xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.แค่เริ่มก็แตกคอ เพื่อไทย-ก้าวไกล ฝันคนละทาง!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา



ถือว่าทุกอย่างกำลังเดินมาตามสเต็ป สำหรับความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลบางพรรค และพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องสูญเสียอำนาจ หรือคิดว่าพรรคตัวเองเสียเปรียบจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับปี 2560


ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วก็ยังมองเห็นได้ว่า แต่ละพรรคมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางพรรคก็มีเป้าหมาย “ซ่อนเร้น” ที่ไม่ได้หวังแค่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการใช้สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่าง หรืออย่างน้อยก็เป็นการ “เพาะเชื้อ” เอาไว้ก่อน เพื่อหวังให้เกิดการปะทุขึ้นมาในวันหน้า

ความคืบหน้าล่าสุดสำหรับการเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากพิจารณากันในสภา ก็ต้องเริ่มจากการที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน (เว้นพรรคก้าวไกล) ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติด่วน ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายเพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีเป้าหมายเพื่อให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างฉบับใหม่ทั้งฉบับ

สำหรับพรรคที่ร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว นอกเหนือจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังมีพรรคประชาชาติ เพื่อชาติ เสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย ขณะที่พรรคก้าวไกล แม้ว่าจะมี ส.ส.ของพรรคบางส่วนมาร่วมลงชื่อด้วย แต่ก็มีการถอนชื่อออกไปในภายหลัง

ขั้นตอนหลังจากนี้ ก็เป็นหน้าที่ของ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องตรวจสอบรายชื่อให้ถูกต้องและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ซึ่งถือว่าขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เริ่มขึ้นแล้วในเบื้องต้น แม้ว่าเส้นทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล และยังไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะสำเร็จหรือไม่ หรือเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาอีก นั่นก็คือ จะมีอีกหลายร่าง หลายญัตติ จากหลายพรรค รวมไปถึงญัตติของรัฐบาล ที่จะต้องเสนอเข้ามาประกบ ซึ่งอาจมีการเสนอแก้ไข มาตรา 256 หรือการเสนอญัตติขอแก้ไขเป็นรายมาตรา ก็เป็นได้ ซึ่งกรณีหลังก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะการเสนอแบบนี้ มีโอกาสสำเร็จได้มากกว่า โดยเฉพาะการเสนอในมาตราที่เห็นว่ามีปัญหา หรือมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยที่สังคมส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่า จะต้องมีการแก้ไข โดยพรรคเพื่อไทยแม้ว่าจะยื่นญัตติให้แก้ไข มาตรา 256 เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร. แต่ก็เปิดทางในเรื่องการแก้ไขเป็นรายมาตราไว้เหมือนกัน

แต่น่าจับตาก็คือ นั่นเป็นญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ถือว่าเป็นเสียงข้างน้อย ไม่มีทางสำเร็จหากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก รวมไปถึงเสียงของวุฒิสภา ที่ต้องใช้เสียงของวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 84 เสียง โหวตเห็นชอบด้วย


นอกเหนือจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว ได้รับเสียงสนับสนุนมากว่า 16 ล้านเสียง และตามขั้นตอนที่กำหนดเอาไว้หากมีการแก้ไขก็ต้องมีการลงประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะไฟเขียว หรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการลงประชามติเสียก่อน และขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเสนอเข้าพิจารณาในสภา

ถึงได้บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมันเป็นงานหิน และต้องได้รับความร่วมมือเห็นชอบจากทุกฝ่าย แลมีโอกาสนำไปสู่วิกฤตการเมืองแทบทุกครั้ง คราวนี้ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวจากการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกว่า “ประชาชนปลดแอก”หรือเยาวชนปลดแอก ที่ข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่มุ่งเน้นไปที่ “สถาบันพระมหากษัตริย์” โดยหลายคนมองออกว่า “มีเบื้องหลัง” ที่เป็นไปตามความปรารถนาของ “บางคน” และบางกลุ่ม และทำให้ก่อนหน้านี้ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง จนเกิดกระแสตีกลับ ทำเอาการชุมนุม “รวน” ไปพักหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็มีการกลับมาอยู่ในกรอบ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการขับไล่รัฐบาล เป็นหลัก



อย่างไรก็ดี ท่าทีล่าสุดจากพรรคก้าวไกล ซึ่งในทางการเมืองรับรู้กันว่ายังอยู่ภายใต้การชี้นำของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ยังเน้นย้ำในเรื่องการให้มี ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมไปถึงยังยืนยันต้องมีการแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวกับ “พระมหากษัตริย์” โดยอ้างว่าเป็นการสร้างความมั่นคงในระดับสากลภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยทางพรรคก้าวไกลระบุว่า สาเหตุที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อแก้ไขในญัตติร่วมกับพรรคเพื่อไทย และพรรคฝ่ายค้านอื่นเนื่องจากมีความเห็นแตกต่างในเรื่อง หมวดที่ 1 และ หมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง


ที่น่าจับตาก็คือ การที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องมีเสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 98 คน ซึ่งเวลานี้พรรคก้าวไกล มีเสียงไม่พอแน่นอน ซึ่งต้องรอดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากัน ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เพียงแค่เริ่มต้นก็ “แตกคอ” กันแล้ว และเอาเข้าจริงก็เป็นเพียงการ “แย่งชิงการนำ” สร้างกระแสเพื่อเรียกความนิยมจากสังคมภายนอก และใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ


ขณะเดียวกัน ยังเป็นความพยายามแก้ไขเพื่อให้พรรคตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ เพื่อตัวเองกลับสู่อำนาจ หรือการรักษาอำนาจเท่านั้น ไม่ว่าฝ่ายใดก็ไม่ได้ต่างกัน ขณะที่บางพรรคบางกลุ่มที่รู้ทั้งรู้ว่าการแก้ไขครั้งนี้ตัวเองคงไม่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง แต่เป้าหมายเพียงแค่ทำตาม “ฝันของตัวเอง” นั่นคือ “แซะสถาบัน” ให้สั่นคลอน เหมือนกับตอนนี้ที่เริ่มจุดกระแสในหมู่เยาวชนได้บ้างแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น