ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชิงไหวชิงพริบ-ขบเหลี่ยมเฉือนคมกันทุกจังหวะ
เกมการเมืองทั้งใน และนอกสภาฯ ที่ 2 ฝ่าย 2 ขั้วงัดวิทยายุทธ์มาฟาดฟันกันแบบไม่ออมมือ ทั้งเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่วางค่ายกลกันหลายตลบ พัวพันมาถึงสถานการณ์ชุมนุมนอกสภาฯ ที่ปลุกเร้ากันจนฮึกเหิม
กระทั่งเริ่มมีกลิ่นกรุ่น “รัฐประหาร” โชยออกมาเป็นระยะ
ที่สำคัญการท่วงทำนองการฟาดฟันก็ไม่จำกัดแค่ 2 ฝ่าย “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” เหมือนก่อน ยังมีบางจังหวะที่ฝ่ายรัฐบาลฟาดกันเอง ฝ่ายค้านหันมาบวกกัน ให้เห็นตลอด
ผ่านอีเว้นท์ทั้งใน-นอกสภาฯ ที่เดินคู่ขนาน ระหว่างการผลักดันการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ กับการนัดชุมนุมใหญ่ของ “ม็อบปลดแอก” ในนามแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วันที่ 19 ก.ย.นี้ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เป็นเหตุให้ท่าทีของ “ฝ่ายกุมอำนาจ” ที่ต้องการผลักดันกระบวนการ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” เข้าสู่ “ในระบบ” โดยเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่กันโควตาไว้ให้ภาคประชาชนและเยาวชน มาทำหน้าที่ร่างรับธรรมนูญฉบับใหม่
ก็เพื่อดั๊มพ์ราคา “ม็อบปลดแอก” ให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากที่สุด หลังเสียราคาไปพอสมควรตั้งแต่เวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อ 10 ส.ค.63 ที่โยน “10 ข้อเรียกร้อง” ออกมาครื้นเครงกันในหมู่ “แกนนำ” ตรงกันข้ามกับ “แนวร่วม” ที่เริ่มตีตัวออกห่าง
เช่นเดียวกับ “ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง” ก็ชักไม่สนุกด้วย
เพราะรู้ว่า หากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาฯ ได้แล้ว ก็จะตอบโจทย์ 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องหลัก อันประกอบด้วย 1.หยุดการคุกคามประชาชน, 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภา ที่เคยประกาศในการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63
อีกทั้งการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ผูกโยงกับข้อเรียกร้องให้ยุบสภา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อมีการเริ่มกระบวนการร่างรับธรรมนูญใหม่ ก็จำเป็นต้องมีรัฐบาลประคองกระบวนการให้ไปตลอดรอดฝั่ง
เมื่อเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา หรือลาออก ก็ไร้น้ำหนักทันที
จึงมีการจับตาว่า การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะมีความพยายาม “ดันเพดาน” เพื่อให้ “ทะลุเพดาน” เพื่อให้ถึง “แตกหัก” เลยหรือไม่
“ร่าง รธน.ใหม่” ยาวแน่นอน
อย่างที่ทราบ เอาเข้าจริงฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญซักเท่าไร เพราะเพิ่งผ่านช่วงขึ้นปีที่ 2 ของเทอม “รัฐบาลลุงตู่ 2” ต้องยอมรับว่า “กระแสม็อบ” เป็นตัวเร่งจังหวะที่ฝ่ายรัฐบาลต้องรับชิงจังหวะเข้ามาคุมเกม
แม้จะโดดเข้าสู่เกมการแก้ไขรับธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่ฝ่ายกุมอำนาจก็ยังวาง “ค่ายกล” เพื่อให้การได้มาซึ่งรัฐธรรมใหม่ ใกล้เคียงกับแผนเดิมที่วางไว้ คือ ช่วงปลายเทอมของ “รัฐบาลลุงตู่ 2” มากที่สุด
อันเป็นที่มาของคำจำกัดความ “ยาวนานแน่นอน” ของ “ซือแป๋กฎหมาย” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่สะท้อนถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้เป็นอย่างดี
“วิษณุ” กางไทม์ไลน์โดยละเอียดไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้รับการลงมติรับหลักการวาระที่ 1 ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ และจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาพิจารณา ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ก่อนที่เปิดสมัยประชุมสภาฯสมัยสามัญ อีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย.63 ก็มาว่ากันต่อวาระ 2-3 จากนั้นก็นำร่างแก้ไขออกไปทำประชามติ
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายประชามติ ก็เพิ่งได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีขั้นตอนในส่วนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติอีก
หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เสร็จแล้ว แต่กฎหมายประชามติยังไม่เสร็จ ก็ต้องรอไปก่อน แต่หากแล้วเสร็จในช่วงเดียวกัน ก็สามารถนับหนึ่งในการทำประชามติ เพื่อประกาศบังคับใช้ได้
สำหรับขั้นตอนประชามติต้องกินเวลาอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ตามที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุไว้ อีกทั้งยังต้องบวกเผื่อไว้อีก 1 เดือน ที่เป็นขั้นตอนรับรองการประกาศผล การคัดค้าน รอขึ้นศาล ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯที่อาจใช้เวลาถึง 90 วันหรือ 3 เดือนตามที่กฎหมายกำหนด
ไม่เท่านั้นหากมี “คนร้อง” ก็จะต้อง “แวะ” ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ อีก 1 เดือน ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯได้
เอาแค่ช่วงเวลาที่ว่าไปก็เกือบครบ 1 ปีเข้าให้แล้ว
จากนั้นถึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง-สรรหา ส.ส.ร. รวมกับกระบวนการร่างที่ทางฝ่ายค้านเสนอให้ใช้เวลา 4 เดือน แต่ฝ่ายรัฐบาลเสนอไว้ที่ 8 เดือน รวมแล้วในขั้นตอน ส.ส.ร.ก็ใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี
ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการประชามติตามที่ทางฝ่ายค้านเสนอ หรือของพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้นำร่างฉบับ ส.ส.ร.เข้าสู่สภาเพื่อให้สภาลงมติเห็นชอบเกินครึ่ง เสร็จแล้วก็ต้อง “แวะ” ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือน และนำขึ้นทูลเกล้าฯที่อาจใช้เวลาถึง 90 วันหรือ 3 เดือนตามที่กฎหมายกำหนดอีกครั้ง
เฉพาะช่วงสุดท้ายก็ยังกินเวลาอีกหลายเดือน ไม่รวมการทำ “กฎหมายลูก” หากมีการแก้ไขเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง อีก 3-4 ฉบับ รวมไปถึงในส่วนของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย
“ถ้าจะยุบอย่างที่เรียกร้องกันว่า รัฐธรรมนูญประกาศใช้ใหม่แล้ว ก็ได้ แต่ถ้ายุบแล้วก็ต้องไปเลือกตั้ง แล้วจะเลือกตั้งตามกติกาอะไร เพราะมันไม่มีสภาแล้ว เผลอๆ ตอนนั้น ส.ว.ก็อาจจะไม่มีด้วย ต้องไปคิดให้รอบคอบทั้งหมด ซึ่งก็ต้องให้ ส.ส.ร. 200 คนคิด ผมไม่ได้คิดว่ามันยุ่งยากหรอก เพียงแต่อาจจะยาวนาน” นายวิษณุ กล่าว
แน่นอนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามเป้าหมายของฝ่ายค้าน แต่เมื่อประเมินแล้วว่า พอเข้าสู่กระบวนการที่ “ยาวนาน” ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็มีมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็น “เกราะคุ้มกัน” อีก เชื่อว่า ย่อมไม่เป็นผลดีกับทางฝ่ายค้านอย่างแน่นอน
เพราะกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะแล้วเสร็จ ก็ “ครบเทอม” รัฐบาลลุงตู่ 2 ไปแล้วด้วยซ้ำ ดีไม่ดีจำเป็นต้องมี “บทเฉพาะกาล” ให้รัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้งอีกต่างหาก
จนน่าสนใจว่า “พรรคก้าวไกล” ที่มีร่างเงาของ “คณะก้าวหน้า” แฝงอยู่ จะยอมเดินตามลู่ที่ฝ่ายกุมอำนาจวางไว้หรือไม่
เปิดเหตุ “ก้าวไกล” กฐินคว่ำ
สิ่งที่กำลังจะเกิดข้นภายหลังจากเริ่ม “นับหนึ่ง” แก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นย่อมไม่ถูกใจ “แก๊งก้าว” อย่างแน่นอน
เพราะเดิม “แก๊งก้าว” ที่สอดรับกับกระแสการชุมนุม “ม็อบปลดแอก” พยายามนำเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ “สุดซอย” โดยแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ่วงไปกับประเด็น “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” ตลอดจน “ล้างมรดก คสช.”
ทีมองได้ว่า เป็นการแก้ไขเพื่อ “พลิกขั้ว” ทางการเมือง หากเกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” ที่ทำให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯอยู่ในตำแหน่งไม่ได้ ก็จะสามารถเลือกตั้งใหม่ หรือเลือกนายกฯใหม่ โดยที่ไม่มีเสียง ส.ว. 250 เสียงเป็น “ก้างขวางคอ”
ให้พรรคเพื่อไทย สนับสนุนญัตติของตัวเอง แต่ “ค่ายเพื่อไทย” อาบน้ำร้อนมาก่อน ไม่หลงเหลี่ยมไป “เดินตามเด็ก” ง่ายๆ ลงมติสวนไป 99.9% ไม่ร่วมลงชื่อกับพรรคก้าวไกล ย้อนศรที่พรรคก้าวไกล เคยถอนชื่อจากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยในนาทีสุดท้าย
จนทำให้ “แก๊งก้าว” สาปส่งพรรคเพื่อไทย แล้วไปกราบกรานล่ารายชื่อมาได้ 99 เสียง ผ่านขั้นต่ำ 98 เสียงมาได้แบบหืดจับ และรีบหอบรายชื่อแนบญัตติไปส่งให้ “ประธานชวน” ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
ปรากฏว่า “หลังเดาะ” เมื่อ ส.ส.รัฐบาลเฮโลกันลงจากรถ จน “กฐินคว่ำ” ไปไม่ถึงวัด
สุดท้ายรู้เช่นเห็นชาติการเมือง หันมาสาบส่ง “ค่ายแมลงสาบ” พรรคประชาธิปัตย์ ว่า “คบไม่ได้” ท่ามกลางกระแสข่าวงานนี้ “รุ่นใหญ่” กดดัน ส.ส.ประชาธิปัตย์ ด้วยตัวเอง จนต้องถอนชื่อออก
หลังเกิดเหตุปะหน้ากันที่สภา “นายหัวชวน” ต้องสะกิด “เสี่ยทิม” ไปชี้แจงว่า “ผมไม่เกี่ยวๆ” จากที่ไม่ค่อยเชื่อกระแสข่าวที่ปรากฏหน้าสื่อ เมื่อ “รุ่นใหญ่” ออกอาการ “ร้อนตัว” ให้เห็น ก็เลยชักคล้อยตามข้อมูลที่ปรากฏหน้าสื่อ
เป็นจังหวะเดียวกับที่ พรรคเพื่อไทย ประกาศเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ อันประกอบด้วย 1.แก้ไขมาตรา 272 และ 159 เพื่อยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเพิ่มเติมในมาตรา 159 ว่าในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากไม่สามารถเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นจาก ส.ส. ได้ และปิดทางการเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอก เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองได้
2.แก้ไขมาตรา 270 และ 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศและอำนาจยับยั้งกฎหมาย
3.แก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
และ 4.แก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิกมาตรา 83, 85, 88, 90, 92, 94 และ 105 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ใช้บัตร 2 ใบเลือกคนและเลือกพรรค
พร้อมกวักมือเรียกพรรคก้าวไกลให้มาลงชื่อร่วมด้วย ที่สุด “แก๊งก้าว” ก็ลดอาการห้าวเป้งยอมลงมา “เดินตามผู้ใหญ่” ลงชื่อในญัตติของพรรคเพื่อไทย แทน
ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า การขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกล ที่สอดรับกับ “ม็อบปลดแอก” เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในส่วนของ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.-ล้างมรดก คสช.”
หากแต่เหลี่ยมคูทางการเมืองยังปิดกันลิบลับ และเข้าใจได้ว่า พรรคเพื่อไทย จะยอมให้ทางพรรคก้าวไกลมาแซงหน้านำเกมฝ่ายค้านไม่ได้ จึงเลือก “ดึงจังหวะ” ไม่โดดไปเกาะกระแสม็อบทันทีทันใด รอจังหวะเหมาะเจาะ
ในอารมณ์ “หัวเราะทีหลังดังกว่า”
แต่ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่เช่นกันว่า แท้จริงแล้ว “แก๊งก้าว” ต้องการที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการที่ก่อนหน้านี้ ที่ทำตัวเป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง” พยายามเบี่ยงประเด็นไม่ยอมรับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และขอพรรคเพื่อไทย
จ้องที่จะพาออกนอกลู่จ้องจะแก้ไขหมวด 1-2 ที่ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ไม่ควรแตะต้อง และยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดคุยในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากนาทีนี้ต้องทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การร่างฉบับใหม่ให้ได้เสียก่อน
จนในฝ่ายค้านด้วยกันยังเข้าใจไปว่า “แก๊งก้าว” คงรู้ดีว่า หากปล่อยให้กระบวนการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการ “ในระบบ” ได้ ก็เท่ากับปิดสวิตซ์ “การเมืองนอกระบบ” ไปโดยปริยาย
ไม่เท่านั้นยังวางท่าทีไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร. ซึ่งขณะนี้แทบจะเป็น “มติมหาชน” ทุกฝักฝ่ายให้การยอมรับว่าต้องมี ส.ส.ร.เพื่อให้เกิดรับธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ทาง “แก๊งก้าว” โดย “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ มองว่า หากมี ส.ส.ร.ก็เท่ากับ “ฝ่ายกุมอำนาจ” กินรวบทั้งกระดาน
ทั้งๆ ที่ ส.ส.ร. 150 คน จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ขณะที่อีก 50 คน แบ่งเป็น 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา, 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน และอีก 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา
โดยมอง “แง่ร้าย” ว่า พรรครัฐบาลจะสามารถ “เอาใจช่วย” ส.ส.ร.เลือกตั้งได้เกือบ 100 คน บวกกับสัดส่วนของ ส.ส.-ส.ว. ที่ฝ่ายรัฐบาลย่อมต้องมีมากกว่า
กลับกลายเป็นว่า “แก๊งก้าว” ตั้งแง่ และไม่ยอมรับ “หลักประชาธิปไตยเสียงข้างมาก”
เป็นเหตุให้ “แก๊งก้าว” พยายามปลุกระดมให้มีการชุมนุมเพื่อกดดันเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและที่มาของ ส.ส.ร.แล้ว พร้อมทั้งประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเอง
“มีแต่การต่อสู้ของประชาชนเท่านั้น จึงจะได้ชัยมา!!” ปิยบุตร ประกาศไว้ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง
เสมือนหนึ่งต้องการเตะปลั๊กการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วหวังใช้ “ม็อบ” ประหัตประหารให้ “แตกหัก” หรือไม่
กลิ่น“รัฐประหาร”โชยมาจากไหน?
ท่าทีการไม่ยอมรับ ส.ส.ร.ของ “ปิยบุตร ณ แก๊งก้าว” ก็บังเอิญไปคล้ายกับจุดยืนของ กิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ส.ว.ตัวแรง ที่เคยออกตัวเป็น “องครักษ์ลุงตู่” ท้าไฝ้วกับฝ่ายค้านกลางสภาฯมาแล้ว
โดย “ส.ว.กิตติศักดิ์” ได้ออกมาประกาศตั้งกลุ่ม “ส.ว.อิสระ” สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 272 เรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติเลือกนายกฯ โดยมองว่า หมดความจำเป็นที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯแล้ว ให้ “นายกฯตู่” ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง อยากเป็นนายกฯต่อ ก็ต้องหาเสียงสนับสนุนจาก “สภาล่าง” เอง เพื่อความสง่างาม
อย่างไรก็ดี “ระหว่างบรรทัด” ที่้ “ส.ว.กิตติศักดิ์” บอกถึงแนวทาง “ส.ว.อิสระ” ที่มีต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่า สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น “รายมาตรา” ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา
เมื่อพลิกปูม “ส.ว.กิตติศักดิ์” แล้วก็เชื่อยากว่า จะตัดเยื่อใยจาก “รัฐบาลลุงตู่” แต่กลับต้องมองแบบ “ซ่อนเงื่อน” ว่า เมื่อไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. การโหวตสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 256 ที่จะวนกลับเข้ามาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตวาระ 2-3 ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมด้วยอย่างน้อย 84 เสียง ในสมัยประชุมหน้านั้น “ส.ว.อิสระ” ที่ตอนนี้มีกว่า 60 เสียง ก็อาจจะ “โหวตคว่ำ” ก็เป็นได้ เพราะออกตัวแล้วว่า “ไม่เห็นด้วย”
เกมแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่ได้เริ่มต้น “นับหนึ่ง” ทันที
เหลือเชื่อมากว่า จู่ๆ “ส.ว.ฝักถั่ว” จะกลายมาเป็น “ส.ว.อิสวะ” ไม่ยึดโยง “ฝ่ายกุมอำนาจ” ที่ตั้งตัวเองมากับมือ
แม้ว่านาทีนี้ฝ่ายกุมอำนาจ ทั้ง “นายกฯตู่” หรือ “พี่ป้อม-ประวิตร” หรือ “พี่ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่รู้จักกันในนาม “3ป.” ที่ถือความได้เปรียบทางการเมืองอยู่ทุกประตู แต่จะยอมปลด “ความได้เปรียบ” ในการสืบทอดอำนาจตัวเองง่ายๆเพียงเพราะทานกระแสไม่ไหวอย่างนั้นหรือ
อีกทั้งยังเหนื่อยถูลู่ถูกังมา 5 ปีกว่า ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง ส.ว. 250 คนก็ตั้งมากับมือ ส.ส.ก็อุดหนุนจุนเจือมาแต่ต้น หากยอมง่ายๆก็คงแปลก
ปล่อยคิว “ส.ว.ฝักถั่ว” ออกมา เพื่อที่จะกดปุ่มล้มกระดานแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเปล่า
ไม่เท่านั้นยังมีคิวของ “ก๊วนไทยภักดี” ที่สนับสนุนรัฐบาล นำโดย “หมอวรงค์” วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ประกาศแคมเปญล่า 5 หมื่นรายชื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกมาอีก ก็มองไม่ยากว่าได้รับการปล่อยคิวออกมาจาก “ผู้มีอำนาจ”
น่าสนใจว่า “ปิยบุตร” ที่ตั้งแง่ไม่ยอมรับ ส.ส.ร. จะหวังผลเดียวกันหรือไม่ ให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นไม่ได้ เพื่อเลี้ยงกระแสการชุมนุมนอกสภาต่อไปหรือไม่
การประกาศเข้าร่วมการชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ที่ถิ่นเก่า ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ของ “ปิยบุตร” ก็มี “นัย” น่าสนใจ แม้จะออกตัวว่าไม่เป็นแกนนำ และไม่ขึ้นปราศรัย แต่การเข้าร่วมก็ไม่ต่างแสดง “เชิงสัญลักษณ์” ว่า “แก๊งก้าว” ให้การสนับสนุนเต็มที่
น่าสนใจไปอีกว่า การชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ที่ทาง ม.ธรรมศาสตร์ เพิ่งออกประกาศห้ามใช้พื้นที่ไปแล้วนั้น จะไปจบลงที่สถานที่ใด
หมุดหมายเดิมนั้น ทางกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประกาศไว้ว่า จะปักหลักพักค้างคืนภายในรั้ว ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อที่เช้าอีกวันจะกรีฑาทัพไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล
หากแต่ “ฝ่ายการเมือง” ก็วิเคราะห์ไปไกลว่า การประกาศเคลื่อนพลไปที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นเพียง “เป้าหลอก” หากแต่ “เป้าจริง” น่าจะอยู่ที่ “ลานพระราชวังดุสิต” อันเป็นเขตพระราชฐาน เพื่อเร่งอุณหภูมิทางการเมืองให้ร้องแรงขึ้น
สอดคล้องกับ “เซอร์ไพร์สเบิ้มๆ” ที่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชีวารักษ์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศไว้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยประกาศว่าจะยึดสนามหลวงมาแล้ว และที่น่าหวั่นใจก็ด้วยแกนนำชุมนุม 19 ก.ย.นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีส่วนในการประชุม “10 ข้อเรียกร้อง” ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาทั้งสิ้น
เป็นที่มาของ “ยุทธการสะพานมัฆวานรังสรรค์” ที่ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นำไปอภิปรายสอบถาม “บิ๊กตู่” กลางสภาฯในระหว่างอภิปรายโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะมีการล้อมปราบผู้ชุมนุมหรือไม่ หากมีการเคลื่อนมวลชนไปยังทำเนียบรัฐบาล ที่อาจคาบเกี่ยวเข้าไปสู่เขตพระราชฐาน
หากเป็นเช่นที่ประเมินไว้จริง ก็เพื่อต้องการ “ยั่ว” ให้เกิดการปะทะและสูญเสีย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพการเคลื่อนรถถัง-รถฮัมวี่ติดป้าย “เพื่อการฝึก” ที่ถูกนำมาส่งต่อๆกันในโลกโซเชี่ยล เพื่อประโคมกลิ่นอาย “รัฐประหาร” ให้ตลบอบอวล ก็ออกมาจาก “ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล” มากกว่า
หรืออย่างการที่ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไปประกาศที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน หลังร่วมพิธีบรรจุอัฐิวีรชนพฤษภา 35 ว่า “คณะก้าวหน้าเราก็พร้อมจะออกมาต่อสู้หากเกิดการทำรัฐประหารขึ้น”
ก็เหมือนเป็นการรับส่งลูกกับกระแสที่กำลังปั่นอยู่ในสังคมออนไลน์
แง่หนึ่งอ่านได้ว่า อาจจะมี “กลิ่นรัฐประหาร” โชยขึ้นมาจริง แต่ประวัติศาสตร์บอกไว้แล้วว่า เรื่องยึดอำนาจ-รัฐประหาร เป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดกัน หากคิดจะยึดอำนาจ ถามกันซึ่งหน้าก็ไม่มีทางตอบ เหมือนอย่าง “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญรัตยกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2549 ที่ปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า
หรืออย่าง “บิ๊กตู่” ที่ปฏิเสธปากเปียกปากแฉะ และใช้กลยุทธ์ “หลอกให้ตายใจ” นัดแกนนำการเมืองหลายฝ่ายมาพูดคุยในวันที่ 20 พ.ค.57 ก่อนปล่อยตัวออกไปอย่างปลอดภัย แล้วมารวบหัว-รวบหาง กันในวันที่ 22 พ.ค.57
แต่อีกแง่หนึ่ง ต้องถามว่า สถานการณ์ตอนนี้ “สุกงอม” พอที่จะลากรถถังออกมา “แอ่น...แอ๊น” แล้วหรือ ปัจจัยสำคัญเรื่องความขัดแย้ง เสียหลือกเสียเนื้อ ยังไม่มีให้เห็น
จนมองไปได้ว่าที่ปั่นๆกระแส “รัฐประหาร” กันก็มาจาก “ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล” ที่พยายาม “เลี้ยงกระแส” การชุมนุมที่เข้าช่วง “ขาลง” เอาไว้มากกว่า
เฉกเช่นเดียวกับการแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “แก๊งก้าว” ในตอนนี้ ที่พยายามจุดประเด็น “ความไม่จริงใจ” ของฝ่ายกุมอำนาจ ทั้งที่ก็เดินตามข้อเรียกร้อง และฝ่ายค้านพรรคอื่นก็เห็นพ้องในหลักการแล้ว
สรุปแล้วที่ชิงไหวชิงพริบกันตอนนี้ ก็เพื่อยั่วให้ฝ่ายตรงข้าม ขุดหลุมพรางกันไปมา ใครตกหลุมก่อนก็เสร็จ
เรียกว่า ปล่อย “วิชามาร” กันไม่ยั้งทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ.