทุกคนประเมินและคาดหวังไว้
ทั้งการปักหมุดคณะราษฎร 2563 กลางท้องสนามหลวง กลายเป็น “พิธีกรรมตลก” ในสายคนส่วนมาก ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์หรือน่ายำเกรง หลายคนผิดหวังที่รู้ว่า นี่หรือคือ “บิ๊กเซอร์ไพร์ส”
หรือการไม่สามารถกรีฑาทัพไปยังทำเนียบรัฐบาลตามที่ประกาศไว้ หรือที่ว่ากันว่า “เป้าจริง” อยู่ที่พระบรมรูปทรงม้า ได้ จนต้องเปลี่ยนแผนบ่ายหน้าไปเป็นสำนักงานองคมนตรี ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งก็ถูกจับไต๋ได้ว่า มิใช่ตามที่คุยเขื่องกันว่า “สับขาหลอก” หากแต่เพราะผู้ชุมนุมในช่วงเช้าเหลือแบบ “หรอมแหรม” ไม่เพียงพอจะเคลื่อนไปกดดันที่ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินได้
ทั้งที่พยายาม “เล่นใหญ่” ร้องแรกแหกกระเฌอตั้งแต่ช่วงตี 4 ว่าจะถูกสลายการชุมนุม แต่ก็ยังสามารถเรียกแนวร่วมให้กลับมาที่ท้องสนามหลวงได้ ด้วยผู้คนต่างจับได้ไล่ทันว่าเป็น “มุกเดิมๆ” เหมือนครั้งปล่อยข่าวรัฐประหารเพื่อโหมโรงการชุมนุม ซึ่งก็ไร้ผลเช่นกัน
ไคลแม็กซ์น่าจะเป็นภาพที่ “สาวรุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคนสำคัญ ไปยืนประจันหน้ากับแถวตำรวจ เพื่อเจรจาขอเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องถึงประธานองคมนตรี โดยมี “บิ๊กอู๊ด” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ทำหน้าที่เจรจา และเป็นผู้รับหนังสือในที่สุด
แม้จะนำมาโหมประโคมกันภายในม็อบว่า “สะใจ” แต่กลายเป็นภาพที่ม็อบดู “บ้อท่า” มากที่สุด มีเพียงภาพ “เด็กงอแง” ที่ต่อล้อต่อเถียงกับผู้ใหญ่
เพราะก่อนหน้านี้ แกนนำม็อบต่างประกาศก้องเวทีว่า ต้องการให้ผู้รับหนังสือเป็น “ระดับบิ๊กๆ” แต่ครั้นเมื่อเจอหน้า ผบช.น. ก็กลับยอมง่าย ไม่รู้จะไปต่อทางไหนดี
ขณะเดียวกัน มาดของ “บิ๊กอู๊ด” ที่นุ่มนวล วางตัวเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นการทำร้าย “รุ้ง” และแกนนำม็อบให้เป็นเหมือน “เด็กก้าวร้าว” ที่เถียงคำไม่ตกฟาก
การปักหมุดคณะราษฎร 2563 และการยื่นข้อเรียกร้องถึงประธานองคมนตรี ที่แกนนำม็อบประกาศว่าเป็น “ชัยชนะ” ในวันนั้น คือ โจ๊กสำหรับคนภายนอกที่มองเข้าไป
เพราะสุดท้ายแล้วมันเป็นแค่ชัยชนะของแกนนำม็อบเท่านั้นที่ “ห้าว” และ “กล้า” ทำในสิ่งที่หลายคนไม่กล้าพูด หากแต่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
จนอาจสรุปได้ว่า “ม็อบธรรมศาสตร์ฯ” ที่นำโดย ที่นำ “ตัวแรง” อย่าง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชีวารักษ์ - “สาวรุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล - “ทนายอานนท์” อานนท์ นำภา - “ไมค์ ระยอง” ภาณุพงศ์ จาดนอก สูญเสียเครดิตการนำแทบหมดตัว ที่ได้มาคงเป็นคดีความที่ติดตัวเพิ่มเติม
ไม่แน่ใจว่าระดับแกนนำ “เฮียกวิ้น” ที่ท่าทีดูจะยิ่ง “ผยองพองขน” ในความเป็นแกนนำม็อบขึ้นมากขึ้นทุกขณะ จะรู้จัก “ถอดบทเรียน” เพื่อปรับปรุงในการทำม็อบครั้งหน้า (หากยังมีโอกาส)
หรืออาจคิดเพียงว่า “กูแน่ กูเจ๋ง” เหมือนอย่างที่ประกาศชัยชนะบทเวที ในขณะที่ผู้ชุมนุมต่างเกาหัวแกรกๆ ว่า ชนะตรงไหน และตอนไหน
ในทางตรงข้ามผู้ชุมนุมคงได้ฉุกคิดได้แล้วว่าการที่ให้ “เด็กก้าวร้าว” มาเป็นผู้นำ อาจไม่ใช่คำตอบของการกดดันรัฐบาลอย่างแท้จริง เนื้อหาที่ “ม็อบเบิ้มๆ” พยายามตะแบงก็เหมือนกับเอาความสะใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง
ที่สุดก็กลายเป็น “ไฟไหม้ฟาง” จะอัพเลเวล “ห้าวเที่ยวล่าสุด” ขนาดไหน ก็ไปไม่ถึงดวงดาว
เข้าโหมดรื้อ-ร่างรัฐธรรมนูญ
จากการเมืองข้างถนน ตัดกลับมาที่การเมืองในระบบ สำหรับญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เพิ่งผ่านที่ประชุมรัฐสภาไป โดยงัดวิชา “เตะถ่วง” ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องยืดเวลาไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน รอหลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภาอีกครั้งวันที่ 1 พ.ย.63 แล้วถึงมาว่ากันต่อ
แต่การประชุมตลอด 2 วันเต็ม รวมทั้งคอมเมนต์ที่ออกมาจากฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ก็พอทำให้เห็นเค้าลางและทิศทางว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน บรรดา ส.ว.ต่างลุกขึ้นมา “ปะ ฉะ ดะ” กับ ส.ส.ทั้งจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ปกป้องอาณาเขต “สภาสูง” อย่างออกรส ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไม่ยอมเป็นหมูให้เคี้ยวง่ายๆ
ปฏิกิริยาของ ส.ว. ทำให้หลายคนมองทะลุไปถึงท่าทีของรัฐบาลว่า จะดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร และการเคลื่อนไหวของม็อบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ส่งผลต่อรัฐบาลอย่างไร
การที่ ส.ว.ซึ่งถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “รัฐบาลลุงตู่” ส่งสัญญาณแข็งกร้าว ในขณะที่กระแสเรียกร้องของม็อบเชี่ยวกราก ก็สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการยอมม็อบ หรือตกอยู่ในเกมฝ่ายค้าน
ทว่า เป็นเพียงหมากประนีประนอม ลดกระแสการชุมนุม แต่ไม่ได้ถอยให้อย่างที่ “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายม็อบ” กระหยิ่มยิ้มย่องกันเองแต่ประการใด
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” ที่ฟันธงได้ตั้งแต่ รัฐบาลจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขเด็ดขาด ด้วยถือเป็น “เซฟตี้คัท” ของฝ่ายมีอำนาจ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆขึ้น
ในขณะที่การโอนอ่อนผ่อนตามทเฉพาะ “มาตรา 256” ที่บัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยอมให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นนั้น ก็ด้วยยอมรับว่า รับธรรมนูญ 2560 นั้นมีปัญหาในการบังคับใช้จริงๆ
เพราะการฟื้น ส.ส.ร.ครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะให้อิสระแก่ ส.ส.ร.ไปปู้ยี้ปู้ยำกับรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ หากแต่จะต้องไปพูดคุยกันในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งจะถกกันถึง “กรอบ” เนื้อหาสาระ รวมถึงที่มาของ ส.ส.ร.ว่า จะต้องเป็นอย่างไร
ประเด็นที่มาของ ส.ส.ร.นั้น พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยพรรคร่วมรัฐบาล ต้องการให้มี 200 คน มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 150 คน ส่วนอีก 50 คน มาจากสมาชิกรัฐสภาคัดเลือก 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยคัดเลือกนักวิชาการสายต่างๆ 20 คน และนักเรียน นิสิตนักศึกษาเลือกตัวแทนมาอีก 10 คน
ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องการให้ ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง ส.ว.ออกมาคัดค้านแล้วว่า นอกจากจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างนี้ ยังไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่ต่างอะไรกับการเลือก ส.ส.มายกร่างรัฐธรรมนูญ
ประเด็นนี้จะต้องคับเคี่ยวกันในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญอย่างเข้มข้นแน่ เพราะในซีกรัฐบาลเองคงไม่ยอมแนวทางของฝ่ายค้าน เนื่องจากไม่ต่างอะไรกับการเปิดประตูให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
อีกประเด็นคือ เรื่องระยะเวลาการทำประชามติ ที่รัฐบาลต้องการจะยื้อให้นานที่สุด ตามคิวที่ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาโชว์บท “นักกฎหมายประเทศไทย” คำนวณเวลา ว่าไม่ได้จะเสร็จกันวันนี้วันพรุ่ง
“วิษณุ” พยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้แต่เพียงยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะเรียบร้อย หากแต่ยังมีกฎหมายประชามติ และขั้นตอนต่างๆ กินเวลาเป็นปีๆ
โดย “วิษณุ” คำนวณว่า หากเป็นร่างของฝ่ายค้านต้องการให้มี ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 4 เดือน หรือ 120 วัน ขณะที่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน แต่ทั้งสองร่างจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติ ที่ขณะนี้กฎหมายประชามติยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งคาดว่า จะเข้าได้ในการเปิดประชุมสภาครั้งต่อไป
“มองว่าร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินการพิจารณาแล้วเสร็จก่อน และทิ้งช่วงเอาไว้ เพื่อรอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่าการพิจารณาเรื่องนี้จะช้าหรือเร็ว แต่คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 1-2 เดือน ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ต่อไป ระหว่างนี้ต้องมีการเว้นระยะเวลาช่วงหนึ่ง จากนั้นจึงนำร่างรัฐธรรมนูญมาทำประชามติต่อไป ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่า เมื่อจะต้องมีการทำประชามติ จะต้องอยู่ในช่วงเวลา 90-120 วัน”
แน่นอนว่า หากเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลกว่ารัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขแล้ว จึงจะสามารถยุบสภาได้ เท่ากับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไปเกือบครบเทอมเมื่อนับจากตรงนี้
และนั่นหมายความว่า จะยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่ เพราะอย่างไรเสียถ้าอยากจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แก้ไขแล้ว จำเป็นต้องรอ
ถือว่าฝ่ายรัฐบาลพลิกมาถือ “ไพ่เหนือกว่า” ทันที เมื่อสามารถหันหางเสือการเมืองมาว่ากัน “ในระบบ” ได้ โดยเฉพาะการที่ต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงให้การสนับสนุนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดทาง หรือกระทั่งกระบวนการประชามติ ที่ฐานเสียงในฟากฝั่งรัฐบาลก็สามารถชี้ “เป็น-ตาย” ได้
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และให้มี ส.ส.ร. ก็ถือเป็นการลดทอนแรงเสียดทานจากสังคมได้พอสมควร
อย่าลืมว่าข้อเรียกร้องสำคัญของ “ม็อบปลดแอก” คือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นการรับหลักการของรัฐสภา ที่เท่ากับว่าปรับโหมดการ “รื้อ” ก่อน “ร่างใหม่” นั้น ก็ย่อมเท่ากับปลดเปลื้อง “ข้ออ้าง” ของผู้ชุมนุมในซีก “ปลดแอก” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แทนที่จะได้ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.”กลายเป็น “ม็อบปลดแอก” โดนเตะปลั๊กดับไปดื้อๆ
เปิดคูหาสะกดอารมณ์ “ม็อบ”
การให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งด้วย เป็นการ “เบรกอารมณ์” ให้เสมือนมีโอกาสได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเพื่อออกแบบกติกาของประเทศ
ในขณะเดียวกัน “รัฐบาลบิ๊กตู่” เอง ก็พยายามจะออกแอ็กชั่นเรื่องความเป็นประชาธิปไตยตีคู่กันไปกับการเปิดให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง ด้วยการตีปี๊บจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังวางปฏิทินเอาไว้จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใดประเภทหนึ่งในช่วงหยุดยาววันที่ 13 ธ.ค.
นอกจากนี้ ยังวางคิวจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละประเภท ให้มีระยะห่างกัน 60 วัน ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร นั่นเท่ากับว่า ในทุกๆ 60 วัน จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตลอด เพื่อให้ประชาชนรู้สึกได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง
การจัดการเลือกตั้งแบบถี่ยิบนี้ เป็นการลอกคราบภาพเผด็จการ ไปสู่การรัฐบาลที่สนับสนุนประชาธิปไตย เพราะประชาชนจะรู้สึกได้จากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี
การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันนำไปสู่การเลือกตั้งในภายภาคหน้าหลังแก้ไขเสร็จสิ้น ประกอบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นการลดข้อจำกัดและแรงกดดันจาก “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” พันธมิตรของ “กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม”
เพราะแม้ 2 ม็อบนี้ จะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน แต่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา ของ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่นำโดย “ฟอร์ด” นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี จะถูกปลดล็อกออกไป
เป็นการ “ปลดแอก” 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มของ “ฟอร์ด” ทำให้แนวร่วมของม็อบที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่หายไป เนื่องจากได้รับการตอบสนองแล้ว การขับเคลื่อนต่อจะไร้ความชอบธรรม เพราะถือว่ารัฐบาลได้ทำตามแล้ว
ในขณะเดียวกัน จะกลายเป็นการโดดเดี่ยว “กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่นำโดย “อานนท์ นำภา” - “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ – “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” โดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน
ทำให้ “กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่มุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปสถาบันเบื้องสูง ขาด “แนวร่วม” ในการเคลื่อนไหวต่อ
จะเป็นการต่อสู้ที่ “เดียวดาย” ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ม็อบไม่ได้ดุดันและมีแรงจะกดดันรัฐบาลได้มากเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งมองดูคล้ายๆ กับยุทธการ “แยกปลาออกจากน้ำ” ของรัฐบาลเช่นกัน
ขณะที่แนวทางของ 2 กลุ่มพันธมิตรระหว่าง “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” กับ “กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ก็ดูจะมีความระหองระแหงกันอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อันปรากฏในหลายกรรมหลายวาระ
โดยเฉพาะเหตุการณ์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมี “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” เป็นเจ้าภาพ แต่ปรากฏว่า แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมอย่าง “เพนกวิน” ไม่ได้รับเชิญให้ขึ้นไปบนเวทีปราศรัย ก่อนจะตัดสินเดินทางกลับบ้าน โดยอ้างว่า หอบกำเริบ
ทั้งที่หลายคนดูออกว่า เป็นอาการงอนตุ๊บป่อง
อย่างที่รู้กันว่า กลุ่มเยาวชนปลดแอกเอง ไม่ได้ต่อสู้แบบต้องการจะปีนบันไดไปฟาดฟัน หากแต่พยายามเน้นไปที่การขับไล่รัฐบาลเป็นหลัก โดยไม่แตะต้องสถาบันเบื้องสูง ต่างจาก “อานนท์ - เพนกวิน-ไมค์-รุ้ง” ที่เดินอย่างสุดโต่ง
นอกจากนี้ ล่าสุดยังเกิดประเด็นที่ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประกาศลาออกจากประธานสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ก่อนการประชุม สนท. หลังมีข่าวลือว่า “อั๋ว” รู้ล่วงหน้าว่า สนท.จะซักฟอกท่าทีตัวเอง จึงรีบชิ่งออกไปก่อน
สำหรับ “อั๋ว” เอง ก็ถูกจับตามองมาตลอดว่า มีแนวทางและทัศนคติบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับ “อานนท์ - เพนกวิน-ไมค์-รุ้ง” โดยเฉพาะการที่ 4 รายหลังยกย่อง “จอมพล ป.พิบูลสงคราม”
ตรงนี้มันย่อมเป็นแผลในใจ “อั๋ว” เพราะ “เตียง ศิริขันธ์” นักการเมืองสายเสรีไทย หรือฉายา “ขุนพลภูพาน” คือ 1 ในนักการเมือง ที่ถูกสังหารโหดในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
เค้าลางนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่การที่ “อั๋ว” เป็นสมาชิก สนท. ที่มี “เพนกวิน” อยู่ แต่กลับเลือกที่จะไม่ร่วมอยู่ในแกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่ไปเป็นแกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก
ต้องจับตาดูว่าผู้ที่ถูกมองว่าอยู่ “เบื้องหลัง” อย่าง “แก๊งก้าว” ของคณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล ที่ออกหน้าสนับสนุนในทุกๆความเคลื่อนไหวของม็อบ จะเปลี่ยนแผนกลับไปสู่เกมการเมืองในสภาอย่างเต็มตัว และเตรียมการสำกรับการเลือกตั้งในทุกระดับที่กำลังจะเกิดขึ้น
หรือจะยังทู่ซี้หาทางบรรเลงการเมืองนอกสภาต่อไปได้อีก
แล้วอย่างที่บอก เมื่อเกมกลับมาอยู่ “ในระบบ” ก็เท่ากับ “โมเมนตัม” ทางการเมืองพลิกมาอยู่กับ “ฝ่ายรัฐบาล” ทั้งการคุมเกมใน “สภาล่าง” กับเสียงข้างมากที่ทิ้งห่างกันมาก หรือเกมแก้รับธรรมนูญ ที่มีเสียง ส.ว.เป็น “ผนังทองแดง” หรือกระทั่งกระบวนการประชามติ ที่เคยทำให้เห็นมาแล้วสมัยรัฐธรรมนูญ 2560
โดยเฉพาะการลากเกมยาว แก้ไขรัฐธรรมนูญที่กว่าจะสิ้นสุด ก็ใกล้ครบเทอม “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ที่เท่ากับว่าการแก้ไขรับธรรมนูญ เพื่อเปิดทางร่างฉบับใหม่งวดนี้ ไม่ได้สะเทือนความเป็นไปของรัฐบาลแต่อย่างใด
ถึงวันนั้นการเลือกตั้งใหม่ ไม่ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ยังมี ส.ว. 250 เสียงเลือกนายกฯ หรือในกติกาใหม่รับธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร.ก็ตามที ฝ่ายกุมอำนาจอย่าง “รัฐบาลลุงตู่” ก็ยังได้เปรียบอยู่วันยันค่ำ
ทิศทางลมเป็นใจเช่นนี้ ก็ย่อมตอก “หมุดลุงตู่” ให้ฝังรากลึกลงไปแทน ช่วงนี้ “ลุงตู่” คงฮัมเพลงดังในลำคอ
“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกหลายปีนะจ๊ะ….”
ที่สำคัญคือการที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายนให้ “เลื่อน” การโหวตรัฐธรรมนูญออกไปอีก 1 เดือนพร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วมกับ ส.ว.ก่อนรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญจำนวน 45 คนด้วยคะแนนท่วมท้น 432 ต่อ 255 เสียง งดออกเสียง 28 เสียงและไม่ลงคะแนน 1 เสียง ก็คงพอจะเห็น “เกมยื้อ” ของ “Deep State” ว่า มีเป้าประสงค์อย่างไร ส่วนผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปตามที่วาดฝัน หรือจะเป็นการเติมฟืนเข้ากองไฟ ต้องติดตามอย่างไม่กระพริบตา.