“ชุมพล จุลใส” ชู รธน.60 ช่วยแก้ปัญหาเผด็จการรัฐสภา ไม่มีอะไรที่บกพร่อง ซัดพวกเรียกร้องให้ยกเลิกเป็นฝ่ายแพ้แล้วไม่ยอมแพ้
วันนี้ (23 ก.ย. 63) ที่รัฐสภา นายชุมพล จุลใส ส.ส.เขต 1 ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในการประชุมรัฐสภา ว่า ไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกญัตติ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ ซึ่งแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม ญัตติกลุ่มแรก ที่มีความประสงค์ชัดเจนจะยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนี้ แล้วให้สภาร่างรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ คือ เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนกลุ่มที่สอง เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เช่น ญัตติเสนอให้แก้ ม.272
สำหรับกลุ่มแรกที่ไม่เห็นด้วย นายชุมพล เผยว่า เนื่องจากมีความเห็นเช่นเดียวกับประชาชนจำนวน 16 ล้าน 8 แสนคน ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีอยู่แล้ว เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศในขณะนี้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล บริหารประเทศต้องเป็นบุคคลพิเศษ มีคุณสมบัติเหมาะสมที่พรรคการเมืองได้กลั่นกรองแล้ว เสนอชื่อให้ประชาชนพิจารณาก่อนจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ประชาชนได้รู้จักประวัติผลงานต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยความตั้งใจที่จะให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ คนที่ไปใช้สิทธิในวันนั้นตัดสินใจ 2 แนวทาง คือ เอาประยุทธ์ กับไม่เอาประยุทธ์ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่บัญญัติบังคับไว้ แม้เลือกตั้งผ่านไป ประชาชนก็ไม่รู้ ส.ส.ในสภาจะเลือกใครเป็นนายกฯ ต้องลุ้นจนถึงวันประชุมสภาเพื่อลงคะแนนเลือกนายกฯ
โดยย้ำว่า ตนเองมีประสบการณ์ในบรรยากาศการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายครั้ง เช่น การเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งเดียวมีเหตุให้สภาชุดนั้นเลือกนายกฯ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเสียงข้างมากเลือก นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ หลังจากนั้น มีการเลือกนายกฯ ขึ้นมาใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก เลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และครั้งต่อไปเลือก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามลำดับ แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ 3 เกิดปัญหาคือ ฝ่ายแพ้ไม่ยอมแพ้ อ้างว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของนายอภิสิทธิ์ไม่ชอบธรรม ทั้งที่เป็นสภาและ ส.ส. ชุดเดิม เป็นผู้ลงคะแนนเลือกนายกฯ เหมือนกันทั้ง 3 ครั้ง หลังจากนั้น เกิดเหตุจลาจลในบ้านเมือง มีการปิดล้อมอาคารรัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นำกำลังติดอาวุธออกมาเข่นฆ่าประชาชน ทำให้ประเทศเสียหายอย่างรุนแรง
และประสบการณ์ครั้งล่าสุด ได้ร่วมกับ ส.ส. ในสภานี้ลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ คนปัจจุบัน วันนั้นถ้าจำได้เป็นการแข่งขันระหว่าง พลเอก ประยุทธ์ และ นายธนาธร ปรากฏว่า ส.ส.ในสภาเลือก พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 251 คน เลือกนายธนาธร 224 คน ผลจากการลงคะแนน พลเอก ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดขบวนการนอกสภาออกมาเคลื่อนไหวโจมตีว่า พลเอก ประยุทธ์ คือ นายกฯ เผด็จการ นี่ก็เช่นเดียวกันที่เป็นเรื่องของฝ่ายแพ้แล้วไม่ยอมแพ้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เหมือนกับเหตุการณ์ในอดีต เพราะทั้ง นายอภิสิทธิ์ และ พลเอก ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ตามระบบรัฐสภา เมื่อเลือกตั้งเสร็จ โหวตเลือกนายกฯ แข่งกัน เมื่อแข่งแพ้ก็โจมตีฝ่ายชนะว่าเป็นนายกฯ เผด็จการ
สำหรับการที่ออกมาเรียกร้องให้ออกมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวนี้ นายชุมพล เห็นว่า ก็เพราะว่าแพ้เลือกตั้ง แพ้ที่ลงคะแนนเลือกนายกฯ ในสภา หากฝ่ายตนเองชนะการเลือกตั้งจะไม่พูดว่า นายกฯ เผด็จการ สิ่งที่เกิดเรื่องสมัยปี 2554 เป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดที่อยู่ในสภาแห่งนี้มา รัฐบาลในขณะนั้นได้ใช้เสียงข้างมากในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่ฟังเสียงใคร ออกมาเพื่อล้างผิดให้ ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องให้พ้นผิด นั่นคือ รัฐบาลเลือกตั้งที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับหนึ่ง จนในที่สุดมีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงต่อต้านยาวนานถึง 7 เดือน
“ผมเป็นคนหนึ่งที่ลาออกจากการเป็น ส.ส. และออกไปเป็นแกนนำต่อสู้ร่วมกันกับประชาชน เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ร่างขึ้นโดยกำหนดกฎเกณฑ์ในการปกครองบ้านเมือง เพื่อแก้ไขไม่ให้มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายอีก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น โดยมีบทบัญญัติต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ของประเทศ ประชาชน 16 ล้าน 8 แสน ได้พร้อมใจกันลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ใช้มา 3 ปีแล้วครับ ประชาชนเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ปัญหาในประเทศ คือ แก้ปัญหาเผด็จการรัฐสภา มาวันนี้จึงมองไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอะไรที่บกพร่อง เสียหาย จนต้องฉีกทิ้ง ยกเลิก และร่างใหม่ หากมีความบกพร่องในทางการเมืองหรือการปกครองในขณะนี้ก็เป็นเรื่องของคน นักการเมือง หรือพรรคการเมือง ไม่ใช่ความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ”
สำหรับในแง่ตัวบทกฎหมาย เห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหมวดที่ 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตราใดมาตราหนึ่ง ไม่ใช่เขียนใหม่ทั้งฉบับ จึงเห็นว่า ญัตติให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ญัตติแก้ไข ม.272 เข้าใจว่า มีความประสงค์ไม่ให้ ส.ว.ออกเสียงเลือกนายกฯ ข้อเท็จจริงมาตรานี้เป็นมาตราหนึ่งในบทเฉพาะกาลที่บังคับใช้เฉพาะ 5 ปีแรกเท่านั้น เมื่อพ้น 5 ปีแรก ส.ว. ทั้งหลายหมดสสิทธิ์ที่จะเลือกนายกฯ การเลือกนายกฯ ต้องปฏิบัติตาม ม.159 คือ ส.ส.เท่านั้นที่จะสามารถให้ความเห็นชอบ ซึ่งในทางปฏิบัติใครจะเป็นนายกฯได้ ต้องมีเสียง ส.ส. สนับสนุนเกินครึ่งของสภาผู้แทน ต่อให้ ส.ว. 250 คนลงคะแนนให้ หาก ส.ส. สนับสนุนไม่ถึงครึ่งก็เป็นนายกฯ ได้ไม่กี่น้ำ