ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ผมได้อ่านเอกสารทุกหน้า และรู้สึกว่าสิ่งที่ได้อ่าน เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากสำหรับประเทศไทย …เราต้องไม่ปล่อยให้คนหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม โดยใช้วิธีถ่วงเวลาให้หมดอายุความ และผมถือว่า การปล่อยให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่เลวร้ายด้วยเหมือนกัน ... ผมเห็นชัดเจนว่า อาจจะมีบางคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส หรือใช้จริยธรรมและศีลธรรมนำทางเท่าใดนัก เพราะฉะนั้น ผมจะสั่งการให้เริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่หรือบุคคล ที่อาจจะเกี่ยวข้องทำให้เกิดความไม่ถูกต้องในกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งจากปฏิบัติหน้าที่ หรือการไม่ปฏิบัติหน้าที่
“ผมขอให้ทุกคนจำกรณีนี้ เรื่องนี้ มี 2 ผู้เสียหาย ผู้เสียหายคนแรก คือ ตำรวจดีๆ ท่านหนึ่ง ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงเช้ามืดของวันนั้น ส่วนอีกหนึ่งผู้เสียหาย ก็คือ ประเทศไทยของเราทั้งหมด เพราะวิธีการดำเนินคดีในกรณีนี้ ได้ส่งผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรง กับพื้นฐานที่สำคัญของสังคม 2 อย่าง นั่นคือ ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อระบบยุติธรรม และความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อการบังคับใช้กฎหมาย”
นั่นคือส่วนหนึ่งที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกเล่าความรู้สึกหลังอ่านผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีสั่งไม่ฟ้อง “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” โดยคณะของ “นายวิชา มหาคุณ” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563
เมื่อถอดรหัสจากคำกล่าวของ “ลุงตู่” จะพบว่ามี 2 ประเด็นที่จะต้องติดตาม
ประเด็นแรก คือจะต้องมีการชำระสะสางและดำเนินคดีกับ “ทุกคน” ที่ “ลากถ่วง” คดีและอาศัยกระบวนการทางกฎหมายช่วยให้นายวรยุทธพ้นผิด ซึ่งแน่นอนว่า เกี่ยวพันกับ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” และ “สำนักงานอัยการสูงสุด” โดยจะต้องมี “ตำรวจ-อดีตตำรวจ” แล “อัยการ” ถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมถึงใครก็ตามที่ทำให้กระบวนการผิดไปจากทิศทางที่ถูกที่ควร
ประเด็นที่สอง ก็คือ ต้องมีกระบวนการ “ปฏิรูป” หน่วยงาน ระเบียบหรือกฎหมายที่มีช่องว่างจนทำให้สามารถช่วยให้นายวรยุทธพ้นผิด ทั้งกระบวนการร้องขอความเป็นธรรม กระบวนการสืบสวนสอบสวนคดี กระบวนการใช้อำนาจในการสั่งคดี หลักเกณฑ์การมอบอำนาจในการสั่งไม่ฟ้อง ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และจำต้องอาศัยระยะเวลาในการทำงานพอสมควร
คำถามก็คือ จะลงโทษได้มากน้อยแค่ไหน จะถึงขั้นไล่ออกจากราชการ ต้องติดคุกติดตะราง หรือเป็นเพียงแค่สถานเบาเท่านั้น โดยเฉพาะ “เครือข่ายใหญ่” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าอยู่เบื้องหลังการให้ความช่วยเหลือ “บอส”
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารสรุปผลการตรวจสอบคณะของอาจารย์วิชาพบว่า มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของ เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการดําเนินคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย
ดังนั้น คณะกรรมการจึงเสนอให้เริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้องในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
นอกจากนี้ จะต้องมีการดําเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมในขบวนการนี้ ซึ่งประกอบด้วย พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสํานวน พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ ทนายความซึ่งกระทําผิดกฎหมายพยานซึ่งให้การเป็นเท็จ และตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทําผิดกฎหมายดังกล่าว
แม้ในเอกสารดังกล่าวจะไม่ได้ระบุชื่อผู้ที่ร่วมในขบวนการไว้ชัดเจน แต่ “อาจารย์วิชา” ก็ได้สรุปเป็นชื่อย่อ พร้อมตำแหน่งของบุคคลที่กระทำการอัน “น่าอับอาย” ไว้ให้ ... อาทิ พันตำรวจโท ว., พลอากาศโท จ., นาย จ., นาย น. และ นาย ช. เป็นต้น
แน่นอนว่า หากผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ก็จะรู้ว่าบรรดาชื่อย่อเหล่านี้เป็น “ใคร” เพราะตามขั้นตอนของคดี ก็จะเริ่มที่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ...ต่อมาอัยการสั่งฟ้องคดี ...แต่ “บอส-วรยุทธ” ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.กฎหมายฯ สนช. จากนั้นก็มีการรื้อสำนวน สอบเพิ่มเติม มีประจักษ์พยานใหม่เข้ามา และมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถขณะเกิดเหตุ จากนั้นส่งสำนวนกลับไปให้อัยการ และ อัยการสั่งไม่ฟ้อง
อย่างไรก็ดี ประเด็น “สำคัญที่สุด” นอกเหนือจากความพยายามในการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดําเนินคดีเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากเกิดเหตุ ก็คือ การที่คณะทำงานระบุเอาไว้ชัดเจนว่า
“..มีบุคคลจํานวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดให้รองศาสตราจารย์ ส.ได้พบกับพันตํารวจโท ธ. เพื่อนําเสนอวิธีการคํานวณความเร็วใหม่และมีการสอบปากคําพันตํารวจโท ธ.ภายใต้การกํากับของพนักงานอัยการไม่ทราบชื่อเพื่อจัดทําพยานหลักฐานเท็จ โดยแก้ไขวันที่สอบปากคําให้เป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 2 มีนาคม 2559 สําหรับใช้ในการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการและต่อคณะกรรมาธิการในเวลาต่อมา ...”
คำถามมีอยู่ว่า “บุคคลจำนวนหนึ่ง” นั้นประกอบไปด้วยใครบ้าง เพราะชัดเจนว่า บุคคลเหล่านั้น “กดดันหรือใช้อิทธิพลบังคับ ให้พันตํารวจโท ธ. ให้การเปลี่ยนความเห็นในเรื่องความเร็วของรถผู้ต้องหาในขณะที่ชนผู้ตายจาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่ปรากฏในรายงานการพิสูจน์หลักฐานครั้งแรกเป็นความเร็วที่ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับผลการคํานวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. ซึ่งได้มีการตระเตรียมกันไว้ล่วงหน้า โดยไม่ให้โอกาสพันตํารวจโท ธ. ตรวจสอบวิธีการคํานวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. อย่างรอบคอบ แม้ว่าในเวลาต่อมาพันตํารวจโท ธ. จะพยายามขอยกเลิกคําให้การ ภายหลังจากที่ได้ทําการตรวจสอบอย่างรอบคอบจนพบความผิดพลาดของวิธีการคํานวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. แต่ได้รับการปฏิเสธจากพันตํารวจโท ว.โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนส่งสํานวนคดีให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว”
ความน่าสนใจของประเด็นนี้อยู่ตรงที่ “การแก้ไขวันที่สอบปากคําให้เป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 2 มีนาคม 2559” ซึ่งคณะสอบสวนของอาจารย์วิชาสรุปชัดว่า “เป็นเท็จ” ด้วยเหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นในวันที่ 29 ก.พ.2559
ตรงนี้ ทำให้ประหวัดไปนึกหนึ่งอีกหนึ่งตัวละครสำคัญซึ่งเป็น “นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ให้การว่าเป็นผู้กดดันให้ทำหลักฐานเท็จ และ “บิ๊กตำรวจ” รายนี้ก็เคยเดินทางมาให้การต่อคณะกรรมการชุดของนายวิชาและปฏิเสธความเกี่ยวข้องโดยอ้างว่า ไม่ได้อยู่ประเทศไทยในห้วงเวลานั้น
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่า พันตำรวจโท ธ.ซึ่งถูกเสนอให้กันเอาไว้เป็น “พยาน” ได้มอบ “หลักฐาน” สำคัญคือ “เทปบันทึกเสียง” การสนทนาในวันนั้นต่อคณะกรรมการ ซึ่งสามารถชี้ขัดได้ว่า ใครอยู่ในห้องและมีบทบาทอย่างไรในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะ “อ๊อด อ๊อด” รวมถึง “ทนายความของบอสและพนักงานอัยการ” ที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องรูปคดี
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ส.ซึ่งถูกกันไว้เป็นพยานอีกคนหนึ่งก็มอบหลักฐานที่สำคัญเอาไว้เช่นกัน โดยเป็น “ภาพถ่าย” ที่เห็นตัวเขาเองปรากฏร่วมกับ “บิ๊กตำรวจ” ในวันดังกล่าว
“อ๊อด อ๊อด” ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ เพราะถ้าไม่มีเขากระบวนการช่วยเหลือบอสก็จะไม่มีวันสำเร็จ
“อ๊อด อ๊อด” ถือเป็น “จิ๊กซอว์” ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึง “กมธ.ยุค สนช.” ซึ่งนำไปสู่การร้องขอความเป็นธรรม
และ “อ๊อด อ๊อด” มีความเกี่ยวพันกับ Deep State และ “เครือข่ายใหญ่” อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ส่วนอัยการที่ปรากฏในวันนั้น ยังไม่แน่ชัดว่า เป็นใคร แต่มีรายงานใน “สำนักข่าวอิศรา” ระบุว่า พนักงานอัยการรายนี้เป็นบุคคลที่รู้จักกันในหมู่พนักงานอัยการและเคยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีดัง เช่น คดีฆาตกรรมนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์และยังปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับจำเลยในคดีดังที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ใจกลางกรุง
สำหรับรายเอียดสำคัญอื่นๆ ที่จำต้องขยายความก็คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “นาย น.” เพราะคณะทำงานสรุปเอาไว้ชัดเจนว่า “การใช้อํานาจในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม และต่อมา การสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาของนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เป็นการใช้อํานาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษเพราะเหตุของการเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมและรับฟังเฉพาะพลอากาศโท จ. และ นาย จ. ซึ่งเป็นพยานเคยถูกสอบไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า มิใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด”
พลอากาศโท จ.เป็นเครือข่ายของ “เด็กดอน” ที่รู้จักกันดีกับ “แม่ของบอส” ส่วนนาย จ.ก็เป็นพยานที่เสียชีวิตไปแล้ว และมีความเชื่อมโยงกับอดีต ส.ว.คนดังของเมืองเชียงใหม่
นาย น. เชื่อคําพยานพลอากาศโท จ. เพียงเพราะเป็นข้าราชการระดับสูง แต่กลับไม่เชื่อเหตุผลและดุลพินิจของอดีตอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดที่สั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมในทุกครั้งก่อนหน้า อีกทั้งไม่นําพาต่อความเห็นและเหตุผลของพนักงานอัยการผู้ทําความเห็นชั้นต้นที่เสนอให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรม ที่สอดคล้องกับเหตุผลการยุติความเป็นธรรมทั้งสิบสามครั้งก่อนหน้า
นอกจากนี้ แม้นาย น. จะได้รับมอบอํานาจจากอัยการสูงสุดให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม แต่ อัยการสูงสุดในฐานะผู้มอบอํานาจจะต้องกํากับ ติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอํานาจ และให้มีอํานาจแนะนําและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอํานาจได้ แม้อัยการสูงสุดจะอ้างว่าการมอบอํานาจ ให้นาย น. เป็นการมอบอํานาจขาด และได้ทราบเรื่องการสั่งไม่ฟ้องคดีของนาย น. จากการรายงานของสื่อมวลชน แต่อัยการสูงสุดในฐานะผู้มอบอํานาจไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในการกํากับการปฏิบัติหน้าที่ของนาย น. รองอัยการสูงสุดผู้รับมอบอํานาจได้
ขณะที่ในฝ่าย “ตำรวจ” หลังคณะทำงานชุด “อาจารย์วิชา” สรุปการสอบสวนก็ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า การดำเนินการทางวินัยกับตำรวจ 11 คนแรก ได้ส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2559 ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องกลับมาว่าเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้ ตร. ลงโทษ ส่วน 10 คนหลังที่เจอ จะตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย หากพบเป็นคดีอาญา จะต้องส่งไป ป.ป.ช. ขณะที่ 11 คนแรก หากพบมีความผิดใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง ก็จะส่งให้กองวินัย พิจารณาลงทัณฑ์ และหากพบความผิดเกี่ยวกับมาตรา 157 ก็ต้องส่ง ป.ป.ช. ตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เห็นควรให้จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการสอบสวน เนื่องจากผู้กระทำความผิดอยู่ในหลายสังกัด ส่วนพิจารณาความบกพร่องของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ส่งเรื่องให้กองวินัยตั้งกรรมการสอบวินัย ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พล.ต.ท.เพิ่มพูน เกี่ยวข้องหรือมีความผิด แต่เพื่อพิจารณาในข้อเท็จจริงส่วนที่เกี่ยวข้อง
ส่วนเมื่อถูกถามถึงกรณี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.ที่ถูกพาดพิงว่าเป็นคนพานายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม มาพบ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ (สบ4) ไปพบพนักงานสอบสวน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ พล.ต.อ.สมยศ ไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจ ไม่สามารถเรียก พล.ต.อ.สมยศ มาให้การได้ ซึ่งในเอกสารแถลงข่าวของนายวิชา ไม่ได้ระบุชื่อ พล.ต.อ.สมยศ ระบุเพียงว่า นายตำรวจระดับสูงเท่านั้น
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว จะสามารถลาก “คนผิด” มาลงโทษได้จริงหรือไม่ อย่างไร.