xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายละเอียดขบวนการสมคบคิดอุ้ม “บอส” ชี้ชัดรอง อสส.ทำผิด-รอง ผบ.ตร.บกพร่อง เสนอฟันคน 8 กลุ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (1 ก.ย.) นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส อยู่วิทยา แถลงข่าวภายหลังคณะกรรมการดำเนินการครบ 30 วัน พร้อมเผยแพร่เอกสารสรุปผลการตรวจสอบมีรายละเอียดดังนี้


บทสรุป รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคําสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน


คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคําสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ใน ความสนใจของประชาชน (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “คณะกรรมการ”) ได้ดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินคดีอาญาต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้ต้องหา”) แล้ว พบว่า มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการดําเนินคดีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย

ในชั้นการสอบสวน จากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่แสดงปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด และบ่งชี้สารเสพติดในร่างกาย รายงานการตรวจพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับความเร็วของรถในขณะเกิดเหตุ ตลอดจนความพยายามอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย คณะกรรมการเชื่อว่าผู้ต้องหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ ดาบตํารวจ วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สถานีตํารวจนครบาลทองหล่อ ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 การที่ผู้ต้องหาไม่หยุดรถในทันทีหลังจากชนผู้ตาย แต่กลับพาร่างผู้ตายไปไกลกว่า 60 เมตร และลากจักรยานยนต์ของผู้ตายไปไกลกว่า 160 เมตร ทําให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาน่าจะกระทําความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพราะวิสัยวิญญูชนเมื่อขับรถชนคนหรือสิ่งใดแล้วย่อมต้องหยุดรถทันที่เพื่อตรวจสอบความเสียหายหรือให้ความช่วยเหลือ แต่ผู้ต้องหา หาทําเช่นนั้นไม่

ความพยายามในการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดําเนินคดีเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากเกิดเหตุ โดยสารวัตรปราบปราม สถานีตํารวจนครบาลทองหล่อ ได้สร้างพยานหลักฐานเท็จโดยการนําตัวลูกจ้างของครอบครัวอยู่วิทยามามอบตัวรับสมอ้างว่าเป็นผู้ขับรถ แม้ต่อมาในวันเดียวกันผู้ต้องหายอมจํานนมามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนกลับให้การภาคเสธ โดยอ้างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความผิดของผู้ตาย และผู้ต้องหาเพิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว ข้ออ้างอันเป็นเท็จนี้เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาอันเป็นเท็จและไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ตายซึ่งตายในทันทีหลังจากถูกชนว่า เป็นผู้ต้องหาร่วม ทั้งที่การตั้งข้อหาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีชีวิตอยู่และได้แจ้งข้อหาให้แก่ผู้นั้น อันน่าเชื่อว่า การตั้งข้อหาอันเป็นเท็จและไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้เกิดจากการวางแผนของพนักงานสอบสวน และทีมทนายความของผู้ต้องหา โดยกล่าวหาผู้ตายว่าประมาทด้วยเพื่อทําให้รูปคดีเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาพ้นผิด

แม้ว่าในเวลาต่อมา พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาผู้ต้องหาจํานวน 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาขับรถขณะมึนเมาสุรา ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกําหนด ข้อหาขับรถโดยประมาททําให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย ข้อหาขับรถแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่กลับไม่ตั้งข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษทั้งที่มีการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์พบสารแปลกปลอมในร่างกายของผู้ต้องหาที่เชื่อมโยงกับการเสพโคเคนและการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ในข้อหาขับรถขณะเมาสุราพนักงานสอบสวนก็ได้รับฟังความเห็นของพยานฝ่ายผู้ต้องหาซึ่งขัดแย้งกับผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์มาเป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องคดี พฤติการณ์ดังกล่าวนี้น่าเชื่อว่าเป็นความพยายามในการช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ศาลพิพากษาลงโทษจําคุกโดยไม่รอลงอาญา และทําให้รูปคดีเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาพ้นผิด

ในคดีนี้ ได้มีการสอบสวนคดีจนเสร็จสิ้นและมีความเห็นทางคดีในวันที่ 1 มีนาคม 2556 และได้ส่งสํานวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการในวันที่ 4 มีนาคม 2556 จึงเป็นการส่งสํานวนการสอบสวนที่ล่าช้าเกินกําหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีการนําตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาลก่อนครบกําหนดปล่อยตัวชั่วคราว

ในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการ คณะกรรมการ พบว่า ระบบการร้องขอความเป็นธรรมภายใต้ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 เปิดช่องให้ฝ่ายผู้ต้องหาใช้เป็นเครื่องมือในการประวิงคดีโดยผู้ต้องหาไม่ต้องยื่นคําร้องด้วยตนเองและทําให้คดีขาดอายุความ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานอัยการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหาได้อย่างไม่มีข้อจํากัดในเหตุและจํานวนครั้ง ทั้งยังอนุญาตให้มีการกลับความเห็น หรือคําสั่งฟ้องในคดีอาญาซึ่งสั่งไปแล้วได้

ในคดีนี้ การร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบดังกล่าวจึงถูกใช้เป็นกลไกในการประวิงคดี และเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษตามกฎหมายโดยความร่วมมือของผู้ต้องหา ทีมทนายความ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลทั่วไป โดยปรากฏว่า มีการยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเป็นจํานวนถึง 14 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557 ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2559 ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 และครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 โดยตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่ 13 อัยการสูงสุด หรือรองอัยการสูงสุดที่มีอํานาจสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้ง ได้สั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมหลังจากที่ได้มีการสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม และได้มีการดําเนินการสอบสวนและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ การร้องขอความเป็นธรรมกลับเป็นผลสําเร็จในการร้องขอครั้งที่ 14 จากการพิจารณาเพียงพยานหลักฐานเดิมที่ได้เคยมีการพิจารณาไปแล้วและเห็นว่ามีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือในการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมในหลายครั้งก่อนหน้า โดยเฉพาะอัยการสูงสุดรวมถึงรองอัยการสูงสุดหลายคนได้พิจารณาพยานหลักฐานชุดนี้แล้ว และมีคําสั่งให้ยุติเรื่องไปก่อนหน้านั้นหลายครั้งหลายครา

การร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไปในการแทรกแซงกระบวนการ ยุติธรรมในคดีนี้ ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า มีบุคคลจํานวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดให้รองศาสตราจารย์ ส.ได้พบกับพันตํารวจโท ธ. เพื่อนําเสนอวิธีการคํานวณความเร็วใหม่และมีการสอบปากคําพันตํารวจโท ธ.ภายใต้การกํากับของพนักงานอัยการไม่ทราบชื่อเพื่อจัดทําพยานหลักฐานเท็จ โดยแก้ไขวันที่สอบปากคําให้เป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 2 มีนาคม 2559 สําหรับใช้ในการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการและต่อคณะกรรมาธิการในเวลาต่อมา โดยการกดดันหรือใช้อิทธิพลบังคับ ให้พันตํารวจโท ธ. ให้การเปลี่ยนความเห็นในเรื่องความเร็วของรถผู้ต้องหาในขณะที่ชนผู้ตายจาก 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่ปรากฏในรายงานการพิสูจน์หลักฐานครั้งแรกเป็นความเร็วที่ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับผลการคํานวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. ซึ่งได้มีการตระเตรียมกันไว้ล่วงหน้า โดยไม่ให้โอกาสพันตํารวจโท ธ. ตรวจสอบวิธีการคํานวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. อย่างรอบคอบ แม้ว่าในเวลาต่อมาพันตํารวจโท ธ. จะพยายามขอยกเลิกคําให้การ ภายหลังจากที่ได้ทําการตรวจสอบอย่างรอบคอบจนพบความผิดพลาดของวิธีการคํานวณความเร็วรถของรองศาสตราจารย์ ส. แต่ได้รับการปฏิเสธจากพันตํารวจโท ว.โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนส่งสํานวนคดีให้พนักงานอัยการพิจารณาแล้ว อนึ่ง การลงวันที่อันเป็นเท็จดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นไปเพื่อกันบุคคลบางคนให้ออกจากเรื่องนี้ และเพื่อให้การคํานวณความเร็วรถใหม่ใช้เวลาตามควรเพื่อให้น่าเชื่อถือ การร่วมมือระหว่างทนายความ ผู้ต้องหา ตํารวจชั้นผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการดังกล่าว ย่อมทําให้ การสอบสวนเป็นการสอบสวนที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการใช้พยานหลักฐานเท็จในการร้องขอความเป็นธรรม ยังไม่ประสบความสําเร็จ ผู้ต้องหา ทีมทนายความ และกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือ ผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษ ได้ใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันกระบวนการยุติธรรม โดยการร้องขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 กับคณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยข้าราชการ ทหาร ตํารวจระดับสูง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 กรรมาธิการบางคนได้ให้ความเห็นและอ้างพยานหลักฐานเท็จเกี่ยวกับความเร็วรถของผู้ต้องหาที่ตนมีส่วนจัดให้มีการจัดทําขึ้น เพื่อสนับสนุนการร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหา ความพยายามนี้สอดรับกับแนวทางการทํางานและผลสรุปของคณะทํางานที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมและมีกรรมาธิการบางคนเป็นประธานคณะทํางาน แม้ว่ากรรมาธิการหลายคนไม่ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการดําเนินการในลักษณะที่ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม แต่กรรมาธิการผู้นั้นได้ไปเป็นพยานและให้ปากคําสนับสนุนข้ออ้างของผู้ต้องหาในการสอบสวนเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ด้วย

แม้ว่าการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจะไม่ประสบความสําเร็จ ในช่วง 13 ครั้งแรก ฝ่ายผู้ต้องหาก็ยังไม่ลดละความพยายามในการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ โดยใช้พยานหลักฐานเท็จอีก โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ทนายความผู้รับมอบอํานาจจากผู้ต้องหาได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ขอให้สอบปากคําเพิ่มเติม พลอากาศโท จ. หรือนาย จ. ในประเด็นความเร็วของรถในขณะที่ผู้ต้องหาขับขี่รถยนต์ว่าขับขี่ด้วยความเร็วเท่าใดและในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาร้องขอความเป็นธรรมโดยพนักงานอัยการตามลําดับชั้นนั้น อัยการอาวุโส สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีร้องขอความเป็นธรรม 2 ทําความเห็นให้มีการสอบเพิ่มเติม พลอากาศโท จ. นาย จ. พันตํารวจโท ธ. รองศาสตราจารย์ ส. รวมทั้งให้พิจารณารายงานการประชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 47/2559 ในขณะที่อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สํานักงานกิจการอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีร้องขอความเป็นธรรม 2 ทําความเห็นให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องขอความเป็นธรรมเสนอไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันสําคัญที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็น และคําสั่งเดิมได้ ประกอบกับการที่ผู้ต้องหาเคยร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาหลายครั้งอาจเชื่อได้ว่าเป็นการประวิงคดี และผู้ต้องหาซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีมิได้มาร้องขอความเป็นธรรมด้วยตัวเอง ความเห็นนี้ได้รับการสนับสนุนโดยอัยการพิเศษฝ่าย สํานักงานคดีเยาวชนและครอบครัว รักษาการในตําแหน่งรองอธิบดีอัยการ สํานักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีอัยการสํานักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด รักษาการในตําแหน่งอธิบดีอัยการ สํานักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด กลับมีความเห็นคล้อยตามกับความเห็นของอัยการผู้ทําความเห็นชั้นต้น

นาย น. อธิบดีอัยการ สํานักงานคดีศาลสูง รักษาการในตําแหน่งรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีความเห็นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ให้มีการสอบพยานเพิ่มเติม โดยเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมเฉพาะพลอากาศโท จ. และนาย จ. เท่านั้น ซึ่งพยานทั้งสองปากนี้เคยถูกสอบ ไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า โดยที่ผู้พิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้ง อันได้แก่รองอัยการสูงสุดหรืออัยการสูงสุดได้เคยพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ ภายหลังที่อธิบดีอัยการ สํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้มีการสั่งให้พนักงานสอบสวนทําการ สอบปากคําเพิ่มตามคําสั่งของนาย น. และนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีคําสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาเดียวที่เหลืออยู่ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563

คณะกรรมการเห็นว่า การใช้อํานาจในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม และต่อมา การสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาของนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เป็น การใช้อํานาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษเพราะเหตุของการเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมและรับฟังเฉพาะพลอากาศโท จ. และ นาย จ. ซึ่งเป็นพยานเคยถูกสอบไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า มิใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด นอกจากนั้น ผู้พิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้งอันได้แก่ รองอัยการสูงสุดหรือ อัยการสูงสุดได้เคยพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ และนาย น. เชื่อคําพยานพลอากาศโท จ. เพียงเพราะเป็นข้าราชการระดับสูง แต่กลับไม่เชื่อเหตุผลและดุลพินิจของอดีตอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดที่สั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมในทุกครั้งก่อนหน้า อีกทั้งไม่นําพาต่อความเห็นและเหตุผลของพนักงานอัยการผู้ทําความเห็นชั้นต้นที่เสนอให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรม ที่สอดคล้องกับเหตุผลการยุติความเป็นธรรมทั้งสิบสามครั้งก่อนหน้า การใช้อํานาจสั่งไม่ฟ้องของนาย น. จึงอยู่บนพยานหลักฐานเก่าที่ได้มีการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง เป็นการกลับดุลพินิจอันเป็นความเห็นของอดีตผู้บังคับบัญชาและอดีตรองอัยการสูงสุดซึ่งทําหน้าที่มาก่อนตนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนัยคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2559 ซึ่งวินิจฉัยว่า การใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการต้องอยู่บนรากฐานและอยู่ในกรอบของความสมเหตุสมผล ถึงแม้ว่าพนักงานอัยการจะมีอิสระในการใช้ดุลพินิจเพื่อใช้ในการชั่งน้ําหนักพยานหลักฐาน กลั่นกรองคดี แต่ย่อมเป็นความมีอิสระที่มีกรอบของความชอบด้วยกฎหมายและขอบเขตของความสมเหตุสมผล เป็นเหตุผลที่สามารถชี้แจงได้

นอกจากนี้ แม้นาย น. จะได้รับมอบอํานาจจากอัยการสูงสุดให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดในการสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรม แต่ตามมาตรา 19 และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 และข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยการรักษาราชการแทน การปฏิบัติราชการแทน การรักษาการแทนในตําแหน่งของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2554 อัยการสูงสุดในฐานะผู้มอบอํานาจจะต้องกํากับ ติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอํานาจ และให้มีอํานาจแนะนําและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอํานาจได้ แม้อัยการสูงสุดจะอ้างว่าการมอบอํานาจ ให้นาย น. เป็นการมอบอํานาจขาด และได้ทราบเรื่องการสั่งไม่ฟ้องคดีของนาย น. จากการรายงานของสื่อมวลชน แต่อัยการสูงสุดในฐานะผู้มอบอํานาจไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในการกํากับการปฏิบัติหน้าที่ของนาย น. รองอัยการสูงสุดผู้รับมอบอํานาจได้ การอ้างความไม่รู้ไม่เป็นข้อแก้ตัว และไม่น่าเชื่อถือ เหตุเพราะการดําเนินคดีกับผู้ต้องหาอยู่ในความสนใจของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีการร้องขอความเป็นธรรมมาแล้วถึง 14 ครั้ง และในการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 อัยการสูงสุดในขณะนั้นได้เรียกสํานวนคดีร้องขอความเป็นธรรมและสํานวนคดีอาญามาพิจารณาสั่งการด้วยตนเองเพราะเห็นว่าคดีอยู่ในความสนใจของสาธารณชนและการพิจารณา อาจจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อองค์กร โดยมีคําสั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรม ในท้ายที่สุด

คณะกรรมการเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติในการสั่งไม่แย้งคําสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการมีความบกพร่อง เนื่องจากไม่พิจารณาคําสั่งไม่ฟ้องของนาย น. ด้วยความรอบคอบ การอ้างว่าการออกคําสั่งเกิดจากการพิจารณาสั่งการ ตามความเห็นของเจ้าพนักงานตํารวจตามลําดับชั้นและเข้าใจว่าเป็นการสั่งคดีความผิดเกี่ยวกับจราจรธรรมดาทั่วไปนั้น เป็นข้ออ้างที่คณะกรรมการเห็นว่าฟังไม่ขึ้น ในขณะที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้มอบอํานาจ ซึ่งมีหน้าที่ต้องกํากับ ติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอํานาจ และให้มีอํานาจแนะนําและแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอํานาจ ตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติ ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 การมอบอํานาจของผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติโดยมิได้มีการกํากับดูแลติดตามผลการปฏิบัติราชการในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเช่นนี้ เป็นความบกพร่องที่ทําให้เกิดผลเสียหาย แก่การบริหารราชการแผ่นดิน และกระทบต่อความศรัทธาขององค์กร

อนึ่ง เมื่อมีการออกหมายจับผู้ต้องหา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศได้แจ้งให้ตํารวจสากล ทราบถึงหมายจับผู้ต้องหาเพื่อนําตัวผู้ต้องหามาดําเนินคดี แต่ปรากฏว่าหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวได้ถูกย้ายไปดํารงตําแหน่งผู้บังคับการ ประจํากองบัญชาการตํารวจภูธรภาค 3 น่าเชื่อว่า เป็นการโยกย้ายที่มีความไม่ปกติอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง

ในคดีนี้ คณะกรรมการพบว่า ทนายความของผู้ต้องหามีส่วนสําคัญในการทําให้เกิดผลของการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยได้ไปพบกับ รองศาสตราจารย์ ส. พร้อมกับนาย ช. เพื่อขอให้มีการคํานวณความเร็วรถของผู้ต้องหาใหม่ และยังได้อยู่ร่วมในการจัดให้มีการสอบปากคําพันตํารวจโท ธ.เพื่อเปลี่ยนคําให้การเรื่องความเร็วรถด้วย หลังจากนั้น ทนายความของผู้ต้องหาได้รับมอบอํานาจเพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการและคณะกรรมาธิการเรื่อยมา จนกระทั่งนาย น. มีคําสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาในการร้องขอความเป็นธรรมครั้งสุดท้าย

สําหรับนาย จ. ซึ่งเป็นพยานปากสําคัญที่ได้ให้การว่า ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วโดยประมาณ 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น คณะกรรมการพบว่า ได้รับการอุปการะจากนาย ช. นอกจากนี้ หลังจากที่นาย จ. ถึงแก่ความตายอย่างกะทันหันภายหลังที่ได้มีชื่อปรากฏในข่าว พบว่าโทรศัพท์มือถือของนาย จ. ถูกทําลาย

จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งปวง คณะกรรมการเห็นว่า การตั้งข้อหา การสอบสวน การร้องขอความเป็นธรรม การกลับคําสั่งฟ้องเป็นสั่งไม่ฟ้อง การไม่แย้งคําสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เป็นขบวนการดําเนินคดีที่เชื่อได้ว่ามีการร่วมมือสมคบคิดกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป รวมทั้งมีการสมยอมกันโดยไม่สุจริตเพื่อหวังผลเพียงให้ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากความรับผิดในทางอาญาทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นพนักงานอัยการ กระบวนการทั้งสิ้นนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวคําพิพากษาศาลฎีกา ที่ 646-647/2510 คําพิพากษาศาลฎีกา ที่ 6446/2557 และคําพิพากษาศาลฎีกา ที่ 9334/2538 ที่ได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้ว คณะกรรมการจึงมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

1. ต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้องในข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหากระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

2. จะต้องมีการดําเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมในขบวนการนี้ กล่าวคือ

2.1 พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสํานวน
2.2 พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
2.3 ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.4 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.5 ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
2.6 ทนายความซึ่งกระทําผิดกฎหมาย
2.7 พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ
2.8 ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทําผิดกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่า พันตํารวจเอก ธ. และรองศาสตราจารย์ ส. ได้สมัครใจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงสมควรกันไว้เป็นพยานและให้ความคุ้มครองพยานในการดําเนินคดีอาญาแก่บุคคลตามข้อ 2.1 ถึง 2.8

3. จะต้องมีการดําเนินการทางจริยธรรม จรรยาบรรณ มรรยาท โดยหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่อบุคคลดังกล่าวตามข้อ 2.1 ถึง 2.8 อย่างจริงจังและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ เป็นการทั่วไป เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

4. สมควรกําหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มอบอํานาจต้องกํากับ ดูแล แก้ไข เปลี่ยนแปลง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับมอบอํานาจให้ถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรม หากผู้บังคับบัญชา ละเลยให้ถือว่าเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่

5. เนื่องจากคณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยละเอียดต่อไป ในชั้นนี้ คณะกรรมการเห็นว่าสมควรเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบในประเด็นต่อไปนี้อย่างเร่งด่วน

5.1 แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการฯ ในเรื่องการร้องขอความเป็นธรรม โดยกําหนดให้การร้องขอความเป็นธรรม ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาต้องมาร้องด้วยตนเอง การร้องขอความเป็นธรรมจะต้องระบุเหตุและพยานหลักฐานให้ครบถ้วน การร้องขอความเป็นธรรมเกินกว่าหนึ่งครั้งจะกระทําได้ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยนําเสนอมาก่อน

5.2 แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการอัยการ ว่าด้วยการมอบอํานาจ โดยกําหนดให้การมอบอํานาจให้รองอัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรมและการมอบอํานาจในการสั่งไม่ฟ้องต้อง เป็นการมอบให้แก่รองอัยการสูงสุดต่างคนกัน และไม่ว่าจะสั่งยุติเรื่องหรือสั่งให้ความเป็นธรรมตามการร้องขอ อธิบดีอัยการหรือรองอัยการสูงสุดผู้มีอํานาจต้องรายงานให้อัยการสูงสุดทราบทุกกรณี

5.3 วางระเบียบในการมอบอํานาจของผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติฯ และในกรณีที่สั่งไม่ฟ้องตามความเห็นของพนักงาน อัยการ ให้รายงานต่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติทราบทุกครั้ง

5.4 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องอายุความ ในทํานองเดียวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 กล่าวคือ ถ้าผู้ต้องหาหลบหนีในระหว่างถูกดําเนินคดีอาญา และให้ฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหาได้และมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

อนึ่ง เนื่องจากการดําเนินการของคณะกรรมการมีระยะเวลาที่จํากัด ประกอบกับมีพยานหลักฐานซึ่งเป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นจํานวนมาก จึงเห็นควรที่จะเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการให้ส่งเรื่องนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช.คณะกรรมการ ป.ป.ท. คณะกรรมการ ปปง. คณะกรรมการอัยการ คณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ สภาทนายความ เพื่อให้ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป กับเห็นสมควรดําเนินการให้คดีอาญาในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ

กันยายน 2563
















กำลังโหลดความคิดเห็น