รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ตอน ลาบัลลังก์คดียุบ อนค. เปลี่ยนอำนาจศาล รธน.
ผลการโหวตลับของที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เห็นชอบรายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไป 4 รายชื่อ และไม่เห็นชอบ 1 รายชื่อ ทำให้สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านแผงอำนาจใหม่ในศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะว่า จะมีว่าที่ตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่เข้ามา จำนวน 4 เสียง และจะมีการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ที่จะมาแทน นาย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตอนนี้นับถอยหลังกำลังจะพ้นวาระในอนาคตอันใกล้นี้
ประธานศาลรธน. จะเป็นใครชื่อไหน ที่จะมาคุมแผงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจ บทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเมืองไทย
ประมุขศาลแห่งนี้สำคัญอย่างไร ก็เห็นได้นับตั้งแต่มีศาลรัฐธรมนูญมาร่วม 22 ปี องค์กรนี้ได้ตัดสินคดีชี้เป็นชี้ตาย สร้างจุดพลิกผัน จุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญในวงการการเมืองมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องกระเด็นจากเก้าอี้ ก็หลายคน คือ สมัคร สุนทรเวช ,สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น
สำหรับรายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สี่รายชื่อ จากการปั้มตรารับรองของวุฒิสภา แยกเป็น 3 รายชื่อ ที่มาจากสายตุลาการ ซึ่งถูกคัดเลือกและเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาทั้งหมด ประกอบด้วย
นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา , นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
และอีกหนึ่งชื่อ ส่งมาจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก็ได้รับการโหวตเห็นชอบคือ นาย นพภดล เทพพิทักษ์ เป็นอดีตทูต
ส่วนชื่อที่ถูกตีตก ก็คือ นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่ส่งมาจากศาลปกครองสูงสุด ที่มีเสียงเห็นชอบเพียง52 เสียง แต่มีเสียง ไม่เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของวุฒิสภา คือ 139 เสียง ไม่ออกเสียง 28 เสียง
นายชั่งทอง ปัจจุบันเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นอดีตผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นอดีต ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการยุคแรกๆ หลังมีการใช้พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย 1
กรณีของชั่งทอง พบว่า ศาลปกครองสูงสุด เปิดรับสมัครตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่จะเข้าไปเป็นตุลาการศาลรธน.แต่ปรากฏว่า ไม่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดคนใดมาสมัครเพราะมีการกำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก
จนศาลปกครองสูงสุด ต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เพื่อขอหารือเรื่องการลดสเปกระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดลง ทางด้านกรรมการสรรหาฯ มีมติให้ลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองสูงสุดจากไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 3ปี
การลดสเปกดังกล่าวทำให้มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคุณสมบัติเข้าข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 25 คน ศาลปกครองจึงเปิดรับสมัครอีกรอบ ก็มีเพียงนายชั่งทองไปสมัครคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรธน.ที่มีไปสมัครคนเดียว จนได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดให้ถูกเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรธน.
แต่สุดท้าย วุฒิสภา ก็โหวตไม่เห็นชอบ ด้วยเหตุผลที่สว.ส่วนใหญ่เห็นว่า การลดสเปกการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะเป็นการไปลดคุณสมบัติของคน ที่จะเป็นตุลาการศาลรธน.ลงจากที่กำหนดไว้เดิม
ต้องรอดูว่าเมื่อเรื่องนี้ ถูกส่งกลับไปยังศาลปกครองสูงสุด แล้วมีการเรียกประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด วงประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้งหมดจะมีความเห็นอย่างไร กับมติของวุฒิสภาครั้งนี้?
ส่วนหลังจากนี้ เมื่อว่าที่ตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่ สะสาง เคลียร์เรื่องการลาออกจากราชการ และอะไรต่างๆเรียบร้อยแล้ว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะนัดทั้งสี่คนมาร่วมประชุมเป็นการภายในกับ ตุลาการศาลรธน.ที่ยังไม่พ้นวาระที่มีด้วยกัน 4 คน
คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นายปัญญา อุดชาชน เพื่อเลือกประธานศาล รธน.คนใหม่แทน นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน.
เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาก็จะนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
ขณะนี้เริ่มมีข่าวการจับตามอง แคนดิเดท คนที่อาจจะชิงเก้าอี้ประธานศาลรธน.คนใหม่กันออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ชื่อของ นายวรวิทย์ อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด - ทวีเกียรติ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
หรืออาจจะมาจากสายว่าที่ตุลาการศาลรธน.ทีมใหม่ กลุ่ม 4 คนล่าสุด ที่แวดวงมีการเก็งกันว่า นายอุดม และ นายจิรนิติ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อาจจะสนใจลงชิง
แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ยังเหลือเวลาอีกหลายวัน คาดว่ากระบวนการทั้งหมด จนได้รายชื่อประธานศาลรธน.และมีการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ น่าจะแล้วเสร็จในช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม
จากนั้นเมื่อมีการโปรดเกล้าแล้ว ประธานศาลรธน.คนใหม่และตุลาการศาลรธน.ชุดปัจจุบันที่ยังไม่พ้นวาระสี่คนและชุดใหม่ที่จะเข้าไปรวมเป็น 8 เสียง ก็จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็นตุลาการศาลรธน.แบบฟูลทีมต่อไป
ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ได้นัดอ่านคำตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท วันที่ 21 ก.พ.นี้ คดียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงน่าจะเป็นคดีสุดท้าย ของตุลาการศาลรธน.ชุดปัจจุบันทั้ง 9 คนที่จะได้ร่วมตัดสินคดีร่วมกัน ก่อนที่ห้าตุลาการจะลงจากบัลลังก์ที่นั่งมายาวนาน กว่าหนึ่งทศวรรษ