xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” ก้าวล่วง เปิดหน้าชนสถาบันฯ แหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกาศแก้รัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ **อัยการอุ้มกันเอง! ลงมติไม่สอบ “เนตร” ใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีบอส ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตศรัทธาองค์กร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







ข่าวปนคน คนปนข่าว

** “ก้าวไกล” ก้าวล่วง เปิดหน้าชนสถาบันฯ แหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกาศแก้รัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์

ออกอาการทะแม่งๆ ตั้งแต่เมื่อวันก่อนแล้ว ที่ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไปยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ โดยไม่มีตัวแทน “พรรคก้าวไกล” ไปร่วมด้วย ...
กระนั้น “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้านก็พยายามชี้แจงว่า แม้ตัวแทนพรรคก้าวไกลจะไม่ได้มาร่วมในการยื่น แต่ก็ได้ลงชื่อในการเสนอญัตติ ถือว่ามีความเห็นร่วมกัน ...แต่คล้อยหลังจากการยื่นญัตติดังกล่าวไปแล้ว ปรากฏว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ขอถอนชื่อจากการสนับสนุนญัตติ
ในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้แก้ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่ามีการเสนอให้ตัด มาตรา 269-272 ที่เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา และอำนาจของวุฒิสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
แต่นั่นไม่เพียงพอกับความต้องการของ ”พรรคก้าวไกล” ที่ใครๆ ก็รู้ว่ามีสองคู่หู “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นเงาทาบทับอยู่เบื้อง หลัง... พวกเขาต้องการแก้ “หมวด 1 บททั่วไป” และ “หมวด 2 พระมหากษัตริย์” !! ตามที่พวกเขาได้มีการเคลื่อนไหวมาตลอด ทั้งการจัดเวทีเสวนา การเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ จากเครือข่ายที่หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ รวมทั้งล่าสุดในการชุมนุม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่ “จาบจ้วง ล่วงละเมิดสถาบันฯ” จนสร้างความไม่พอใจให้กับสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ขอยก “หมวด 1 บททั่วไป” มาให้ดูสัก 3 มาตรา ที่สำคัญ ...
มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของ ประชาชนโดยรวม
ที่ผ่านมา การแก้รัฐธรรมนูญ หรือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะไม่มีการแตะ หมวด 1 และ หมวด 2 เพราะเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” ที่อาจกระทบต่อความมั่นคง และความเป็นปึกแผ่นของชาติ
อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ก็ระบุไว้ว่า ... “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้”

ปิยบุตร แสงกนกกุล
คงจำกันได้ว่า เมื่อครั้งที่พรรคอนาคตใหม่ ยังไม่ถุกยุบ ได้เดินสายไปจัดเวทีเสวนา ที่ จ.ปัตตานี ในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครั้งนั้น “ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์” อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรฯ เป็นแขกรับเชิญไปร่วมเสวนา ได้เสนอให้แก้ มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ยังถูกสังคมถล่มเละเทะ!!
แล้ววันนี้ “พรรคก้าวไกล” ยังกล้าประกาศ แก้ หมวด 1 หมวด 2 จึงเผยให้เห็นถึงเจตนารมณ์ว่าเป็นการเปิดหน้าชนสถาบันฯ โดยตรง โดยไม่สนใจปฏิกิริยาจากสังคม ที่จะตามมา
พรรคก้าวไกล ส่ง “ณัฐวุฒิ บัวประทุม” ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ออกมาชี้แจง โดยอ้างว่า “ในหมวด 1 มีข้อถกเถียง ที่เคยพูดคุยกัน เช่น อำนาจอธิปไตยเป็นของ หรือ มาจากประชาชนชาวไทย เราไม่อยากให้มีการปิดล็อกในหมวดดังกล่าวไว้ ส่วนหมวดที่ 2 เป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มีการตั้งคำถามว่าถ้าหากมีการแก้ไข และเกรงว่า ส.ส.ร. จะนำข้อความแก้ไขเลยเถิดออกไปตามกรอบที่เราไม่อาจกำหนดได้นั้น ขอเรียนว่า ในหมวดพระมหากษัตริย์ ยังมี มาตรา 255 ที่ระบุไว้อยู่แล้วว่า รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ขณะเดียวกัน จะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ จึงไม่ต้องกังวล”

ณัฐวุฒิ บัวประทุม
ทั้งนี้ การยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีเสียง ส.ส. สนับสนุน 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภาฯ หรือต้องมีอย่างน้อย 98 คน ซึ่ง “พรรคก้าวไกล” มี ส.ส.ไม่ถึงจำนวนดังกล่าว จึงต้องจับตาว่า จะมี ส.ส.จากพรรคใด มาร่วมลงชื่อให้ครบตามจำนวนพอที่จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับก้าวล่วง” นี้ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯได้สำเร็จ แต่สำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันเรื่องนี้ ถือว่าพวกเขาได้เพาะ “ต้นกล้า” ต่อต้านสถาบันฯ ให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพื่อรอให้เติบโตในวันข้างหน้า ...โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ที่ใช้ชีวิตอยู่กับโลกโซเชียลฯ ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ “ชู 3 นิ้ว” ของนักเรียนมัธยมฯ ในระหว่างการเคารพธงชาติ ที่กำลังแพร่ลามอยู่ในขณะนี้
ในทางกลับกัน การเสนอแก้ “หมวดกษัตริย์” ของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ อาจทำให้พวกเขาเดินออกจากบ้านโดยไม่ต้องใส่รองเท้าก็ได้ ... เพราะเดี๋ยวรองเท้าก็จะลอยมาเอง !!



**อัยการอุ้มกันเอง! ลงมติไม่สอบ “เนตร” ใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีบอส ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตศรัทธาองค์กร

เนตร นาคสุข
“”
กรณีที่ “อรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เสนอตั้งคณะอนุกรรมการสอบดุลพินิจ “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้อง วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” เพราะสังคมมีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่หลายปม ซึ่งในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 8/2563 เมือวาน (18 ส.ค.) มีมติเสียงส่วนมาก ไม่เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าว
ในจำนวน ก.อ.15 คน ประกอบด้วย “อรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธานกรรมการอัยการ, “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด รองประธานกรรมการอัยการ, “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด, “สมศักดิ์ ติยะวานิช” รองอัยการสูงสุด, “สาวิตร บุญประสิทธิ์” รองอัยการสูงสุด, “สุริยะ แบ่งส่วน” รองอัยการสูงสุด, “ร.ท.ไชยา เปรมประเสริฐ” รองอัยการสูงสุด กับในส่วน ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิ มี พิมพร โอวาสิทธิ์, ไพรัช วรปาณิ, ประสาน หัตถกรรม, กิตติ ไกรสิงห์, ชาตรี สุวรรณิน, ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม, สิงห์ชัย ทนินซ้อน และ ชาติพงษ์ จีระพันธุ์
ข่าวว่า ผู้เห็นว่า หรือเห็นชอบ ให้ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบ “เนตร” มี 5 คน ประกอบด้วย อรรถพล ประธาน, ชาติพงษ์ จีระพันธุ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ, ไพรัช วรปาณิ, ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี และ ชาตรี สุวรรณิน

วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์
ส่วนอีก 10 คนที่เหลือไม่รวม “เนตร” ที่ต้องออกนอกห้อง เป็นผู้ที่ไม่ออกเสียง และไม่เห็นชอบในการตั้งคณะอนุกรรมการ
พลันที่ผลการลง มติ ก.อ. เผยแพร่ออกมาไม่ต้องถามว่าสังคมรู้สึกอย่างไร มองอย่างไร ? เพราะโซเชียลฯ วิพากษ์วิจารณ์กันขรมทันทีว่า... นี่เป็นพฤติการณ์ของอัยการพวกมากที่ปกป้องพวกพ้องกันเองมากกว่าจะคำนึงถึงสังคมที่กำลังตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของอัยการยุคนี้
ต้องไม่ลืมวา การสั่งไม่ฟ้อง “คดีบอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชน “ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ” เสียชีวิตโดย “เนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด ที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน และเป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ ส่งผลกระทบต่อการศรัทธาความน่าเชื่อถือ และสถานะของอัยการ ต่อประชาชนและสังคมตลอดมา

วรยุทธ อยู่วิทยา
จริงๆ แล้ว หลายๆ ฝ่าย ก็มีการตรวจสอบกัน เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อให้สิ้นสงสัย ตำรวจก็มีคณะตรวจสอบ อัยการเองก็ตั้งกรรมสอบภาพรวมไปก่อนนี้ แม้จะถูๆ ไถๆ ก็ยังนับว่า “มีดีกว่าไม่มี” และขณะนี้ คณะตรวจสอบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น ที่มี “วิชา มหาคุณ” เป็นประธานอีกชุด ที่เป็นความหวังของมหาชน ก็กำลังทำงาน ว่าไปแล้วถ้ามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีนี้ให้ได้ข้อยุติ ย่อมเป็นผลดีต่อองค์กรอัยการ มากกว่าการไม่สอบ “เนตร” เลย และยิ่งเมือ ก.อ. เห็นว่าไม่ควรตั้งอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลมาสอบ “เนตร” โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมมาอธิบายต่อสาธารณชนด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรอัยการไปกันใหญ่
เพียงเพราะคนกลุ่มเดียว อัยการใน ก.อ. ถึงปกป้องกันเองโดยที่ไม่แคร์สังคม ไม่แคร์ความถูกต้องโปร่งใสและยุติธรรม แลกกับการเสียทั้งองค์กร คุ้มแล้วหรือ
นับแต่ “เนตร” สั่งไม่ฟ้อง “คดีบอส” ขณะที่มีพิรุธหลายอย่าง ไม่เห็นเลยหรือว่าได้ทำให้ประชาชนจะรู้สึกว่าอัยการพึ่งพาอาศัยไม่ได้
ในสายตาของประชาชนตอนนี้มองว่า อัยการเป็นองค์กรที่เสื่อมเกินเยียวยาจริงๆ






กำลังโหลดความคิดเห็น