xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ไฟเขียว 4 ตุลาการศาล รธน.ตีตก “ชั่งทอง” ติงโควตาสายอดีตอธิบดีไม่ครบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุมวุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนเคาะมติเลือก 4 คน ตีตก “ชั่งทอง” ส.ว.ติงโควตาสายอดีตอธิบดี ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ “พรเพชร” อ้างไม่มีอำนาจชี้ขาด ต้องแก้ข้อ กม.ในอนาคต

วันนี้ (11 ก.พ.) ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 วรรคแปด หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รรับการเสนอชื่อที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว.เป็นประธาน กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ ที่ใช้พิจารณารวม 150 วัน ซึ่ง กมธ.ได้ขอขยายเวลาพิจารณารวม 4 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการพิจารณารายงานของการตรวจสอบประวัติฯ และลงมติ ซึ่งใช้เป็นการประชุมและลงคะแนนลับนั้น ส.ว.หารือต่อที่ประชุมเพื่อขอให้ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ชี้แจงรายละเอียดต่อการใช้ระยะเวลาตรวจสอบประวัติ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ที่ใช้ยาวนาน เพื่อให้สังคมเข้าใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และประเด็นที่ตรวจสอบ

สำหรับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา, นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และนายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในข้อมูลเชิงลึก

ทั้งนี้ พล.อ.อู้ดชี้แจงว่า การตรวจสอบประวัติและข้อมูลเชิงลึกนั้นไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เพราะต้องรักษาข้อมูลให้เป็นการพิจารณาแบบลับ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ใช้จำนวนมาก เพราะหลังจากที่ กมธ.ได้รับข้อมูลต้องส่งไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบ ซึ่งระบบราชการมีความล่าช้า โดยเฉพาะการจัดเก็บเอกสารแบบรุ่นโบราณทำให้ใช้เวลาค้นหาข้อมูลตามที่ต้องการใช้เวลาจำนวนมาก การทำงานของ กมธ.สามารถตรวจสอบได้แค่นี้ ตามความยากที่ได้ข่าวสารหรือเนื้อหาต่างๆ ตามต้องการ ตามเวลาที่กำหนด

จากนั้น พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ส.ว. หารือด้วยว่าตนไม่สบายใจที่ พล.อ.อู้ดระบุว่าทำงานได้แค่นี้ เพราะทำให้ประชาชนคิดได้ว่า ส.ว.ที่มีหน้าที่ตรวจสอบประวัติบุคคลนั้นมีเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านเวลา ตนต้องการให้ กมธ.ชี้แจงว่าทำได้เต็มที่เพื่อให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นเป็นที่ยอมรับกับประชาชน ทำให้ พล.อ.อู้ดระบุถอนคำพูดที่ระบุว่าทำได้แค่นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. หารือกับที่ประชุมถึงความไม่สบายใจต่อกรณีโควตาของ 5 บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีโควต้าของบุคคลที่ได้รับการสรรหา มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหนงไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ต้องมี 2 คน แต่กรณีที่เสนอชื่อมีเพียงคนเดียว คือ นายนภดล ดังนั้น ในอนาคตหากมีบุคคลร้องต่อองค์พิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาได้ ซึ่งตนขอให้นายนัฑ ผาสุก เลขาธิการวุฒิสภา ฐานะเลขานุการกรรมการสรรหา ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวด้วย

พล.อ.ต.เฉลิมชัยกล่าวด้วยว่า ตนอ่านรายงานของคณะกรรมการสรรหาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเอียด ไม่พบประเด็นวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นตนมองว่าอาจเป็นเผือกร้อนของประธานวุฒิสภาที่มีหน้าที่นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ​ ถวายแต่งตั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาตนเสนอให้โยกโควตาของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากสายรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งอดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่ามีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี ให้เข้าเงื่อนไขมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากโควตาสายรัฐศาสตร์มีเกินจำนวนที่กำหนด คือ 2 คน ซึ่งมีนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร่วมอยู่ด้วย แต่ พล.อ.อู้ดกล่าวว่า “กรณีที่เสนอไม่อยู่ในอำนาจของ กมธ.”

ด้านนายพรเพชรชี้แจงต่อที่ประชุมด้วยว่า ตนไม่อนุญาตให้ถามเลขาธิการวุฒิสภาในประเด็นดังกล่าว เพราะไม่มีอำนาจให้ตนต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นความรับผิดชอบของตนที่จะนำรายชื่อหลังจากที่วุฒิสภาเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งตามกฎหมายไม่ระบุถึงอำนาจชี้ขาดของประธานวุฒิสภาต้องตีความหรือชี้ขาดตามประเด็นที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัยหารือว่าขาดองค์ประกอบหรือไม่ หรือขัดแย้งกับกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้หากมีการแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายใหม่ ควรเสนอปัญหาเพื่อให้แก้ไขให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ต่อคนที่ปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนข้อกังวลเรื่องโควตานั้นมีประกาศของประธานกรรมการสรรหาที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ยืนยันว่าคำวินิจฉัยของประธานกรรมการสรรหาถือเป็นที่สุด ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2562 ส่วนระยะเวลาที่ใช้ตรวจสอบประวัติจำนวนมากนั้นตนไม่ขอแก้ตัวแทน แต่ กมธ.ได้รับเวลาสรรหาครั้งแรกเพียง 45 วัน ซึ่งน้อยกว่าข้อบังคับที่วุฒิสภาเขียนขึ้นภายหลังว่ากำหนดให้ใช้เวลา 60 วัน

จากนั้นที่ประชุมได้ยุติการหารือและเข้าสู่ขั้นตอนของการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานของ กมธ. ก่อนที่จะให้สมาชิกทำการลงคะแนนลับ โดยผลปรากฏว่านายอุดมได้รับความเห็นชอบ 216 ไม่เห็นชอบ 3 เสียง นายวิรุฬห์ เห็นชอบ 216 ไม่เห็นชอบ 3 เสียง นายจิรนิติ เห็นชอบ 217 ไม่เห็นชอบ 2 เสียง และนายนภดล เห็นชอบ 203 ไม่เห็นชอบ 12 ไม่ออกเสียง 4 เสียง เท่ากับทั้ง 4 คนดังกล่าวได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด จึงได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนนายชั่งทองได้รับความเห็นชอบ 52 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง ไม่ออกเสียง 28 เสียง ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ



กำลังโหลดความคิดเห็น