สภารับทราบผลศึกษาแก้ รธน. ชงรัฐสภาคานอำนาจศาล รธน. ปลดล็อก ม.256 แก้ยุทธศาสตร์ได้ใน 2 ปี ให้สภาถ่วงดุลสอบคำพิพากษาศาล ตัดหมวดปฏิรูป ชงตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ เว้นหมวด 1-2 ก้าวไกล ปัดล้มสถาบันฯ แต่ให้อยู่อย่างสง่า เจอสวนไม่คุยในชั้น กมธ.
วันนี้ (10 ก.ย.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 รายงานผลการศึกษาโดยสรุปว่า ระบบเลือกตั้งควรกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และควรยกเลิกการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี โดยไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงยกเลิกการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วน ส.ว.นั้นมีข้อเสนอให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ ตุลาการ เพื่อไม่ให้กรรมการในองค์กรดังกล่าวใช้หน้าที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการเลือกกันเองของ ส.ว.นั้นต้องแก้ไขประเด็นข้อห้ามเลือก ส.ว.ในกลุ่มอาชีพเดียวกันให้ชัดเจน
ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์ชาติควรปรับปรุงให้แก้ไขได้ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่องค์กรตุลาการ ศาลนั้น การใช้ดุลพินิจพิพากษาที่อาจถูกแทรกแซง หรือมีอคติ ไม่เป็นไปตามระเบียบ หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ควรมีบทบัญญัติการพิจารณาพิพากษาที่เป็นอิสระ ส่วนที่มีผลพิพากษาแทรกแซงนั้นให้ถือเป็นโมฆะ และให้สิทธิผู้ต้องคำพิพากษาที่ถูกแทรกแซงสามารถโต้แย้งได้ ส่วนศาลยุติธรรมนั้นมีข้อเสนอว่าไม่ควรตั้งผู้พิพากษาเป็นกรรมการในหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของรัฐ รวมถึงไม่ควรเข้ารับการอบรมของหน่วยงานของรัฐ ขณะที่ศาลไม่ควรตั้งหลักสูตร อบรม เพราะจะเปิดช่องให้เกิดความใกล้ชิด สร้างสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนได้
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า ศาลปกครองไม่ควรใช้มติของที่ประชุมใหญ่ของศาลเพื่อแก้ไขกฎหมายเอง ขณะที่ศาลทหารเสนอให้จำกัดกรอบพิจารณาเฉพาะเจ้าาหน้าที่ทหาร เว้นกรณีมีศึกสงคราม ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ กมธ.เห็นว่ามีอำนาจกว้างขวาาง และคำวินิจฉัยมีผลกระทบทางการเมือง ดังนั้น ควรจำกัดขอบเขตการผูกพันองค์กรต่างๆ และควรให้รัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
“การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของตุลาการ และเรื่องการตรวจสอบนั้นควรให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบคำพิพากษาของตุลาการในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยกำหนดให้ผู้พิพากษาตุลาการ ร้องต่อ ป.ป.ช. กรณีใช้ดุลพินิจที่มิชอบได้ ทั้งนี้การใช้ดุลยพินิจดังกล่าวต้องมีกลไกกำกับให้การใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้องด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว
นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า องค์กรอิสระต้องกำหนดกรอบและอำนาจการตรวจสอบ เช่นเดียวกันควรให้รัฐสภามีอำนาจตรวจสอบ การทำงานองค์กรอิสระได้ นอกจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ควรมีหน้าที่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และควรให้ศาลฎีกาพิจารณาแทน ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการชี้มูลความผิดต้องมีพยานหลักฐานแน่ชัด ไม่เพียงเพราะเชื่อได้ว่า
นายพีระพันธุ์รายงานว่า ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีข้อเสนอของ กมธ.หลายแนวทาง แต่ที่เห็นร่วมกันมากที่สุด คือ ยกเลิกเงื่อนไขที่ใช้เสียง ส.ว. เห็นชอบวาระแรกและวาระสาม ด้วยเสียง 1 ใน 3 เหลือเป็นเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา รวมถึงยกเลิกในเกณฑ์ที่ใช้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้านร้อยละ 20 และยกเลิกการทำประชามติส่วนที่กำหนดให้ดำเนินการกรณีที่แก้ไขเนื้อหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ กมธ.มีข้อเสนอด้วยว่าหากแก้ไขหลายมาตรา รูปแบบที่ดี คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยกร่างใหม่ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 จากนั้นให้นำร่างรัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติหลังทำเสร็จ
ส่วนหมวดการปฏิรูปประเทศ กมธ.เสนอให้ตัดออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะปฏิบัติไม่ได้จริง เป็นอุปสรรค และล่าช้า และควรบัญญัติเป็นกฎหมายระดับรอง ขณะที่มาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจ ส.ว.ลงมติเลือกนายกฯ นั้น ที่ประชุมเห็นเป็น 2 แนวทาง คือ กมธ.เสียงข้างน้อย เห็นว่าควรแก้ไข ขณะที่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรยกเลิก เพราะเป็นการทำชั่วคราว ขณะที่มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช.นั้น กมธ.มีความเห็นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ควรยกเลิกเพราะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประกาศ คำสั่งของคณะปฏิวัติได้ อีกความเห็นคือ ไม่ควรแก้ไข เพราะกังวลว่าจะมีผลกระทบทางกฎหมาย และหากคำสั่งหรือประกาศใดที่ควรยกเลิกควรใช้กลไกของรัฐสภาออกเป็นพระราชบัญญัติ
ทั้งนี้ สมาชิกหลายคนได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ออกแบบไว้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ซึ่งหมายถึงอำนาจตุลาการเด็ดขาด จากที่อ่านรายงานของคณะ กมธ.เขียนไว้ตนเห็นด้วยและถูกใจ เพราะเขียนไว้ในข้อสังเกตว่าควรกำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบในใช้อำนาจของผู้พิพากษาและตุลาการพิจารณาคดี ในกรณีที่คดีขัดต่อความสงบเรียบร้อย
นายธีรัจชัยกล่าวอีกว่า ถ้าไม่มีองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลนิติบัญญัติจะทำให้ศาลตัดสินไปตามอำเภอใจ หากกระบวนการตรวจสอบภายในไม่ดี เช่น คดีนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ฝากขังและมีเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าศาลสันนิษฐานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว จากนั้น พนักงานสอบสวนยื่นขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลก็เชื่อเช่นนั้นจึงเพิกถอน ทำให้นายอานนท์ต้องถูกคุมขัง ประเด็นคือมันคลาดเคลื่อนต่อหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะสันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เงื่อนไขการปล่อยตัวเป็นการพิจารณาของศาล เพื่อปกป้องการหลบหนีและปกป้องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ได้พูดถึงการกระทำความผิด แต่ศาลกำหนดเกินกว่ากฎหมาย น่าจะคลาดเคลื่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 ต้องพิจารณาอรรถคดีตามกฎหมาย ถามว่ามีใครตรวจสอบหรือไม่
“ถ้าเป็นไปได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญการถ่วงดุลของศาลและองค์กรอิสระทุกองค์กรต้องมี ไม่ใช่มีอภิสิทธิ์ เป็นผู้ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบต่อดุลพินิจของตัวเองหรือการกระทำของตัวเอง สร้างความเดือดร้อนล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อประชาชน” นายธีรัจชัยกล่าว
ด้าน น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รายงานของ กมธ.ไม่มีตรงไหนที่พูดถึงหมวด 1 และหมวด 2 ที่มีถึง 24 มาตรา แต่ในรายงานข้ามไปเลย ทำให้ตนสงสัย ดังนั้น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ 2 ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ตนจงรักภักดีต่อสถาบันฯ และต้องการเห็นสถาบันฯ คงอยู่อย่างมั่นคงและสง่างาม ในอดีตที่ผ่านมามีการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 อยู่หลายครั้ง รวมถึงในรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นเรื่องปกติ สามารถแก้ไขได้ โดยไม่ส่งผลต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐตามมาตรา 255 ทำไม กมธ.ไม่ใช้โอกาสนี้พิจารณาในหมวด 1 และ 2 เราควรรับฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อหาแนวทางร่วมกัน อะไรทำได้หรือไม่ ก็ต้องมีการได้พูดคุยชี้แจง
“หมวด 1 และหมวด 2 แก้ไขได้เป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมา ส.ส.ร.ปี 2539 ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ได้ตีกรอบห้ามแก้ไขในหมวดใด จึงมีคำถามว่าหากต่อไปต้องการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 แต่มีการล็อคไว้จะต้องทำอย่างไร ดิฉันคิดว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขโดยไม่จำเป็น ขอย้ำว่าการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ไม่ได้เป็นการล้มล้าง ในอนาคตหากมีการตั้ง ส.ส.ร.แล้วไปจำกัดการแก้ไข คิดว่าเป็นทางตัน ควรเปิดโอกาสให้ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนพิจารณาทุกเรื่องด้วยเหตุผล รับฟังข้อเสนอของทุกกลุ่มไม่ปิดกั้น สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ดิฉันจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และต้องการเห็นสถาบันฯ คงอยู่อย่างสง่างาม มั่นคง สมพระเกียรติ สถาบันฯ เป็นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะผู้ขาดความจงรักภักดี และป้ายสีให้คนเห็นต่างเป็นพวกทำลายชาติ” น.ส.สุทธวรรณกล่าว
น.ส.สุทธวรรณกล่าวด้วยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย ปัจจุบันมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้มากมาย แค่พวกเขาพูดก็ถูกกล่าวหาว่าคิดร้าย ถูกจับกุม ดำเนินคดีมากมาย บางครั้งเขาพูดเพราะความหวังดีต่อประเทศ แต่ก็ถูกดำเนินคดี ข้อเรียกร้องของนักศึกษาไม่ได้รับการตอบสนอง ตอนนี้พวกเขาขาดความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาจึงต้องออกไปอยู่บนท้องถนน อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล มีวุฒิภาวะ เป็นการคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบัน ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหนทางในการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือการเมือง
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาตนไม่เคยระบุว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 ได้ ซึ่งไปค้นดูได้ในชวเลขบันทึกการประชุม แต่ที่ไม่ได้ใส่ไว้ในรายงานฉบับนี้ เพราะในที่ประชุมไม่มีการพูดคุยประเด็นนี้เลย ไม่ว่ากรรมาธิการคนไหน เพราะเห็นว่าบทบัญญัติในหมวดนี้ไม่มีประเด็นใดต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ จึงไม่มีในรายงานผลการศึกษา ที่เริ่มที่หมวด 3 เพราะมีการถกเถียงเกิดขึ้น
จากนั้นเวลา 13.15 น. นายปิยบุตร แสงกนกกุล กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ตามที่รายงานของ กมธ.เกี่ยวกับการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ระบุไว้ว่าไม่มีประเด็นต้องแก้ไข แต่ตนมีความเห็นที่แตกต่างไปจาก กมธ. อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ คือ ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หมายความว่าแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ห้ามแก้จนไทยเป็นสหพันธรัฐ ห้ามแก้ประธานาธิบดีเป็นประมุข ห้ามแก้จนไทยเป็นเผด็จการ นี่คือข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 หรือหมายความว่าแก้ได้ทุกมาตรา แต่ห้ามแก้รูปของรัฐและระบอบการปกครอง
จากนั้นเวลา 13.25 น. นายพีระพันธุ์ ในฐานะประธาน กมธ.ชี้แจงกลับว่า คณะ กมธ.เห็นว่าหมวด 1 หมวด 2 แก้ไขได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจะแก้ไขหรือไม่ การพิจารณาในชั้น กมธ.ยืนยันไม่มีใครพูดถึงสองหมวดดังกล่าวเลยแม้แต่คนเดียว ดังนั้น ทางคณะ กมธ.จึงเห็นว่าไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่ว่าแก้ไขไม่ได้ แต่เห็นว่าไม่มีประเด็นต้องแก้ไข เช่นนั้นจึงไม่มีผลการศึกษา ส่วนที่นายปิยบุตรระบุว่าเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการจะเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยต้องคุยกันในที่ประชุมและมีการลงมติ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการคุยเรื่องนี้เลย