xs
xsm
sm
md
lg

คำถามรัฐประหารกับความจริงของการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


เป็นแบบแผนปฏิบัติของนักข่าวไทยที่ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับการรัฐประหารในช่วงเวลาที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง สิ่งที่น่าแปลกคือ คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้ถามเองก็ทราบดีผู้ตอบต้องปฏิเสธ กระนั้นก็ยังถามอยู่ดี มีนัยและความเป็นจริงทางสังคมการเมืองอะไรบ้าง ที่แสดงผ่านการถามของนักข่าว

ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ประชุมหน่วยที่ขึ้นตรงต่อกองทัพบกเพื่อมอบนโยบาย หลังการประชุมนักข่าวจำนวนมากได้ตั้งคำถามต่อ ผบ.ทบ. เกี่ยวกับการรัฐประหาร คำตอบที่ได้คือ “โอกาสการทำรัฐประหารเป็นศูนย์ แต่อยู่บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงและกระทบต่อความเดือดร้อน” ซึ่งเป็นคำตอบที่มีแบบแผนคล้ายคลึงกับ ผบ.ทบ.คนก่อน ๆ นั่นเอง

นัยของคำตอบแบบนี้คือ ในปัจจุบัน (ช่วงเวลาขณะตอบคำถาม) โอกาสการรัฐประหารเท่ากับศูนย์ แต่ตัวเลขของโอกาสจะเพิ่มขึ้นหากมีเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมือง และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารในอนาคต หากมีเงื่อนไขถึงพร้อม

เป็นความจริงที่ว่าในการเมืองร่วมสมัยของประเทศไทยมีการรัฐประหารสูงติดลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างชัดเจน และยังบ่งบอกถึงความเป็นสถาบันของระบอบประชาธิปไตยไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ และไม่สามารถทำให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองอันได้แก่การเลือกตั้งกลายเป็นบรรทัดฐานที่มั่นคงได้

เป็นความจริงเช่นเดียวกันว่าทหารไทย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำเหล่าทัพจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารมิได้ยึดมั่นในวิถีการได้มาซึ่งอำนาจตามแบบแผนของระบอบประชาธิปไตย และมิได้เชื่อมั่นว่าวิถีการจัดการความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยจะมีประสิทธิผล ดังนั้นเมื่อพวกเขาประเมินว่า มีเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่ออะไรบางอย่างที่พวกเขาคิดว่าสำคัญ ด้วยความอดทนและอดกลั้นที่มีอยู่จำกัด พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะเลือกแก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่ในจินตนาการของตนเองด้วยการทำรัฐประหาร

เป็นความจริงอีกประการว่า มีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ต้องการ เรียกร้อง สนับสนุนและยอมรับการรัฐประหาร เพราะพวกเขาคิดว่าการรัฐประหารเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และถึงกับคิดด้วยว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารและการใช้อำนาจเด็ดขาดมีประสิทธิภาพมากกว่า และคอรัปชั่นน้อยรัฐบาลพลเรือน
ความเชื่อแบบนี้บ่งบอกถึงความไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง แต่หากศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างละเอียดและรอบด้านแล้ว ย่อมบรรลุถึงข้อสรุปได้ไม่ยากนักว่า การมีประสิทธิผลของการรัฐประหารในฐานะที่เป็นเครื่องมือขจัดความขัดแย้งทางการเมืองและการบริหารประเทศเป็นความเชื่อที่ผิดพลาดอันเกิดจากความเข้าใจผิดและการมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์เสียมากกว่า

รัฐบาลที่เกิดจากการรัฐประหารคือรัฐบาลทหาร และสภาทหาร ซึ่งมีกรอบคิดในการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ เน้นระเบียบและการปฏิบัติตามคำสั่งตามสายบังคับบัญชา มักใช้การตัดสินใจแบบเร่งด่วนและเร่งรัดจากทางเลือกจำนวนน้อยนิด ไม่เน้นการมีส่วนร่วมและความรอบด้านของข้อมูลข่าวสาร การผิดพลาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย และบ่อยครั้งต้องตามไปแก้ไขในภายหลัง

ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลทหารยังมีแนวโน้มนิยมชมชอบความลับ ชอบทำอะไรลึกลับ รังเกียจความโปร่งใสและไม่ชอบการถูกตรวจสอบ ซึ่งทำให้มีโอกาสสร้างช่องการทุจริตได้ง่าย นิยมการเล่นพวกเล่นพ้องโดยนำคนที่ใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อแจกจ่ายผลประโยชน์ และที่สำคัญคือการยินยอมอย่างเต็มใจให้ตนเองถูกชักจูงและชี้นำด้วยกลุ่มทุนผูกขาด เพราะกลุ่มทุนเหล่านั้นคือแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของพวกเขาทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรัฐประหาร รัฐบาลทหารจึงมีแนวโน้มทุจริตคอรัปชั่น ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร และสร้างความเหลื่อมล้ำเท่ากับหรืออาจมากกว่ารัฐบาลพลเรือนเสียด้วยซ้ำ และสิ่งที่มักตามมาภายหลังการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารคือความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่รุนแรงยิ่งขึ้น รุนแรงยิ่งกว่าช่วงที่พวกเขานำมาอ้างเพื่อการรัฐประหารเสียอีก


เป็นความจริงว่านักการเมืองและพรรคการเมืองอันเป็นกลุ่มที่ได้รับกระทบจากการรัฐประหารมากที่สุด แต่กลับมิได้ออกมาคัดค้านหรือต่อต้านการรัฐประหารแต่อย่างใด บางคนอาจรู้เห็นเป็นใจกับการรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ และนักการเมืองเกือบทั้งหมดต่างยอมรับการสูญสิ้นอำนาจของตนเองอย่างขลาดเขลา ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอในการปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารแต่อย่างใด ทันทีที่รถถังเคลื่อนออกจากที่ตั้งมาสู่ท้องถนน พวกเขาลืมเลือนฐานะของตนเองและความเป็นตัวแทนของประชาชนจนหมดสิ้น ไม่มีกำลังขวัญและความกล้าหาญเพียงพอในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย เราจึงไม่เคยเห็นว่ามีนักการเมืองคนใดของประเทศไทยออกมานำประชาชนต่อต้านการรัฐประหาร ทั้งที่พวกเขาควรแสดงบทบาทดังกล่าวมากกว่ากลุ่มใด ๆ ในสังคม

เป็นความจริงอีกประการว่า บุคคลในกระบวนการยุติธรรมของไทยให้การยอมรับและรับรองอำนาจรัฐประหาร ทั้งที่อำนาจนี้ขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการล้มล้างกฎหมายสูงสุดและทำลายนิติรัฐ แม้แต่กลุ่มคนที่สังคมคาดหวังว่าควรมีบทบาทในการพิทักษ์รักษาหลักนิติธรรม ก็มิได้มีความกล้าหาญเพียงพอที่ปฏิบัติตามบทบาทนั้น แต่กลับกระทำในทิศทางที่ตรงข้าม ซึ่งเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่การรัฐประหารมากยิ่งขึ้น การกระทำเช่นนี้ไม่แตกต่างอย่างใดกับนักการเมืองนั่นเอง

ภายใต้ความจริงเหล่านี้ การรัฐประหารจึงดูเสมือนเป็นวิถีเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองปกติแบบหนึ่งในสังคมไทยที่ดำรงอยู่คู่ขนานกับการเลือกตั้ง แต่ในบริบทการเมืองที่เป็นทางการ การรัฐประหารเป็นคู่ขนานน่าอับอายและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามปกปิดและหลีกเลี่ยงการยอมรับอย่างเปิดเผย ไม่มีใครหรือผู้ใดกล้ากล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ตนเองชอบรัฐประหาร ต้องการให้มีการรัฐประหาร และจะทำการรัฐประหารอย่างแน่นอนหากมีโอกาสทำได้

การไม่กล้าประกาศสนับสนุนการรัฐประหารอย่างเป็นทางการของกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหาร เป็นเพราะว่าพวกเขาก็ทราบดีว่าการรัฐประหารหาใช่สิ่งปกติในสังคมประชาธิปไตยแต่อย่างใด ดังนั้นในการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง นักรัฐประหารจึงต้องพยายามแสวงหาและหยิบยกเหตุผลต่าง ๆสารพัดประการขึ้นมาเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตนเอง

และเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหาร ก็มักมีความอับอายไม่กล้าเรียกตนเองว่าคณะรัฐประหารและไม่ชอบให้ผู้อื่นเรียกตนเองว่าคณะรัฐประหารด้วย พวกเขามักอ้างว่าตนเองสนับสนุนประชาธิปไตย และชอบพูดว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบดีที่สุด ทั้งที่ความคิดที่แท้จริงในจิตใจของพวกเขาตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูดออกมาก็ตาม อะไรคือสาเหตุที่พวกเขาต้องพูดแบบนั้น ในด้านหนึ่งเป็นการพูดเพื่อส่งสารไปยังนานาชาติว่า รัฐบาลทหารยังให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยอยู่ เพื่อลดแรงกดดันจากต่างประเทศ ในอีกด้านหนึ่งเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยา เพื่อสร้างความหวังให้แก่ประชาชนในสังคมว่าการปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นสิ่งชั่วคราว ขอให้ทนรออีกระยะที่ไม่นานก็จะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย แต่สิ่งที่นักรัฐประหารหรือกลุ่มที่มีศักยภาพในการรัฐประหารพูด หากอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติการเมืองแล้ว คำพูดเหล่านั้นไม่ควรค่าแต่การเชื่อถือแต่อย่างใด และสามารถลวงได้แต่เฉพาะบุคคลที่รู้ไม่เท่าทันการเมืองเท่านั้น

พวกนักรัฐประหารมักรู้สึกขุ่นเคืองใจหากมีใครเรียกพวกเขาว่าเป็นนักเผด็จการ และเรียกระบอบที่พวกเขาใช้ในการบริหารประเทศว่าระบอบศาสตราธิปไตย ความรู้สึกขุ่นเคืองใจเช่นนี้เป็นเพราะว่าโดยส่วนลึกพวกเขาเองก็รู้ว่าการกระทำของตนเองไม่เป็นที่ยอมรับและไม่เป็นที่ต้อนรับของผู้คนจำนวนมากภายในประเทศ และต่างประเทศนั่นเอง

การรัฐประหารยังเป็นกระแสความคิดที่ไหลเวียนในสังคมไทย พร้อมจะถูกนำไปสู่การปฏิบัติได้ทุกเวลาตามการตัดสินวินิจฉัยของผู้คุมกำลังอาวุธ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บรรดานักข่าว ยังคงให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้คำตอบที่ได้จะเป็นแผ่นเสียงตกร่อง แต่ก็สามารถนำไปเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสิ่งพิมพ์ เป็นข่าวที่นักจัดรายวิทยุและโทรทัศน์ต้องอ่านและพูดถึง และเป็นประเด็นที่รายการประเภทวิเคราะห์ข่าวต้องนำไปอภิปรายและเสวนาเสมอ


คำถามเกี่ยวกับการรัฐประหารจะหมดไปก็ต่อเมื่อระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง และการเลือกตั้งกลายเป็นบรรทัดฐานเดียวเท่านั้นที่มีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง แต่หากระบอบประชาธิปไตยมีความเปราะบางดังที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไทย เราก็จะได้ยินคำถามนี้ต่อไปอีกยาวนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น