xs
xsm
sm
md
lg

“เยาวชนปลดแอก” เตรียมยกระดับการชุมนุม รอมติ ‘ปักหลักพักค้าง-เดินขบวนทั่วกรุงเทพฯ’?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาธิการ “เยาวชนปลดแอก” เผยเตรียมประชุมระดับแกนนำสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดแนวทางยกระดับการชุมนุมในเดือน ก.ย.นี้ ระบุเป็นไปได้หลายรูปแบบ ทั้งรวมตัวปักหลักพักค้าง เดินขบวนทั่วกรุงเทพฯ  ชุมนุมพร้อมกันทั่วประเทศ มาตรการป้องกันรัดกุม ไม่ห่วงความปลอดภัย ขณะที่ “นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์” ชี้หลายปัจจัยอ่อนไหวนำไปสู่ความรุนแรง คนตกงานตบเท้าเข้าร่วมม็อบ ด้าน “ประธานสภาอุตสาหกรรม” เชื่อไม่กระทบเศรษฐกิจ ยกเว้นเกิดนองเลือด

ภาพการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนจำนวนมหาศาลบนถนนราชดำเนิน ที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ถือเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะส่งเสียงไปยังรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ซึ่ง 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ส่วน 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันคือ การมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งประกาศว่าหากรัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง พวกเขาก็พร้อมจะยกระดับการชุมนุม ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าท่ามกลางสถานการณ์อันล่อแหลมอาจมีจุดเปราะบางที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก
นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นกลุ่มแกนหลักในการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล

เปิดเผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนมวลชนนับจากนี้ ว่า หากรัฐบาลยังไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกันในระดับแกนนำเพื่อกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวและแนวทางในการยกระดับการชุมนุมซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ โดยแนวทางในการยกระดับนั้นมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ เดินขบวนทั่วกรุงเทพฯ ชุมนุมพร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าจะเคลื่อนในรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อม ทั้งในเรื่องของคน และทรัพยากรต่างๆ เช่น ห้องน้ำ เครื่องเสียง

“การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีแค่พลังของนักศึกษา ต้องมีภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย ซึ่งในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็มีประชาชนร่วมชุมนุมไม่น้อย จำนวนนักศึกษากับประชาชนน่าจะพอๆ กัน ขณะที่กลุ่มนักเรียนก็เข้ามาร่วมมากขึ้น จากการประเมินสถานการณ์ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล จึงเชื่อว่าการชุมนุมในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้จะมีผู้ชุมนุมที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยมากกว่าวันที่ 16 ส.ค.อย่างแน่นอน” นายทัตเทพ กล่าว

ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายวิตกว่าจะเกิดความรุนแรงในการชุมนุมนั้น เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก ระบุว่า ทางผู้ชุมนุมได้มีการวางมาตรการป้องกันไว้แล้ว โดยเรายึดแนวทางการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ มีมวลชนอาสาที่ช่วยดูแลความปลอดภัย ขณะที่ผู้ชุมนุมเองก็ช่วยกันสอดส่องเพื่อป้องกันไม่ให้มือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์ นอกจากนั้น เรายังมีตำรวจในเครื่องแบบซึ่งเราได้ขอกำลังให้เข้ามาช่วยดูแลทุกครั้งที่มีการชุมนุม

“เชื่อว่าเราชุมนุมอยู่ในหลักการ ไม่มีอาวุธ ไม่มีการปะทะ เพราะฉะนั้นหากจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นย่อมไม่ได้มาจากผู้ชุมนุม หรือหากมีมือที่ 3 ความรับผิดชอบก็ต้องอยู่ที่รัฐบาลเช่นกัน” นายทัตเทพ ระบุ


ขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันนั้นเปราะบางและล่อแหลม แม้แต่การแสดงความเห็นทางวิชาการของอาจารย์หลายๆ ท่านก็ไม่อยากออกตัวเปิดหน้า เพราะอาจสร้างความไม่พอใจให้ทั้งภาครัฐและนักศึกษาที่กำลังมีอารมณ์คุกรุ่น

สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไหวในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นโดยส่วนตัวในฐานะที่เคยผ่านประสบการณ์ในการชุมนุมทางการเมืองมาก่อนเห็นว่าจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องความรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่นำไปสู่ความอ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้มีประชาชนมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลมากขึ้น ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนนักศึกษาเป็นกลุ่มที่เปราะบางในการควบคุมอารมณ์ จึงต้องระมัดระวังการกระทบกระทั่งซึ่งอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง ดังนั้น ผู้จัดการชุมนุมต้องระมัดระวังสิ่งเร้าที่จะเข้ามากระตุ้นให้เกิดการกระทบกระทั่ง อีกทั้งพื้นที่จัดการชุมนุมต้องไม่อยู่ใกล้กับกลุ่มที่มีความเห็นต่าง และชุมนุมอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ต้องจัดพื้นที่ให้นักศึกษาประชาชนได้แสดงออก ได้รับรู้ข่าวสารข้อเท็จจริง โดยดูแลความปลอดภัย ไม่ให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ความรุนแรง การบังคับใช้กฎหมายในการชุมนุมต้องไม่สร้างความรู้สึกหวาดระแวงหรือทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่าถูกรังแก เพราะจะเป็นชนวนให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรจัดเวทีแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็น ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

“การที่เยาวชนตื่นรู้ทางการเมืองนั้นถือเป็นเรื่องดี แม้จะยังไม่มีประสบการณ์ คือจากประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นเราทำให้รู้ว่ามันอาจจะมีสถานการณ์บางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น อยากให้เยาวชนนิสิตนักศึกษาไปสื่อสารกันในกลุ่มให้ระมัดระวังการแสดงความเห็นที่ไปกระทบจิตใจประชาชน อย่าใช้ถ้อยคำหรือแสดงท่าทีที่ก้าวร้าว ยั่วยุ เพราะอาจเป็นชนวนที่นำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้ความพยายามในการขับเคลื่อนทั้งหมดสูญเปล่า” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุ

การชุมนุมของประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2563
สำหรับปรากฏการณ์ “ชูสามนิ้ว” หลังเคารพธงชาติเพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของนักเรียนระดับมัธยมหลายๆโรงเรียน ซึ่งมีทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเสียงสนับสนุนนั้น นายทัตเทพ มองว่า การแสดงออกของเยาวชนที่จะไม่ยอมจำนนต่อระบบอำนาจนิยมเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นครูที่โรงเรียน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงรัฐบาล ต้องทำความเข้าใจและยอมรับในมุมมองความคิดของเยาวชน การที่ครูหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปลงโทษหรือจัดการกับเด็กที่แสดงออกทางการเมืองด้วยท่าทีรุนแรงจะยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าอำนาจนิยมเป็นระบบที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ดังนั้น ควรเปิดใจรับฟังและพูดคุยกันด้วยเหตุผล

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการติดตามคุกคามเด็กและเยาวชนที่แสดงออกทางการเมือง ซึ่งทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยนั้น คณะกรรมาธิการการเมืองการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชนขึ้นมาดูและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว

ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องต่อนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งมองว่า การที่ครูหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจัดการกับเด็กที่ชู 3 นิ้วนั้นจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองถูกกด แต่การชู 3 นิ้ว ขณะเคารพธงชาติซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ก็อาจจะดูไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ดังนั้น ครูอาจจะพูดคุยทำความเข้าใจกับเด็กโดยจัดพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองแยกออกมาโดยเฉพาะเด็กเองก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียง มีอิสระในการแสดงออก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ดี อีกประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกกันก็คือการชุมนุมยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้ว ซึ่ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

ในมุมมองของนักธุรกิจนั้นการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าการชุมนุมจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งหากชุมนุมโดยไม่ปักหลักพักค้างก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้

“อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าคุยกัน ข้อเรียกร้องอะไรที่ยอมรับกันได้ก็ดำเนินการร่วมกัน ปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคอง” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น