xs
xsm
sm
md
lg

แม้ม็อบจะไม่เบิ้มๆ แต่ประยุทธ์อย่างคิดว่าจะลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ขบวนการเชิดชู19กันยาเพื่อกลบเกลื่อนม็อบแป้กต้องทำงานหนักหน่อยเที่ยวนี้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรความจริงมันชัดว่า ม็อบไม่ได้เบิ้มๆ อย่างที่แกนนำวาดฝันเอาไว้

กองเชียร์บางคนบอกว่า ม็อบครั้งนี้ได้ใจฝ่ายประชาธิปไตยทุกด้าน ได้ความโกรธของฝ่ายตรงข้ามเพิ่มขึ้น เซอร์ไพรส์อย่างเฉียบคม ขบขัน แสบสันต์ เข้าเป้า ทะลุเป้า สับขาหลอกจนทุกคนถูกหลอกหมด แม้กระทั่งคนไปร่วมม็อบ แต่คนทั้งม็อบก็สะใจ ซึ่งผมฟังแล้วเป็นคำปลอบขวัญตัวเองมากกว่า ทั้งๆ ที่ถ้าจะว่าไปแล้วไม่รู้ว่าจริงๆ นอกจากหลอกคนอื่นแล้วหลอกตัวเองด้วยหรือเปล่า

เท่าที่คุยกับนายตำรวจระดับผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ข้อมูลว่า ม็อบต่อรองว่าจะขอเอาหมุดไปปักที่ลานพระรูปแทนหมุดเดิม แต่ทางตำรวจยืนยันว่าทำไม่ได้เพราะเป็นเขตพระราชฐาน กระทั่งย่ำรุ่งสถานการณ์ของม็อบย่ำแย่เพราะเหลือคนที่ชุมนุมน้อยมากยากจะฝ่าด่านที่สะพานมัฆวานฯ ไปได้ จนสุดท้ายต้องพลิกมาปักหมุดที่สนามหลวงหน้าเวทีชุมนุมเพื่อหาทางลง

เห็นได้ชัดกันตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า ม็อบแตกออกเป็นสองฝ่าย แม้จะเกาะเกี่ยวกันเล็กๆ ด้วยนิ้วก้อย ม็อบที่นำโดยนิสิตจุฬาได้รับการยอมรับจากคนหนุ่มสาวมากกว่าม็อบที่นำโดยเพนกวินกับรุ้งจากธรรมศาสตร์ พิสูจน์ได้จากวันนั้นคนรุ่นใหม่ออกมาน้อยมากแต่ได้แรงหนุนจากคนเสื้อแดงที่ออกมากอบกู้หน้าเอาไว้ แต่ม็อบที่บอกว่าเป็นแสนนั่งกันแบบห่างๆ ลองเอาคลิปมาเปิดดูกางร่มบังฝนคำนวณจากพื้นที่แล้วสื่อต่างชาติเกือบทุกสำนักรายงานตรงกันว่าไม่เกิน 2 หมื่นคน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ตำรวจคาดการณ์ว่าประมาณ 1.8 หมื่น

อาจจะมีคนเอาใจม็อบ กองเชียร์ม็อบก็พยายามพูดว่า มากกว่าเมื่อครั้งที่ม็อบประชาชนปลดแอกจัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินครั้งล่าสุด ถ้าจำกันได้ตอนนั้นกองเชียร์ม็อบก็บอกว่ามากกว่าที่พันธมิตรฯ และ กปปส.เคยชุมนุม แม้ภาพที่ปรากฏมันจะฟ้องความจริงก็ตาม ครั้งนี้พวกที่ไม่บันยะบันยังขาดหิริโอตัปปะก็จะบอกว่าสองแสนขึ้น พวกที่มียางอายก็พูดกล้อมแกล้มว่า ประมาณ 5 หมื่น แต่ความจริงก็คือความจริงพื้นที่มันตายตัวคำนวณออกมาได้ไม่ยากอะไร

เมื่อม็อบมาน้อยไม่เบิ้มๆ บางคนก็พยายามพูดว่า จำนวนไม่สำคัญอะไร สำคัญอยู่ที่ว่า ม็อบเสนออะไรบนเวทีมากกว่า ซึ่งโดยตรรกะแล้วก็จริง แต่ถ้าม็อบไม่มากพอแม้จะพูดอะไรก็ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อเป้าหมายที่ต้องการพุ่งชนแต่อย่างใด

น่าเสียดายว่า ถ้าม็อบจุดติดมากกว่านี้ อาจได้เห็นแกนนำและหลายคนที่เคยออกมาไล่ระบอบทักษิณออกมาเกาะขบวนม็อบเด็กมากกว่านี้ เพราะหลายคนสะท้อนท่าทีชัดเจนอยู่ในใจแล้ว เพราะกลัวจะตกขบวน เห็นม็อบแล้วเลือดฉีดพล่าน ย้อนไปนึกถึงวัยที่ตัวเองเป็นคนหนุ่มสาวที่ต้องมีจิตสำนึกเป็นกบฏ

แม้จะได้คนเสื้อแดงมาหนุน แต่ถ้าเราย้อนไปมองม็อบนปช.ความเป็นเอกภาพในการกะเกณฑ์คนจากชนบทของนักการเมืองฝั่งระบอบทักษิณนั้นคึกคักยิ่งกว่านี้ แต่เท่าที่ติดตามครั้งนี้ก็มากันเองจากฝ่ายที่เป็นฮาร์ดคอร์ทางการเมือง และหลังจากนี้เมื่อม็อบพุ่งเป้ามาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยิ่งทำให้นักการเมืองกระโดดหนี

ส่วนม็อบของพันธมิตรฯ และกปปส.นั้นน้ำหนักจะอยู่ที่คนชั้นกลางในเมืองโดยมีคนต่างจังหวัดเป็นตัวเสริม ขณะที่ม็อบนี้คาดกันว่า แนวร่วมของพวกเขาคือคนรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายก็อย่างที่ว่าไว้ข้างบนคือคนรุ่นใหม่ไม่ออกมาหรือออกมาก็น้อยมากจนถูกภาพของคนเสื้อแดงกลบไปหมด
ผมเชื่อนะครับว่า คนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมในช่วงหลังนี้ก็คือ ลูกหลานของชนชั้นกลางที่ออกมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯและกปปส.นั่นแหละ วันนี้แม้หลายคนจะเปลี่ยนจุดยืนไปเพราะความรักลูกๆของตัวเอง แต่จริงแล้วใต้สำนึกย่อมจะรู้ว่าคุณค่าของพระมหากษัตริย์กับนักการเมืองต่างกันอย่างไร ในฐานะที่เคยออกมาขับไล่นักการเมืองเลวมาแล้ว

น่าสนใจว่าวันนี้เด็กหนุ่มสาวที่ถูกสุมไฟความแค้นที่ถ่ายทอดมาจากสมศักดิ์ เจียม มีอิทธิพลต่อพ่อแม่แค่ไหน เมื่อต้องเปรียบเทียบระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับนักการเมือง เราจะเปลี่ยนระบอบเพื่อให้นักการเมืองมาเป็นประมุขของประเทศเช่นนั้นหรือ และเรายังไม่มีบทเรียนที่มากพอระหว่างที่นักการเมืองทำในระหว่าง80กว่าปีของการเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยกับพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ทรงทำให้กับประเทศหรือ

บนเวทีม็อบวันนั้นไม่ได้พูดถึงความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ได้พูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำ ไม่ได้พูดถึงความผิดพลาดของรัฐบาลก็เพราะเขาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่รัฐบาล แต่พูดโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่จาบจ้วงรุนแรงก้าวร้าวและมองคนไม่เท่ากันเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วยซ้ำไปทั้งที่เป็นสิ่งที่ตัวเองเรียกร้องความเท่าเทียม

ดังนั้น ถ้าถามผมว่า ม็อบ 19กันยาได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไป คำตอบสำหรับสิ่งที่ม็อบได้ก็คือการทำความฝันของสมศักดิ์ เจียมให้เป็นความจริงคือ การนำเอาเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดต่อสาธารณะในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิติติงในด้านลบ ไม่ใช่การพูดเรื่องความล้มเหลวและความผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งผลที่จะตามสำหรับผู้ชุมนุมก็คือคดีความของแกนนำ

อาจมีคนโต้แย้งว่าการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสามารถทำได้ และในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์ได้ ดังความตอนหนึ่งว่า


“แต่แท้จริง ที่พูด ที่ออกข่าว ให้สัมภาษณ์บอกว่าอย่าไปวิจารณ์เดอะคิง ต้องบอกว่า อย่าไปวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าไม่ควร ในรัฐธรรมนูญก็มีอยู่ว่าละเมิดมิได้ นักกฎหมายก็พยักหน้าอีกแล้วว่าถูกต้อง ว่าไม่ควรจะวิจารณ์ วิจารณ์ไม่ได้ ละเมิดไม่ได้ แต่ว่าถ้าพูดว่าพระเจ้าอยู่หัวทำถูก พูดถูก ไม่ใช่ละเมิด เป็นการถ้าพูดภาษาอังกฤษก็ approve พระเจ้าอยู่หัว เห็นชอบด้วย”


“แต่ไม่เคยมีใครมาบอกเห็นชอบว่า พระเจ้าอยู่หัวพูดดี พูดถูก แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์ แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร...”

นั่นหมายความว่าสามารถวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ แต่สำคัญคือต้องแยกแยะให้ได้ระหว่างการวิจารณ์กับการละเมิด ซึ่งจะเห็นได้ว่าบนเวทีวันนั้นก้าวล้ำเส้นของการวิจารณ์ไปมาก แม้กระทั่งถ้อยคำเหล่านั้นนำมาใช้กับคนธรรมดาก็เข้าข่ายการหมิ่นประมาท เพียงแต่ถ้าจะโชคดีอยู่บ้างก็เพราะในหลวง รัชกาลที่ 10 ท่านตรงไม่ต้องการให้นำมาตรา 112 ออกมาใช้

ไม่รู้เหมือนกันว่า ภาพเหตุการณ์จากครั้งการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตที่มีการจุดประเด็น 10ข้อเรื่องสถาบันหรือการประกาศว่า จะนำเรื่องสถาบันมาพูดบนเวทีหรือไม่ที่ทำให้คนกลัวที่จะเข้าร่วม จนทำให้ม็อบนี้กลายเป็นม็อบแป้กและเรียกมวลชนไม่ได้ดังที่คาดหมาย หรือผู้ปกครองเกรงว่าม็อบจะนำมวลชนไปสู่ความสุ่มเสี่ยงก็เลยไม่อยากให้มาร่วม และแม้ว่าม็อบวันนั้นจะไม่นำความรุนแรงทางกายภาพ แต่ก็เป็นความรุนแรงทางวจีกรรมอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อม็อบแป้กไม่เบิ้มๆ ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับม็อบครั้งที่ผ่านมา คำตอบของผมคือ กลัวว่า รัฐบาลประยุทธ์เห็นม็อบแล้วจะยิ่งเหิมเกริมและไม่นำไปสู่ทางออกที่เป็นปัญหาของวิกฤตสังคมที่แท้จริง เพราะเริ่มเห็นขบวนการแห่แหนที่นำโดยน.พ.วรงค์ เดชวิกรม ที่ออกมาต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นวิกฤตของปัญหา รวมถึงบทบาทของนายไพบูลย์ นิติตะวัน

ความแตกแยกของมวลชนที่ฝั่งหนึ่งเป็นมวลชนสนับสนุนรัฐบาลนี่แหละที่อาจทำให้รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่า ยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอยู่ แม้จะมีประชาชนบางกลุ่มต่อต้านแต่ก็ยังมีมวลชนแบบหมอวรงค์ให้การสนับสนุนอยู่ดี ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องเสียก็ได้


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลย่อมจะรู้ดีอยู่แล้วว่า แม้รัฐธรรมนูญจะมาจากการประชามติ แต่ผลของการออกแบบรัฐธรรมนูญนั้นทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมือง รัฐบาลประยุทธ์ย่อมจะรู้ตัวดีอยู่แล้วว่า เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งอย่างไร ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อาจไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือส.ว.ทั้ง 250 คนนั้นถูกกำหนดให้เลือกบุคคลเพียงคนเดียวและบุคคลผู้นั้นคือคนที่แต่งตั้งส.ว.มากับมือ ดังนั้นจึงเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งที่ยังคงดำรงอยู่และมีทีท่าจะรุนแรงยิ่งกว่าเก่า

เพราะความขัดแย้งของคนไทยที่แบ่งฝักฝ่ายวันนี้ได้ลุกลามไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

ดังนั้น อยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะรู้ตัวหรือไม่ว่า เพราะเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของตัวเองนั้นกำลังนำสังคมไทยไปสู่จุดอับ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่เหนือการเมืองกำลังถูกดึงลงมาเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งที่บานปลายมาจากความแตกแยกของคนในชาติ แล้วมองเห็นทางออกหรือไม่ว่าจะพาชาติออกจากความขัดแย้งเพื่อนำพาประเทศออกจากวิกฤตอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์จะชั่งน้ำหนักอย่างไรระหว่างการอยู่ในอำนาจแบบดื้อแพ่งเพราะเชื่อในเครือข่ายอำนาจรัฐ เสียงเยินยอของคนที่สนับสนุน กับการคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดชนวนความขัดแย้งของบ้านเมืองโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์

ม็อบของเพนกวิน รุ้ง อานนท์แม้จะมีคนมาร่วมน้อย แต่ทำให้เห็นชัดว่า ทั้งสามมุ่งโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความเชื่อว่า เป็นพลังที่อยู่เบื้องหลังอำนาจรัฐที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ พระมหากษัตริย์ถูกนำขึ้นไปโจมตีบนเวทีการชุมนุมอย่างไม่เกรงกลัวด้วยถ้อยคำหยาบคายและรุนแรงกว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่แกนนำม็อบบางคนกล่าวว่า เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังตั้งมั่นอยู่ได้

พล.อ.ประยุทธ์จะตระหนักรู้หรือไม่ว่า ทางไหนที่จะนำสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งทางการเมืองและนำพาประเทศกลับมาสู่สันติสุขได้อย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น