xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“การบินไทย” เทกออฟแผนฟื้นฟูฯ ขสมก.เขย่าใหม่ ไม่ไหว 7 ปีโละให้เอกชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย [ภาพล่าง] | เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธานคณะกรรมการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. [ภาพบน]
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปักหมุดเริ่มต้นนับหนึ่งหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ “การบินไทย (THAI)” ไปเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยขีดเส้นปลดล็อกภายใน 5 ปี บวกต่อเวลาอีกไม่เกินสองปี จากนี้เจ้าหนี้ก็รอเคลียร์แฮร์คัทตามไทม์ไลน์ในต้นปีหน้า 2564 เอาเป็นว่าสำหรับการบินไทยเริ่มเห็นแสงรำไร เตรียมตัวออกจากเขาวงกตกันเสียที ขณะที่อีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่บักโกรกคือ “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ ขสมก.” ก็กำลังเดินตารอยบินไทย โดย “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่นั่งแท่นประธานคณะกรรมการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ลงมือเขย่าแผนกันใหม่ คาดเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอีกไม่ช้า ฟังว่ามีขู่ฟ่อดๆ เมื่ออุ้มกันสุดๆ ทั้งพักหนี้ทั้งให้กู้เงินเติมทุนแล้วยังไม่ดีขึ้นมีสิทธิ์ถูกโละทิ้งให้เอกชนเข้ามาทำแทนแน่

มาว่ากันถึงเรื่องของการบินไทย ที่อยู่ในสภาพลูกผีลูกคนมาหลายปีดีดักกันเสียก่อน หลังจากเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งระหว่างทางต่างลุ้นระทึกว่าเจ้าหนี้จะคัดค้านไหมและศาลจะตัดสินยังไง เป็นอันว่าศาลเปิดทางให้เดินหน้าต่อไปได้

โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลาง นัดอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ10/2563 ระหว่าง บมจ. การบินไทย ลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน คำร้องฟื้นฟูกิจการของการบินไทยและแต่งตั้งคณะผู้จัดทำแผน ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากใช้เวลาไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย นานเกือบเดือน จากครั้งแรกวันที่ 17 สิงหาคม และนัดไต่สวนเพิ่มเติมอีกสองครั้งในวันที่ 21 สิงหาคม และวันที่ 25 สิงหาคม ตามลำดับ

จากนี้จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นทางการเพื่อให้บินไทยบริหารจัดการภาวะหนี้สินที่อยู่ในสภาพล้นพ้นตัวกว่า 3.32 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากจะปรับโครงสร้างหนี้แล้ว คณะผู้จัดทำแผนยังต้องปรับโครงสร้างกิจการ การบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลพร้อมรับสภาพการแข่งขันเพื่อให้มีรายได้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

 “ผมยืนยันทุกอย่างต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว คาด 5 ปีจะสามารถปลดล็อกได้ เพราะการบินไทยมีความสามารถ มีทรัพยากรที่ดี ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่เจ้าหนี้ต้องยินยอมลดทุนลดหนี้ด้วย การบินไทยมีเจ้าหนี้รายใหญ่อยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการลงทะเบียนยื่นขอชำระหนี้จากเจ้าหนี้แล้วจะเห็นตัวยอดหนี้ที่แท้จริง คาดตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่มาก” นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย กล่าวยืนยัน 

เขายังบอกว่า คณะทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าการเจรจากับเจ้าหนี้จะแล้วเสร็จไม่เกินไตรมาสที่สี่ของปี 2563 และแผนฟื้นฟูกิจการก็จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน จากนั้นคาดว่าศาลล้มละลายกลาง จะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฯ ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 และจะใช้เวลาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างองค์กรตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลฯ เห็นชอบแล้ว ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฯ แต่สามารถขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 1 ปี

 สำหรับคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย บริษัท อีวาย ฯ ร่วมกับกรรมการบริษัทอีก 6 คน คือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร 

ขั้นตอนต่อไปหลังศาลฯมีคำสั่ง คือ กรมบังคับคดี จะแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้จะสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ หรือจะนำเอกสารมาที่ บมจ. การบินไทย สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเว็บไซต์ให้ผู้ถือหุ้นกู้ของการบินไทยสามารถตรวจสอบจำนวนหนี้หุ้นกู้ได้ที่ www.tgbondinfo.com

ส่วนลูกค้าที่ประสงค์ขอเงินค่าบัตรโดยสารคืน (Refund) ซึ่งมีตัวเลขจำนวน 331,996 ราย จะได้รับชำระหนี้ตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ หรือหากต้องการใช้สิทธิเก็บบัตรโดยสารไว้เดินทางกับการบินไทยหรือไทยสมายล์ได้ถึง 31ธันวาคม 2564 หรือจะแลกเป็น Travel Voucher ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนเงินสดในการออกบัตรโดยสารของการบินไทยหรือไทยสมายล์ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นเงื่อนไขเช่นเดียวกันกับลกลุ่มที่ถือบัตรโดยสารแต่ยังไม่ได้เดินทางและยังไม่ได้ขอคืนค่าบัตรโดยสาร

มาย้อนดูประเด็นที่ศาลล้มละลายกลาง วินิจฉัยก่อนมีคำสั่งกัน โดยสรุปคร่าวๆ ประเด็นแรก การบินไทย มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณางบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ลูกหนี้มีหนี้สินทางการเงินมากกว่าสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้

ประเด็นต่อมา มีช่องทางและเหตุผลอันสมควรที่จะฟื้นฟุกิจการหรือไม่ ศาลเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจของการบินไทยมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ ทั้งมีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจ บุคลากรมีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีชื่อเสียง มีประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน สาเหตุที่ขาดทุนไม่ได้มาจากพื้นฐานของธุรกิจ แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ศาลเห็นว่า หากไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการย่อมเกิดความเสียหายทั้งต่อการบินไทย ลูกจ้าง เจ้าหนี้ ผู้ลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ การฟื้นฟูกิจการทำให้การบินไทยดำเนินธุรกิจต่อได้ มีรายได้มาชำระหนี้และรักษาการจ้างงาน มีประโยชน์กว่าปล่อยให้ล้มละลาย

ศาลยังเห็นว่า การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริต และบุคคลที่การบินไทยเสนอ ศาลฯเห็นสมควรเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ

หากพิจารณาจากสัดส่วนมูลหนี้ เจ้าหนี้ส่วนมากราว 100 กว่าราย เช่น เจ้าหนี้สถาบันการเงินภายในและต่างประเทศ ผู้ให้เช่าและเช่าซื้อเครื่องบิน สายการบินคู่ค้า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างคลัง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของการบินไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของจำนวนหนี้ตามงบการเงินไตรมาส 2/2563 ต่างเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ

ส่วนเจ้าหนี้ส่วนน้อยที่คัดค้านแผนมี 15 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1-2% ของมูลหนี้ ซึ่งประเด็นที่คัดค้านตามที่เบิกความต่อศาล เช่น ความน่าเชื่อถือ คุณสมบัติ ความสามารถ ประสบการณ์และค่าตอบแทนของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่การบินไทยเสนอเป็นหนึ่งในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ

อย่างไรก็ตาม นายชาญศิลป์ ยืนยันว่าบริษัท อีวายฯ มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นบริษัทเครือข่ายของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัท BIG4 หรือหนึ่งในสี่ผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับโลกที่มีชื่อเสียงทางด้านการสอบบัญชีและการเงิน และมีสำนักงานเครือข่ายอยู่ทั่วโลก

อนึ่ง ผลประกอบการของการบินไทยครึ่งแรกของปี 2563 (1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563) ขาดทุนมากถึง 28,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 336.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 40,493 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 56.1% ส่วนผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี ไล่เรียงตั้งแต่ปี 2562 ขาดทุนสะสม 1.2 หมื่นล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท และปี 2560 ขาดทุน 2 พันล้านบาท

หากย้อนดู 7 ปี ขาดทุนสะสมต่อเนื่องโดยมีหนี้สินร่วม 3.3 แสนล้านบาท และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การบินไทย แถลงผิดนัดชำระหนี้เงินกู้และหุ้นกู้รวมทั้งหมด 8.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 33.1% ของทรัพย์สินทั้งหมด ปัจจุบัน การบินไทย ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคม อีกต่อไป แต่มีกระทรวงการคลัง ถือครองหุ้นในสัดส่วน 48% จากเดิมที่สายการบินแห่งชาตินี้มีรัฐถือหุ้นเกินครึ่ง นั่นจึงทำให้สหภาพการบินไทย หมดสภาพไปโดยปริยาย

การบินไทย เริ่มมองเห็นทางสว่างจากความมืดมน วนกลับมาดูรัฐวิสาหกิจอีกแห่งคือ ขสมก. ที่แบกหนี้หัวโตมานมนานไม่ต่างกัน ที่ผ่านมามีความพยายามทำแผนฟื้นฟูกิจการมาอย่างต่อเนื่องแต่ยังไปไม่ถึงไหน ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณา รายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) โดย “เสี่ยหนู” นั่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้เคาะแผนฟื้นฟูฉบับใหม่เป็นที่เรียบร้อย

ตามที่ “เสี่ยหนู” เปิดเผยผลประชุม สรุปความได้ว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ตามการเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน จากนี้ก็ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการ ขสมก. หรือบอร์ด ขสมก. ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนตุลาคมนี้

 สาระสำคัญของแผนฟื้นฟูดังกล่าว คือ กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ของ ขสมก. ผู้ค้ำประกันหนี้ให้ ขสมก. 100% นั้น จะพักหนี้สะสมของ ขสมก.ที่มีอยู่ประมาณ 130,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปี เพื่อให้ ขสมก.ดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จ และกลับมาทำกำไรได้ภายใน 7 ปี จากนั้นค่อยกลับมาจ่ายหนี้ต่อ ปลดล็อกข้ออ้างที่ว่าขสมก.หนี้มาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพักหนี้ให้แล้วก็ต้องรอวัดฝีมือผู้บริหาร ขสมก.ว่าจะไปรอดหรือไม่ 

“ถ้าไม่มีภาระหนี้แล้ว ขสมก.ยังไม่สามารถทำกำไรได้อีก ก็อาจต้องพิจารณาแปรรูป ขสมก.ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบัน ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไม่มีเอกชนถือหุ้น จึงเป็นภาระของรัฐบาลในการดูแลแก้ปัญหา การพักหนี้ให้กับ ขสมก. ผมถือว่าเป็นการรีเซ็ตมากกว่าเป็นการหยุดเลือดที่ไหลเพื่อที่จะทำให้ ขสมก.หายใจได้ เพราะหยุดดอกเบี้ยที่เดินอยู่ แล้วหนี้ที่มีอยู่ก็หาทางจัดการ เช่น ทยอยผ่อน ยกหนี้ไปทำให้เป็นระยะยาว อะไรก็แล้วแต่ อยู่ในแผนที่มีการทำมาเสนอ” นายอนุทิน กล่าว

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ขยายความว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยจะนำเสนอ ครม.ให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟู ขสมก. (ฉบับเดิม) แล้วใช้แผนฟื้นฟูฉบับใหม่ โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถให้บริการ (รถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV) จำนวน 1,500 คัน

สำหรับการพักหนี้ ขสมก. ที่ประชุมได้อนุมัติในหลักการให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินของ ขสมก. โดยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของ ขสมก. โดยพิจารณาจากยอดหนี้คงค้างที่รัฐบาลรับภาระ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น แนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกทม.และเส้นทางต่อเนื่อง โดยมีโครงข่ายหลัก 162 เส้นทาง, ให้ ขสมก. มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางใหม่หรือที่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนผู้ประกอบการรายอื่น, กำหนดอัตราค่าโดยสารอัตราเดียว 30 บาทต่อคนต่อวันไม่จำกัดจำนวนเที่ยว โดยปรับเพิ่มลดในอนาคตตามสถานการณ์

ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 อนุมัติให้ให้ ขสมก.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 7,895 ล้านบาท มีกระทรวงคลัง เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ โดยตัวเลขประมาณการเงินสดรายรับรายจ่ายของ ขสมก. ประจำปีงบประมาณ 2564 มีดังนี้ ประมาณการรายรับเงินสด 9,579 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายเงินสด 42,665 ล้านบาท ส่งผลให้ติดลบ 33,085 ล้านบาท การกู้เงินของ ขสมก.เพื่อใช้เป็นเงินสดหมุนเวียนและมีสภาพคล่องเพียงพอให้บริการ แยกเป็นใช้ชำระค่าเชื้อเพลิง 3,219 ล้านบาท ชำระค่าเหมาซ่อม 1,642 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่อง 3,033 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ครม. เคยมีมติอนุมัติให้ ขสมก.กู้เงินรวมๆ แล้วตกประมาณ 70,502 ล้านบาท สำหรับหนี้สินค้างชำระของ ขสมก. ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 มีทั้งสิ้น 122,102 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจาก ขสมก. เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริงและไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้ตามสภาวการณ์

รอเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงชัดๆ ที่จะเกิดขึ้นหากแผนฟื้นฟูฯ นี้ผ่านครม.คือ ต่อไปจะมีรถ ขสมก.โฉมใหม่ ทั้งรถเอ็นจีวีและรถไฟฟ้าแทนรถเก่าปุโรทั่งตั้งแต่ปีมะโว้ควันดำก่อมลพิษท่วมเมืองกรุง แต่รถใหม่ก็มาพร้อมค่าโดยสารใหม่ซึ่งคุ้มไม่คุ้มขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการโดยสารของแต่ละบุคคล เรื่องนี้ ขสมก.ต้องทำเซอร์เวย์การตลาดเจาะลึกพฤติกรรมผู้ใช้บริการเพื่อตอบโจทย์นี้

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ตั้งข้อสังเกตให้ ขสมก.พิจารณาแผนฟื้นฟูฯ ให้ชัดเจนในประเด็นการเช่ารถเมล์ไฟฟ้าปรับอากาศจากเอกชนมาเดินรถและใช้พนักงานขสมก.เป็นผู้ขับซึ่งต้องวางแผนเมื่อพนักงานเกษียณอายุ ส่วนการจ้างเอกชนวิ่งให้บริการในเส้นทางอื่นๆ ขสมก. ต้องพิจารณาเรื่องของต้นทุนว่าเหมาะสมสอดคล้องกันหรือไม่ รายได้กับรายจ่ายจะต้องสัมพันธ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุนในอนาคต

สำหรับแผนฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่นี้ สหภาพแรงงานฯ ขสมก.ไม่ขัด ชัดเจนดีแล้วว่าจะมาช่วยฟื้นชีพ ก่อนนี้ที่ค้านในประเด็นการจ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน ใน 54 เส้นทาง ที่เคยหวั่นๆ กันก่อนหน้าว่าจะมาทับซ้อนเส้นทางก็เคลียร์แล้วว่า เป็นเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการจากคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งเป็นเส้นทางคนละส่วนกับที่ ขสมก.เดินรถ 108 เส้นทาง ไม่ได้ทับซ้อนกันแต่จะทำให้การเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางของประชาชนมีความสะดวกกับประชาชน และอัตราค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวัน สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนได้

 เป็นอันว่านับจากนี้ทั้งบินไทยและขสมก.มีลุ้นเริ่มเดินหน้ากันไปต่อ 


กำลังโหลดความคิดเห็น