วันนี้ (23 ก.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” โดยระบุว่า ตนได้รับข้อมูลจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งทำตัวเป็นนักโต้คลื่นไม่สนความเดือดร้อนและความวุ่นวายของประชาชน ตรงไหนที่มีกระแส มวลชนสนับสนุนพรรคพวกหรือแนวคิดของตนเองก็จะลงพื้นที่และไม่สนคำเตือน ส.ส. หรือสมาชิกพรรคเลย โดยตนเคยได้รับข้อมูลจากคนในพรรคก้าวไกลที่เป็นกังวลเรื่องยุบพรรค
นายสามารถกล่าวอีกว่า การกระทำของนายพิธาต้องยึดหลักข้อกฎหมาย บทบัญญัติ จารีตประเพณีทางการเมือง อย่าไปหลงเชื่อตามคณะก้าวหน้า ทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช เพราะอาจทำให้พรรคถูกยุบได้ เนื่องจากตนเห็นว่าจากการปราศรัยช่วงวันที่ 19-20 ก.ย. 63 เนื้อหากลุ่มม็อบปลดแอกไม่มีข้อมูลที่ตรวจสอบรัฐบาลหรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเลย แต่ต้องการเพิ่มความขัดแย้งเข้าไปอีก ซึ่งข้อเรียกร้องมุ่งเป้าต่อสถาบันอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย และต้องการอยากให้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน มีการโจมตีคนเห็นต่างในโลกออนไลน์ เช่น นายปลาวาฬ วรสิทธิ์ อิสสระ เจ้าของศรีพันวา ก็โดนทัวร์ลงเช่นเดียวกับตนที่เคยโดน แต่ตนไม่เคยสนใจเพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นขบวนไอโอการจ้องโจมตีของกลุ่มใด
วันนี้สิ่งที่ได้เห็น นายพิธาสนับสนุนกลุ่มไอลอว์ที่ให้ประชาชนลงชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญประมาณ 1 แสนคน โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ใช่เพียงกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช.เท่านั้น แต่ยังมีปัญหามากมาย นับถอยหลังไปกว่า 40 ปี และให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ตนขอชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญมีการแก้ไขมาโดยตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการปกครองเพื่อความผาสุกของประชาชนในประเทศ
เราเคยมี ส.ว.ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2540 เข้ามาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่ามีการซื้อกิจการธุรกิจการเมืองอย่างที่เห็นในอดีต เช่น ผัว ส.ส. เมีย ส.ว. ไม่ทราบว่านายพิธาเคยอ่านประวัติศาสตร์หรือไม่ ทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาเกิดขึ้นจนมีม็อบลงถนน ปี 2548 คือการเริ่มต้นของการแบ่งสีเสื้อครั้งแรกในประเทศไทย และปี 2549 เกิดการรัฐประหาร เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 เอื้อให้เกิดเผด็จการรัฐสภาได้ง่าย และเอื้อธุรกิจการคอร์รัปชันมากมาย ไม่สามารถตรวจสอบได้
ต่อมาได้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เลือกและแต่งตั้ง ส.ว.อย่างละครึ่ง ปรากฏว่ามีการผลักดันแก้กฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยเข้าสภา ผ่านพิจารณา 3 วาระอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชนลงถนนหลักล้านคนไม่เห็นด้วย ในปี 2557 จนเกิดการรัฐประหาร ตนไม่เข้าใจว่านายพิธาทำอยู่นั้นเป็นการเห็นแก่ตัวหรืออ่านหนังสือน้อยจึงไม่เข้าใจ หรือมีปัญหาทางแนวความคิด ตนไม่คิดว่า นายพิธาติดกระดุมผิด แต่อาจจะใส่เสื้อผิดเพราะไม่มีกระดุม ซึ่งต้องเข้าใจหลักประชาธิปไตยก่อนว่าต้องยอมรับกติกาเสียงข้างมากและไม่ลืมเสียงข้างน้อย แต่นายพิธาลืมเสียงข้างมาก พร้อมผลักดันให้เสียงข้างน้อยโดยพูดข้อมูลเท็จ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มีประชาชนลงประชามติ 16.8 ล้านคน แต่มีคนเพียงหลักแสนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายพิธาจึงมาโหน ถ้าไม่ไช่ทาร์ซานก็คงเป็นนักโต้คลื่นที่อยากสร้างความขัดแย้งให้ประเทศชาติ
วันนี้มีการประชุมร่วม 2 สภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี 6 ร่าง จึงอยากให้นายพิธาได้ใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจะดีกว่า เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าคำว่าปากว่าตาขยิบ โดยนายพิธาเกลียดรัฐประหารเพราะตรงกับวันที่ 19 ก.ย. บิดาเสียชีวิตทำให้ต้องกลับประเทศไทย โดยขอให้นายพิธาต้องลืมความขัดแย้งหากไม่อยากให้เกิดรัฐประหารอีก ดังนั้น นักการเมืองต้องช่วยกันถ้าไม่อยากให้คนอื่นมาแก้ไขปัญหาให้ เนื่องจากเราเคยมีบทเรียนในอดีตแล้ว จึงอยากให้นายพิธาลืมแนวคิดของคณะก้าวหน้า ไม่เช่นนั้นอาจจะได้เห็นคนย้ายพรรคอีก ตนรู้สึกเป็นห่วง ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ทุกคนอยากทำงานเพื่อประชาชนมากกว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร