xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้เป็นจริง!!! แผนฟื้นฟู ขสมก.ยกระดับคุณภาพชีวิต-ลดค่าครองชีพให้ประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใกล้เป็นจริงแล้ว...สำหรับอนาคตรถเมล์ไทย ที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิม ลบภาพที่คุ้นชินของคนเมืองกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น “รถเมล์” ที่มีสภาพรถชำรุด ทรุดโทรม เนื่องจากมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ครั้นจะซ่อมบำรุงนั้น ก็มีราคาสูง เป็นเหตุให้รถเมล์บางคัน จึงต้องจอดเสียไม่สามารถซ่อมได้ และส่งผลให้มีจำนวนรถไม่เพียงพ่อ ต่อการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงในท้ายที่สุด

รวมไปถึงเป็นองค์กรที่มีหนี้สะสมหลักแสนล้าน จนต้องเข้าสู่การฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญ การฟื้นฟูในครั้งนี้ จะนำไปสู่การไม่เป็นภาระของภาครัฐที่จะต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี สามารถนำเงินไปพัฒนาอย่างอื่นได้ และเป็นการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะในราคาแบบเหมาจ่ายต่อวัน

ล่าสุด เรื่องดังกล่าวเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ถือฤกษ์ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม

งานประชุมครั้งดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ นำโดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเป็นประธาน พร้อมผนึกกำลังร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบแผนดังกล่าวและให้นำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ต.ค.นี้

เมื่อเปิดดูรายละเอียดของแผนฟื้นฟู ขสมก. พบสาระสำคัญที่น่าสนใจ กล่าวคือ กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ของ ขสมก.จะพักหนี้สะสมของ ขสมก.ที่มีอยู่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า ขสมก.จะต้องสามารถฟื้นฟูกิจการและกลับมาทำกำไรได้ภายใน 7 ปี โดยการดำเนินการในรูปแบบนี้เนื่องจาก ขสมก.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไม่ได้มีเอกชนเข้ามาถือหุ้น ดังนั้นจึงเป็นภาระของรัฐบาลในการเข้ามาดูแลแก้ปัญหาตรงนี้ และเจ้าหนี้ของ ขสมก.ก็คือ กระทรวงการคลัง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ค้ำประกันหนี้ให้กับ ขสมก.ทั้ง 100%

โดยแผนการฟื้นฟูครั้งดังกล่าว กำหนดว่าจะให้กระทรวงการคลังพักหนี้ให้กับ ขสมก.เป็นระยะเวลา 7 ปี เพื่อให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จ แล้วกลับมาจ่ายหนี้ได้ แผนนี้จะทำให้ ขสมก.สามารถกลับมาทำกำไรได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ จะยังสามารถใช้เงื่อนไขในแผนนี้ในการประเมินประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ขสมก.ได้ เพราะที่ผ่านมา ขสมก.อ้างว่าการมีภาระหนี้มากทำให้องค์กรไม่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งจะมีการประเมินผลการทำงานและวัดผลการทำงานของผู้บริหาร ขสมก.เป็นระยะหลังจากที่ ครม.อนุมัติแผนฟื้นฟูและการพักหนี้ให้แล้ว หากไม่มีภาระหนี้แล้วไม่สามารถทำกำไรได้ก็อาจจะต้องพิจารณาแปรรูป ขสมก.ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

สำหรับแผนฟื้นฟูครั้งนี้ ถือเป็นการรีเซตและหยุดเลือดให้กับ ขสมก.ดำเนินกิจการต่อไปได้ ในส่วนของการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะการจัดหารถเมล์ใหม่ จำนวน 2,511 คัน จะต้องดูศักยภาพก่อน แต่ต่อจากนี้ไปภาครัฐ และ ขสมก.จะไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่จะใช้วิธีเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถ ซึ่งเงินลงทุนก็ให้เป็นภาระของเอกชนไป ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นภาระกับ ขสมก. อีก แต่หลักการของการจัดหารถใหม่จะต้องเป็นรถปรับอากาศเท่านั้น และจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน

“ศักดิ์สยาม” ในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม และกำกับดูแล ขสมก. ออกมาระบุว่า การประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. นั้น ขสมก.ได้ชี้แจงประเด็นคำถามกระทรวงการคลัง 7 ข้อ เพื่อความมั่นใจในการดำเนินการแผนฟื้นฟูได้สำเร็จ ซึ่งคลังต้องการข้อมูลการดำเนินการของ ขสมก.แต่ละปี เพื่อจะใช้เป็นตัวชี้วัด (KPI) และประเมินผลว่า ขสมก.สามารถทำได้จริงตามแผนที่เสนอ ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม และ ขสมก.มั่นใจว่าใน 7 ปีผลการดำเนินงานของ ขสมก.จะมีกำไรจากการดำเนินงาน (Ebitda) เป็นบวก

ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ขสมก.จะปรับรูปแบบการเดินรถโดยจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง โดยมีโครงข่ายหลักจำนวน 162 เส้นทาง อัตราค่าโดยสารแบบเหมาไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง 30 บาท/วัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการกว่า 95% มีการเดินทางไกลและต้องจ่ายค่าโดยสารสูงกว่า 30 บาทต่อวัน ขณะที่เส้นทางของรถเอกชนร่วมบริการจำนวน 54 เส้นทางนั้นเอกชนจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน รับจ้าง ขสมก.วิ่งตามระยะทาง เก็บค่าโดยสาร 30 บาท ประชาชนก็จะได้ประโยชน์

เมื่อมาสะท้อนความเห็นต่อแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับใหม่ โดยเฉพาะเรื่อง ราคา 30 บาท/คน/วันนั้น นางสาวปนัดดา ประสิทธิเมกุล ประชาชนที่ใช้รถเมล์ ออกมาสนับสนุนแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ที่กำหนดเหมาจ่าย 30 บาท/คน/วัน เพราะระยะทางของการวิ่งจะสั้นลง เพื่อให้ไม่ทับซ้อนเส้นทาง พนักงานขับรถไม่เครียด เป็นค่าใช้จ่ายที่พอรับได้ หากซื้อตั๋วเดือน ตั๋วนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สูงอายุ จะได้ส่วนลดลงไปอีก รถที่ใช้บริการประชาชนก็เป็นรถใหม่ ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โลกร้อนขึ้นไปทุกวัน หากได้ใช้รถเมล์แอร์ จะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

ด้าน นายกรวิชญ์ ขวัญอารีย์ แอดมินเพจเมล์เดย์ (Mayday) ยอดผู้ติดตาม 7.4 หมื่นคน มีมุมมองเรื่องแผนฟื้นฟู โดยยืนยันว่าเป็นผู้ใช้บริการรถเมล์มาตั้งแต่ความจำได้ และปัจจุบันยังใช้บริการอยู่ มองว่าแผนฟื้นฟูฉบับใหม่มีเรื่องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วยการควบคุมราคาค่าโดยสารสูงสุดให้ไม่เกิน 30 บาท/วัน จะแบ่งเบาค่าใช้จ่ายผู้โดยสารได้ดีขึ้น แต่ถ้าผู้โดยสารต้องต่อรถมากขึ้น วิธีนี้อาจจะทำให้ผู้โดยสารเสียเวลามากขึ้น และ ‘เวลา’ ก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งในชีวิตของผู้โดยสาร ถ้าหากค่าโดยสาร 30 บาท/วัน ไม่สามารถต่อรองให้ใช้ร่วมกับรถเอกชนได้ จะยิ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้โดยสาร ทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินและเวลาที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ นายอาทิตย์ ฤทธิณรงค์ นิติกรชำนาญการ กองกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า เห็นด้วยกับนโยบาย 30 บาท/คน/วัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคาดหวังว่า ผู้บริโภคจะได้รับคุณภาพการบริการที่ดีมีมาตรฐาน และครอบคลุมเครือข่ายการเดินทางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

... อีกไม่นานเกินรอที่การฟื้นฟูกิจการ ขสมก. จะเริ่มขึ้น นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม ที่ทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีหนี้สะสมมายาวนาน จะปลดล็อกและกลับมายืนได้ด้วยตัวเองเพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ








กำลังโหลดความคิดเห็น