“อดีตรองอธิการบดี” ถามแรง ผู้บริหาร มธ. รับผิดชอบไหวหรือไม่ หากม็อบ “หมิ่นสถาบัน”? จี้ เผยข้อตกลง 3 ฝ่าย “รุ้ง-เพนกวิน” เล่นเกมเสี่ยง “19-20 ก.ย.” “ค้างคืน-บุกทำเนียบ” “ทอน” กร้าว นำคณะก้าวหน้า “สู้ รัฐประหาร”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (9 ก.ย. 63) เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“อีก 10 วัน ก็จะถึงวันที่กลุ่มประชาชนปลดแอก ประกาศว่าจะจัดการชุมนุมใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่ที่มีความขลัง และเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับบทเรียนมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อมีการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ครั้งนี้จึงมีการเตรียมการวางเกณฑ์การอนุญาตให้มีการจัดชุมนุมทางการเมือง ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยออกเป็นประกาศ ที่อธิการบดีเป็นผู้ลงนาม และผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย
ประกาศฉบับนี้ลงวันที่ 3 กันยายน 2563 สาระสำคัญของประกาศ คือ ผู้จัดจะต้องเป็นกลุ่มกิจกรรมที่สังกัดมหาวิทยาลัย หรือคณะ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นกลุ่มกิจกรรมที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง ตามข้อบังคับว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากเป็นกลุ่มอิสระ หรือกลุ่มเฉพาะกิจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่ม “เถื่อน” ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ การขออนุญาต ต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาลงนามรับรอง
เกณฑ์ข้อที่สำคัญคือ ให้นักศึกษาผู้จัด ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ และมหาวิทยาลัย ทำข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย โดยจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร เกี่ยวกับเนื้อหา และการแสดงออก ให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และยังให้มีมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้การจัดการชุมนุมเป็นไปตามข้อตกลงด้วย
นับว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้วางเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้สถานที่ได้รัดกุมพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามที่ขอฝากให้ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณาดังนี้
1. แกนนำการชุมนุมประกาศว่า จะจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนที่มหาวิยาลัยจะมีประกาศเรื่องเกณฑ์การขออนุญาตดังกล่าวข้างต้น แสดงว่า ผู้จัดยังไม่ได้ยื่นหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ต่อมหาวิทยาลัย ณ วันประกาศต่อสาธารณะ
ในขณะที่ การจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ได้สร้างปัญหาอย่างมากมายแก่มหาวิทยาลัย การประกาศต่อสาธารณะว่าจะมีการชุมนุม ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะอนุญาต เป็นการไม่ให้เกียรติและไม่ยี่หระต่อมหาวิทยาลัย ใช่หรือไม่
2. หากผู้จัด ขออนุญาตในนามกลุ่มกิจกรรมที่เป็นกลุ่ม “เถื่อน” ซึ่งปกติจะไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เช่นนั้นแล้ว ใครบ้างที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยยอมรับให้ลงนามรับรองได้
3. ต้องไม่ลืมว่า แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่ต้องการให้บังคับใช้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ยังไม่ได้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้แต่อย่างใด ดังนั้น ต้องถือว่ากฎหมายมาตรานี้ยังมีอยู่
คำถามคือ หากผู้จัดระบุว่า เนื้อหาการปราศรัยจะมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มหาวิทยาลัยยังจะอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยหรือไม่
4. หากผู้จัดระบุว่า จะไม่มีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือระบุว่า จะมีการพาดพิงแต่จะไม่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เมื่อขึ้นเวทีจริงๆ กลับมีคำพูดที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดเจน หากเป็นเช่นนี้ แล้วมาตรการที่เหมาะสมคืออะไร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ หรือจะบอกว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยครั้งนี้ ไม่ทราบว่า ณ วันนี้ ได้มีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อมหาวิทยาลัยแล้วหรือไม่
หากมีการยื่นหนังสือขออนุญาตแล้ว ไม่ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะอนุญาตหรือไม่ ก็น่าจะเปิดเผยให้สาธารณชนได้ทราบ และหากอนุญาต ก็น่าจะเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลง 3 ฝ่ายให้ทราบด้วย
ไม่ว่ารายละเอียดข้อตกลงจะเป็นอย่างไร ผู้จัดได้แสดงความมั่นใจว่า ในวันที่ 19 กันยายน จะมีคนเข้าร่วมชุมนุมอย่างล้นหลาม และให้ข่าวว่า จะมีการ “พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน”
และยังประกาศจะยึดสนามหลวงให้เป็นสนามของประชาชนอีกด้วย
ดังนั้น เชื่อขนมกินได้เลยว่า การพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องมีแน่นอน เพราะนั่นคือเจตนารมณ์ของเขา
ครั้งนี้ เห็นทีท่านอธิการบดี จะต้องเตรียมตัวรับมือด้วยตนเอง แล้วละครับ
ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจากเฟสบุ๊ก Harirak Sutabutr”
ขณะเดียวกัน ที่หน้าตึกโดม ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน”, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง”, นายณัฐชนน ไพโรจน์ และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” ในฐานะคณะประชาชนปลดแอก ร่วมกันแถลงข่าวถึงการนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย.นี้ ว่า
1. ทางแนวร่วมจะจัดการชุมนุมใหญ่ ใช้ชื่อว่า “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ในวันที่ 19 กันยายนนี้ เรียกรวมพลตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป โดยทางแนวร่วมเลือกใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพราะพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของขบวนการประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน จนถือว่าเป็นป้อมปราการของประชาธิปไตย
2. หากมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากจนพื้นที่มหาวิทยาลัยแออัด อาจมีการเคลื่อนขบวนเข้าใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นการถัดไป ทั้งนี้ในอดีตสนามหลวงถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้ในการจัดการชุมนุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ มาโตยตลอด จึงถือเป็นการยึดสนามหลวงคืนประชาชนไปในตัว นอกจากนี้ ยังอาจมีการปิดถนนราชดำเนินกลางเพื่อใช้เป็นพื้นที่ศิลปะและทำกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย โดยรายละเอียดอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
3. การชุมนุมดังกล่าวจะมีการชุมนุมปักหลักค้างคืน โดยกิจกรรมต่างๆ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 14.00 น.ไปจนถึงรุ่งเช้า และจะมีการเดินขบวนต่อต้านเผด็จการไปยังทำเนียบในวันที่ 20 กันยายน 2563 โดยจะเริ่มเคลื่อนขบวนตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป
สำหรับการชุมนุมในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญ โดยจะสำเร็จได้ด้วยพลังของพี่น้องประชาชน ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป
และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า เผยว่า เช้านี้ที่ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถ.ราชดำเนินกลาง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวขณะไปร่วมงานบรรจุอัฐิญาติวีรชนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ว่า
วันนี้ เรามาร่วมกันบรรจุอัฐิของวีรชนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เข้าสู่อนุสาวรีย์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เป็นบทเรียนให้กับเราแล้วว่า การทำรัฐประหารไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น การทำรัฐประหารปี 2534 นำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 การทำรัฐประหาร 2549 นำมาซึ่งเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การรัฐประหารแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เพราะถ้ามันทำได้ประเทศคงพัฒนาไปไกลแล้ว
ดังนั้น ต้องกลับมาเชื่อมั่นในพลังประชาชน เชื่อมั่นในการแสวงหาทางออกให้สังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และถ้าเราแสวงหาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐประหาร ไม่จำเป็นต้องพึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอก เราประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เราประชาชนร่วมแสวงหาทางออกให้สังคมได้โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
“วิธีการได้มาซึ่งทางออกนั้น คือ การจัดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่ นี่คือ ทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ เพราะรัฐธรรมนูญคือข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของสังคมว่าคนไทยทั้งสังคม เราอยากจะอยู่ร่วมกันแบบไหน อยากจะเติบโตสร้างอนาคตแบบไหน ภายใต้กฎกติกาอย่างไร อำนาจจะถูกจัดสรรปันส่วนในสถาบันการเมืองต่างๆ อย่างไร วันนี้เราไม่มีข้อตกลงนี้ ข้อตกลงเพื่อที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ อย่างไม่ต้องใช้การทำรัฐประหารแก้ปัญหา
เราต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับด้วยกัน แต่ปัญหาก็คือ การจะมีรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับนั้นได้มายากเหลือเกิน มีแต่การลุกขึ้นเรียกร้องของพี่น้องประชาชนเท่านั้น รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มาจากการหยิบยื่นให้ของอภิสิทธิ์ชน แต่มาจากการต่อสู้อย่างแข็งขันของประชาชน”
ธนาธร กล่าวอีกว่า ในสภาไม่ได้มีเจตจำนงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผลักดันมาถึงจุดนี้ได้มาจากการเรียกร้องของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนข้างนอกสภา ถ้าปล่อยให้กระบวนการกลไกรัฐสภาดำเนินไป ไม่มีทางได้แก้รัฐธรรมนูญ ในฐานะที่มีโอกาสได้ไปทำงานในสภา ได้พูดคุยกับ ส.ส. พรรคการเมืองต่างๆ ก็รู้สึกได้ว่าไม่ได้มีเจตจำนงเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญจะทำได้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง นี่คืออนาคตของพวกคุณ ถ้าคุณไม่เรียกร้องแล้ว ไม่มีใครเรียกร้องให้ หลายคนเป็นห่วงเรื่องความรุนแรงสำหรับการชุมนุม ถามว่าจะเกิดความรุนแรงได้อย่างไร เพราะถ้าคิดกลับกัน ความรุนแรงถ้าจะเกิดขึ้นก็มาจากเจ้าหน้าที่รัฐจากฝ่ายความมั่นคง ต้องถามกลับไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ ถามกลับไปที่รัฐบาลมากกว่าว่า จะยอมให้มีการชุมนุมอย่างสงบเกิดขึ้นได้หรือไม่...
ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวลือรัฐประหาร นายธนาธร กล่าวว่า ผู้มีอำนาจคงต้องคิดหนัก เพราะประชาชนคงไม่ยอม และ #คณะก้าวหน้า เราก็พร้อมจะออกมาต่อสู้หากเกิดการทำรัฐประหารขึ้น”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การเล่นเกมเสี่ยงของม็อบ “19 กันยาฯ” กรณีจัดม็อบค้างคืน รวมถึงการเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพราะจากบทเรียนที่ผ่านมา ถ้าไม่มีการจัดการม็อบที่ดี และมีประสบการณ์ในการนำม็อบ โอกาสที่จะไม่สามารถดูแลม็อบได้ จนนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน มีความเป็นไปได้สูง
เพราะต้องไม่ลืมว่า ม็อบธรรมศาสตร์และการชุมนุม จุดประเด็นอะไรเอาไว้ “10 ข้อ” เมื่อครั้งก่อน และย่อมมีฝ่ายที่ไม่พอใจอย่างมาก พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์เข้าใส่ได้อยู่แล้ว หรือไม่ก็เกิดการปะทะกันด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจไม่ใช่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจดูแลไม่ทั่วถึง รวมทั้งอาจไม่ใช่ฝ่ายตรงข้าม หากแต่เป็น “มือที่สาม” ที่ต้องการสร้างสถานการณ์ นี่คือ ความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
ส่วน ประเด็นที่ “อดีตรองอธิการบดี มธ.” หยิบยกขึ้นมา ถามผู้บริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า การจัดม็อบครั้งนี้มีแนวร่วมหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็ไม่แน่ว่า จะสามารถควบคุมดูแลมวลชนของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน” ซึ่งเป็นประเด็นที่สุ่มเสียง และหมิ่นสถาบันได้ง่าย เพราะด้วยช่วงวัยที่กำลังห้าว และมีอารมณ์ร่วมกับการชุมนุม อะไรก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ถึงขั้นนี้ หากใครที่ยังเห็นว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น ก็นับว่าโลกสวยเกินไปแล้ว เพราะอย่าลืม ม็อบที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะม็อบทำไม ว่ามั้ย!?