"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ช่วงเวลานี้ ข่าวลือรัฐประหาร แพร่กระจายไปแทบทุกวงการ จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลหลายฝ่าย การประเมินสถานการณ์รัฐประหารมีแนววิเคราะห์ ๒ แนวหลัก คือ แนวหนึ่งประเมินว่าจะมีการรัฐประหารภายในเดือนกันยายนอย่างแน่นอน ส่วนอีกแนวหนึ่งเห็นต่างออกไป ประเมินว่าไม่มีการรัฐประหาร
ฝ่ายที่มีการประเมินว่ามีการรัฐประหารให้เหตุผลว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในขณะนี้กำลังเดินไปถึงทางตัน ไม่มีทางออกภายในระบอบรัฐสภา ประกอบกับการชุมนุมเคลื่อนไหวของนักศึกษามีการยกระดับประเด็นที่เรียกกันว่าทะลุเพดาน หรือก้าวข้ามข้อเสนอเดิมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบการเมืองในรัฐสภาไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทำให้กลุ่มอำนาจในกองทัพสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารได้
สำหรับช่วงเวลาของการทำรัฐประหาร ผู้ที่ประเมินว่าจะมีการรัฐประหารแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเห็นว่าจะมีการทำรัฐประหารก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน เหตุผลหลักคือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชุมนุมในวันที่ ๑๙ กันยายนเกิดขึ้น เพราะว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวแกนนำที่จัดชุมนุมได้ประกาศชัดว่าเป็นการชุมนุมเพื่อ “ทวงอำนาจคืนราษฎร” โดยการนำประเด็น ๑๐ ข้อที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเคยเสนอเมื่อวันที่ ๑๐สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิตมาขยายความ ทั้งยังมีการกำหนดให้เป็นการชุมนุมแบบปักหลักค้างคืนและในวันรุ่งขึ้นจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันต่อไป
ด้วยประเด็นและแนวทางการเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงมีการประเมินกันว่า ฝ่ายอำนาจรัฐคงต้องยับยั้งไม่ให้การชุมนุมเกิดขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า หากมีการชุมนุมเกิดขึ้นก็จะมีการผลิตข้อมูลข่าวสารและทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันสูงสุดอย่างรุนแรง
กลุ่มที่ ๒ ประเมินว่า การรัฐประหารอาจเกิดภายหลังวันที่ ๑๙ กันยายน โดยปล่อยให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นก่อน และหลังจากนั้นก็จะมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงตามมาจากฝ่ายต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหรือจากกลุ่มอำนาจที่ซ่อนเร้น เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นนักรัฐประหารก็จะใช้เป็นเงื่อนไขในการทำรัฐประหารได้ และให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องทำรัฐประหารเพื่อรักษาและปกป้องสถาบันสูงสุดและสร้างความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามนอกจากเงื่อนไขภายนอกที่มีผลต่อการรัฐประหารแล้ว เงื่อนไขภายในกองทัพก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ การทำรัฐประหารให้สำเร็จได้ต้องนำโดยผู้บัญชาการทหารบกและกองทัพต้องมีความเป็นเอกภาพ ทั้งสองเงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นขาดไม่ได้ หากขาดเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ก็มีโอกาสสูงที่ทำให้การรัฐประหารล้มเหลว และผู้นำการรัฐประหารก็จะกลายเป็นกบฏไปทันที ดังนั้นผู้ที่ประเมินว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นก็ต้องมีความเชื่อว่ากองทัพในยุคปัจจุบันต้องพร้อมด้วยเงื่อนไขดังกล่าว
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ประเมินว่าจะมีการรัฐประหารหยิบยกขึ้นมาก็คือ คณะรัฐประหารมีความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์หลังการรัฐประหารได้อย่างมีประสิทธิผลดังที่เคยทำได้ทุกครั้งในอดีต โดยดำเนินการจับกุมและคุมขังแกนนำคนสำคัญของกลุ่มเคลื่อนไหวทั้งหมด ดังที่ คสช. เคยกระทำกับบรรดาแกนนำการเคลื่อนไหวในปี ๒๕๕๗ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายโอกาสและความเป็นไปได้ที่แกนนำเหล่านั้นจะเคลื่อนไหวนำมวลชนออกมาต่อต้านการรัฐประหาร และยังประเมินว่า การต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเองและมาจากจิตสำนึกร่วมของประชาชนเพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะแม้ว่าคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่จิตสำนึกทางการเมืองยังไม่เข้มข้นเพียงพอที่จะสร้างความกล้าหาญให้ออกมาต่อต้านและท้าทายกองกำลังติดอาวุธอย่างเปิดเผยโดยพร้อมเพรียงกัน
สำหรับแนววิเคราะห์ที่ ๒ ซึ่งประเมินว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายน มีเหตุผลที่สำคัญอย่างน้อย ๔ ประการ คือ ประการแรก มองว่าการเมืองในปัจจุบันยังไม่ถึงทางตัน แม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองทั้งภายนอกและภายในรัฐสภา แต่ถึงที่สุดแล้วรัฐสภาก็สามารถดูดซับความขัดแย้งให้จำกัดขอบเขตได้ และยังมีทางเลือกทางการเมืองอีกหลายทางที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งให้ลดลงได้ ซึ่งในขณะนี้ก็มีพัฒนาการของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็ที่มีแนวโน้มยอมรับให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เริ่มมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วนออกมาสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งในเรื่องการจัดตั้ง ส.ส.ร. และการยอมตัดอำนาจตนเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากกลไกรัฐสภาสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นการลดเงื่อนไขการรัฐประหารได้ในระดับหนึ่ง
ประการที่สอง แม้ว่าการชุมนุมของนักศึกษาจะขยายตัวและมีการยกระดับประเด็นการเคลื่อนไหว แต่เป็นการชุมนุมอย่างสันติ จำกัดวงและระยะเวลาการชุมนุมแต่ละครั้งเป็นไปอย่างสั้น ๆ พลังของการชุมนุมส่งผลกระทบต่อการเมืองและสังคมในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในระดับความคิด แต่หากเปรียบเทียบผลกระทบของการชุมนุมของนักศึกษาครั้งนี้กับการชุมนุมในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผลกระทบและความรุนแรงของการชุมนุมครั้งนี้ถือได้ว่ายังต่ำกว่าอดีตอยู่พอสมควร และแม้ว่าบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนักศึกษาพยายามจัดตั้งกลุ่มเพื่อออกมาต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษา แต่ก็เพียงกลุ่มเล็ก ๆ และมีข้อจำกัดในการขยายตัวเพราะขาดการยอมรับจากสังคม การต่อต้านคัดค้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษามีแนวโน้มจำกัดขอบเขตในอยู่ในการแสดงความคิดเห็นทางสังคมออนไลน์ สื่อมวลชน และการออกแถลงการณ์คัดค้านเป็นหลัก ส่วนการจัดชุมนุมในท้องถนนเพื่อต่อต้านนั้นก็เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีคนเข้าร่วมน้อยมาก ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการปะทะระหว่างมวลชนจนเกิดเป็นจลาจลจึงมีค่อนข้างน้อย และนักรัฐประหารก็ไม่สามารถเข้ามาฉวยโอกาสได้
ประการที่สาม สมรรถนะและเอกภาพของกองทัพในปัจจุบัน มีการประเมินว่า นายพลบางคนที่เป็นผู้นำกองทัพปัจจุบันมีบารมีภายในกองทัพค่อนข้างน้อย การสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับรองลงมาเคลื่อนกำลังเพื่อรัฐประหารจึงอาจไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งกองกำลังหลักที่เคยใช้ในการรัฐประหารหลายหน่วยได้ถูกย้ายไปยังต่างจังหวัด ทำให้การเคลื่อนกำลังยากขึ้น และที่สำคัญคือกองทัพมีการแบ่งเป็นฝักฝ่าย ไม่เป็นเอกภาพดังในอดีต ดังนั้นหากกลุ่มอำนาจใดก่อการรัฐประหารขึ้นมา ก็อาจถูกอีกกลุ่มอำนาจที่อญุ่คนละฝ่ายก่อการรัฐประหารซ้อนขึ้นมาก็ได้
ประการที่สี่ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการต่อต้านต้านการรัฐประหารอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งมาจากสองเงื่อนไข อย่างแรกคือ กลุ่มเคลื่อนไหวในปัจจุบันมีโครงสร้างแบบเครือข่ายซึ่งการนำไม่ได้ขึ้นอยู่กับศูนย์กลางอีกต่อไป หากแต่มีการกระจายตัวอย่างหลากหลาย ดังนั้นการจัดการกับบรรดาผู้ต่อต้านอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังในอดีตจะไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป แม้ว่าแกนนำบางส่วนถูกจับกุม แต่ก็จะเกิดแกนนำใหม่เข้ามาทดแทนอย่างต่อเนื่อง อย่างที่สองกลุ่มที่เป็นกำลังหลักของการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีจิตสำนึกเกี่ยวกับเสรีภาพสูงและมีความกล้าหาญมากกว่าคนรุ่นเก่า โอกาสที่กลุ่มเยาวชนจะออกมาต่อต้านและท้าทายการรัฐประหารจึงมีความเป็นไปได้สูงมาก ภายใต้สถานการณ์แบบนี้อาจส่งผลให้กลุ่มอำนาจในกองทัพ ต้องคิดอย่างหนักหน่วงและไม่กล้าทำรัฐประหาร
หากบรรดานายพลที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหารใช้การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล โดยประเมินผลกระทบของการรัฐประหารต่อประเทศอย่างรอบด้านทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผมคิดว่าพวกเขาจะตัดสินใจไม่ทำรัฐประหาร แต่ถ้าหากว่าพวกเขายังยึดติดกับกรอบคิดเดิมที่มุ่งหวังอำนาจและมองแต่เพียงผลประโยชน์ระยะสั้น พวกเขาก็อาจตัดสินใจรัฐประหารได้ และหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง ผมประเมินว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบหลาย ๆ เรื่องของประเทศนี้ ซึ่งอาจเป็นอะไรที่เราคาดไม่ถึงมาก่อนก็ได้