xs
xsm
sm
md
lg

สัญลักษณ์! “สุวินัย” อ่านเกม “ม็อบแดง-ส้ม” อยากให้รู้ “ไม่เอาเจ้า” “ดร.เสรี” ถามฝ่ายค้านไม่รู้โจมตี...จริงเหรอ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มปักหลักใน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากแฟ้ม
“ดร.สุวินัย” มองทะลุเกม ม็อบชำระแค้น “แดง-ส้ม” ชู นศ. เป็นหัวหอกทัพหน้า จับตา 10 ข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” สานต่อที่ มธ.รังสิต หรือไม่ ถ้าสานต่อได้คือ ชัยชนะในตัว ด้าน “ดร.เสรี” ถามเจ็บ ฝ่ายค้านไม่รู้จริงๆ เขาโจมตี...?

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (19 ก.ย. 63) เฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ของ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า

“โดยส่วนตัว ผมมองว่า ม็อบวันนี้คือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เอาเจ้าเท่านั้น ได้แสดงออกและแสดงออกได้คือชัยชนะสำหรับพวกเขาแล้ว ในตัวของมันเอง

ปี 2549, 2551 คือ ม็อบพันธมิตรฯของคนเสื้อเหลือง

ปี 2552, 2553 คือ ม็อบ นปช.ของคนเสื้อแดง

ปี 2556-2557 คือ ม็อบ กปปส.ของคนเสื้อหลากสี

ปี 2563 คือ ม็อบของ “คนปลดแอก” ที่เป็นทัพผสมระหว่างมวลชนเสื้อแดงกับมวลชนของอดีตพรรคอนาคตใหม่ โดยที่มวลชนเสื้อแดงเป็นกองกำลังหลัก

ภาพ ดร.สุวินัย ภรณวลัย จากแฟ้ม
โปรดสังเกตว่า ม็อบแต่ละขั้วผลัดกันสำแดงพลังบนท้องถนนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยที่คราวนี้ถึงรอบของอีกขั้ว ซึ่งแสดงว่าสงครามเพื่อชิงอำนาจรัฐระหว่างสองขั้วมันยังไม่จบ ประชาชนทุกขั้วคือเบี้ยเหมือนเดิม

เท่าที่เห็นตอนนี้ คือ ม็อบ นปช.คนเสื้อแดง 80% ที่ฉาบหน้า และดันให้แกนนำเยาวชนปลดแอกออกตัวเป็นหัวหอกเท่านั้น

เมื่อสภาพความจริงของม็อบวันที่ 19 กันยายน ที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เป็นแบบนี้แล้ว ย่อมมีผลกระทบทางการเมืองตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

ตอนนี้แค่รอดูว่า ม็อบ “แดง-ส้ม” ครั้งนี้จะยังชูข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อจำกัดพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ด้วยแนวคิดปฏิกษัตริย์นิยม เป็นการสานต่อการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม ที่ธรรมศาสตร์รังสิตอีกหรือไม่

โดยส่วนตัวผมมองว่า ม็อบนี้คือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เอาเจ้าเท่านั้น แสดงออกได้คือชัยชนะสำหรับพวกเขาในตัวของมันเอง”

ภาพ ดร.เสรี วงษ์มณฑา จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึง 6 พรรคฝ่ายค้านที่ร่วมสังเกตการณ์และคอยให้ความช่วยเหลือม็อบในบางเรื่อง ว่า

“ถามจริงๆ เถอะ พรรคที่ออกมาสนับสนุนการชุมนุมนั้น คุณคิดจริงๆ เหรอคะว่า พวกเขาออกมาเพราะไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล พวกคุณคิดจริงๆ เหรอคะว่า นักศึกษาเหล่านี้ออกมาเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา เป็นการออกมาเองโดยไม่มีใครชี้นำ

พวกคุณไม่ได้ยินเพนกวินพูดเลยเหรอคะว่า เขาจะโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ระดับเบิ้มๆ เขาจะไม่ลดเพดานการโจมตีพระมหากษัตริย์น้อยไปกว่าที่เคยพูด

พวกคุณไม่ได้ยินเลยเหรอว่า หนึ่งหญิงสองชายที่สนับสนุนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมเขาพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าอย่างไร

การที่พวกคุณสนับสนุนการชุมนุมครั้งนี้ โดยอ้างเสรีภาพการแสดงออก โดยไม่สนใจสาระของการชุมนุม ระวังนะว่าพวกคุณจะมีความผิดฐานสนับสนุนการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถึงเวลานั้นอย่าออกมาสร้างวาทกรรมนิติสงคราม กล่าวหาว่า รัฐบาลใช้กฎหมายจัดการกับคนที่เห็นต่างอีกละ เมื่อทำผิดกฎหมายก็อย่ามาสร้างวาทกรรมว่าถูกรัฐบาลคุกคามอีกล่ะ

จะทำอะไรต้องคิดถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาบ้าง ไม่ใช่มีความโกรธแค้น ต้องการล้มรัฐบาลจนคิดไม่รอบคอบ ทำสิ่งที่ ส.ส. ไม่ควรทำ

ประเทศไทยต้องประสบเคราะห์กรรมทุกวันนี้ ก็นักการเมือง (บางคน) อย่างพวกคุณนี่แหละ ที่ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนา ทำไมถึงแพ้ไม่เป็นคะ

คุณหาว่ารัฐบาลบริหารประเทศเฮงซวย ถามจริงๆ เถอะ ในบริบทที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คุณคิดว่าถ้าคุณเป็นรัฐบาลคุณจะทำได้ดีกว่าที่รัฐบาลนี้ทำได้จริงเหรอคะ

เห็นแก่ประเทศชาติบ้างเถอะนะ อย่าเห็นแก่ตัวเลยค่ะ”

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ตั้งเต็นท์คณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุม ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร บริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม สนามหลวง

โดย นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวช่วงหนึ่ง

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงเกี่ยวกับเนื้อหาก้าวล่วงสถาบันบนเวทีปราศรัย นายสมคิด กล่าวว่า ตนไม่ก้าวล่วง เพราะไม่ใช่หน้าที่ ไม่ขอเข้าร่วมผู้ชุมนุม เราทำหน้าที่เพียงเก็บข้อมูล ส่วนเวทีกับเนื้อหาชุมนุมเป็นสิทธิของผู้ปราศรัย

ถามต่อว่า พรุ่งนี้จะมีการเคลื่อนม็อบ คณะทำงานจะตามไปด้วยหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า เราจะยังอยู่ที่นี่ก่อน ไม่เคลื่อนไปตามม็อบ และขอประเมินสถานการณ์คืนนี้ก่อน

ด้าน นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงเหตุการณ์พบนายกฯหลังปิดประชุมสภาฯเมื่อคืนวันที่ 18 ก.ย. ว่า ไปแจ้งให้นายกฯทราบกรณีมีการตั้งด่านสกัดประชาชนทั่วประเทศ เพราะนายกฯบอกว่าจะดูแลผู้ชุมนุมอย่างลูกหลาน แต่ผู้ใต้บังคับบัญชากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น การค้นรถตู้ของผู้ที่จะเดินทางมาชุมนุม เพื่อตรวจบัตรประชาชน หากใครไม่พกก็ไม่ให้ผ่าน ซึ่งตนก็ขอบคุณที่นายกฯตอบกลับว่าจะไปตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นให้

อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรคฝ่ายค้านที่เข้าร่วมการชุมนุม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เคยออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเตือนเอาไว้แล้วว่า

“เตือนด้วยความหวังดี 6 พรรคฝ่านค้าน ประกาศหนุนม็อบ 19 ก.ย. ระวังจะเข้าข่ายความผิดตาม ม.92 (2) พ.ร.ป.พรรคการเมือง 60 โทษถึงขั้นยุบพรรคเลยนะครับ”

ส่วนสาระสำคัญ ตามมาตรา 92(2) ระบุว่า “เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ การปราศรัยบนเวที และสถานการณ์การชุมนุม จะดำเนินไปอย่างในวันนี้ (19 ก.ย.) และพรุ่งนี้ที่จะเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล (ตามกำหนดการ) โดยเฉพาะการปราศรัย จะมีการพูดถึงข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯหรือไม่ แค่ไหน ถ้าได้พูดและพูดได้อย่างไม่มีปัญหา นั่นล่ะคือ ชัยชนะในการชุมนุมครั้งนี้แล้ว ตามความเห็นของ ดร.สุวินัย ซึ่ง ดร.สุวินัย ก็ค่อนข้างเชื่อว่า ม็อบจะต้องเดินตามยุทธศาสตร์นี้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คงต้องจับตามองกันต่อไป...

อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ 6 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ถ้าฟังจาก ดร.เสรี เป็นไปได้ที่พรรคฝ่ายค้านหนุนม็อบ เพราะต้องการล้มรัฐบาลเป็นสำคัญ ยกเว้นบางพรรคที่แกนนำนอกพรรคต้องการปฏิรูปสถาบันฯอยู่แล้ว

ที่สำคัญ เหนืออื่นใด ดร.สุวินัย จุดประเด็นเอาไว้อย่างน่าคิด ว่า ม็อบครั้งนี้แท้จริงแล้ว คือ การชำระแค้นของการเมือง “สองขั้ว” การช่วงชิงอำนาจของ “สองขั้ว” ที่ยังไม่จบ ส่วนมันจะจบในรุ่นเราหรือไม่ โปรดติดตาม!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น