เหตุการณ์การที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่สลดหดหู่และขมขื่นที่สุดของประเทศไทย เมื่อมีการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงอย่างโหดร้าย
เมื่อภาพเหตุการณ์นี้แพร่ไปยังต่างประเทศ ชาวโลกยังตะลึง คิดไม่ถึงว่าเรื่องอำมหิตขนาดนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ทางการแจ้งตัวเลขว่ามีคนตาย ๔๖ คน ส่วนมูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์แจ้งว่ากว่า ๑๐๐ คน แต่มูลนิธิร่วมกตัญญูที่เก็บศพว่ามีถึงกว่า ๕๐๐ คน และมีผู้ถูกจับ ๓,๐๙๔ คน
เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจาก ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ซึ่งทำให้รัฐบาลทหารซึ่งครองอำนาจมายาวนานหมดอำนาจลง เสรีภาพเฟื่องฟู มีการชุมนุมประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนืองๆ ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือที่เรียกว่าฝ่ายขวา ต่างหวาดผวากลัวว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ที่รุกล้อมเข้ามารอบบ้าน จะลุกลามเข้ามาในประเทศไทย จึงเริ่มรวมตัวกันต่อต้าน
ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๖ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศได้เดินทางกลับมาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนให้เกิดบานปลาย เพื่อเปิดทางให้มีการทำรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นไปตามคาดมีการประท้วงเกิดขึ้น และเกิดเรื่องสะเทือนขวัญเมื่อพนักงานไฟฟ้าของจังหวัดนครปฐม ๒ คน ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชน กำลังติดป้ายประท้วงพระถนอมที่พระประโทน ได้ถูกจับไปแขวนคอไว้ที่ประตูแห่งหนึ่ง
นักศึกษาได้ชุมนุมประท้วงที่สนามหลวงในวันที่ ๓๐ กันยายนและเคลื่อนย้ายเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่สื่อทั้งหลายของฝ่ายขวาก็ปลุกระดมกระพือโหมทั้งข่าวจริงและข่าวปลอมให้เกิดความเกลียดชังนักศึกษา ในวันที่ ๔ ตุลาคม นักศึกษาได้แสดงละครล้อเหตุการณ์แขวนคอที่นครปฐม รุ่งขึ้นภาพนี้ได้ปรากฎในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เน้นให้เห็นว่าผู้แสดงที่ถูกแขวนคอนั้นมีการแต่งหน้าให้คล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แม้จะเกิดข้อสงสัยตามมาว่า แต่งหน้าหรือแต่งภาพกันแน่ แต่ก็เป็นผลให้เกิดความโกรธแค้นจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มุ่งไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะลูกเสือชาวบ้านจากทั่วประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในยามนั้น ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องภัยคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ
ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ ๖ ตุลา ตำรวจได้ปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ทุกด้าน จนราว ๑๑.๐๐ น.จึงเปิดฉากระดมยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยด้วยอาวุธสงคราม ทั้งปืน ระเบิดมือ จนถึงเครื่องยิงลูกระเบิดและปืนต่อสู้รถถัง นักศึกษาที่หนีออกมาทางสนามหลวงถูกทำร้าย ถูกแขวนคอกับต้นมะขาม ที่หนีลงทางแม่น้ำก็มีเรือมาดักตีขณะว่ายน้ำหนี
ในเวลา ๑๘.๐๐ น.ของวันนั้นคณะรัฐประหารที่มี พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจ โดยอ้างว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีอาวุธหนัก
ในขณะนั้นสังคมมีความแตกแยกความคิดกันอย่างหนักในเรื่องซ้าย-ขวา แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลก็ยังแตกแยกกันในพรรค โดย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ ถูกจัดอยู่ในปีกซ้าย
ส่วนปีกขวาก็มี นายสมบุญ ศิริธร นายสมัคร สุนทรเวช และนายธรรมนูญ เทียนเงิน ซึ่งคนหลังนี้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังสอบตกจากการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในเขตดุสิต ซึ่งเรียกกันว่า “เขตทหาร”
ในเหตุการณ์ ๖ ตุลานี้ นายธรรมนูญ เทียนเงินนับว่ามีบทบาทสำคัญด้วยผู้หนึ่ง เพราะเป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านเขตพระนคร ด้วยเหตุนี้เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงมีรับสั่งให้นายธรรมนูญเข้าเฝ้าในช่วงเย็นของวันที่ ๖ นั้น และรับสั่งให้นายธรรมนูญไปชี้แจงกับลูกเสือชาวบ้านให้สลายตัว ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จไปพร้อมกับนายธรรมนูญ ยังที่ประชุมของลูกเสือชาวบ้าน และมีพระราชดำรัสให้ลูกเสือชาวบ้านสลายการชุมนุม มีความว่า
ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯจะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี
นี่ก็เป็นบทบาทหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ในขณะทรงดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และประเทศชาติได้เกิดวิกฤติการณ์ร้ายแรงขึ้น