“ประยุทธ์” รับ 5 ข้อเสนอ กก.ชุด“วิชา” ชง ป.ป.ท.ดำเนินการคดี“บอส” ยอมรับเป็นคดีที่สังคมคาใจ ย้ำ กม. กระบวนการยุติธรรม เป็นหลักของประเทศ หากอยู่แบบไร้ กม.ประเทศก็จะเป็นอนาธิปไตย ย้อนจะอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง เพียงขอชนะอย่างนั้นหรือ
วันนี้ (1 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ตึกสันติไม่ตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าหลังนายวิชา มหาคุณ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ได้สรุปรายงานและนำเสนอว่า กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ในคดีต่างๆ ทุกข้อหาโดยเฉพาะข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาททำให้ดาบตำรวจวิเชียร ถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เมื่อ พ.ศ. 2555 เรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่เห็นแย้งจนถึงที่สุด
“ยอมรับว่าวันนี้เป็นคดีที่คาใจประชาชน และสังคม ผมเองไม่อยากให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบและกระบวนการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งมีการดำเนินคดีมากมายโดยเฉพาะในคดีลักษณะดังกล่าวมีเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนคดีในช่วงที่ผ่านมา และมีบางกรณีที่เกิดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา ผมจึงได้เชิญอาจารย์วิชาและคณะกรรมการเข้ามาดำเนินการซึ่งกำหนดเวลา 30 วัน ซื้อคณะกรรมการทำงานอย่างน่าชมเชย มีการประชุมเกือบทุกวันก็ขอชมเชยมา ณ ที่นี้ มีการส่งรายงานมาทุกรอบ 10 วัน และได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับผม ปรึกษาหารือกันตลอดเวลา แต่ยืนยันว่าผมจะไม่ไปก้าวล่วงกับใคร เพราะผมถือว่าผมอยู่ตรงกลาง จะไปก้าวล่วงอัยการก็ไม่ได้ เพราะเป็นองค์กรอิสระ ในส่วนของตำรวจ ผมได้สั่งการไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ชุดของนายวิชาได้ลงมติเห็นว่าเรื่องนี้ได้ใช้เวลานานถึง 8 ปีเกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ทั้งตำรวจ อัยการ ทนายความ ฝ่ายการเมือง ดูแล้วสลับซับซ้อนพิกลอยู่ซึ่งสังคมไม่ไว้วางใจตรงนี้ มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมซ้ำซากถึง 14 ครั้ง คณะกรรมการตรวจสอบใช้คำว่าอาจจะมีการทำเป็นขบวนการซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไปให้เกิดความชัดเจนขึ้น
“ก็ต้องมาดูว่าเราจะทำอย่างไรได้ต่อไปได้ตรงนี้ อย่าเพิ่งไปดูว่าเป็นใครบ้างเพราะยังต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอีก ผมยังไม่อยากระบุรายชื่อตรงนี้ แม้หลายคนอยากจะรู้ ก็ได้แต่เพียงรู้เท่านั้น ความขัดแย้งก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลาก็จะปรากฏเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ข้อเสนอแนะ 5 ข้อของคณะกรรมการฯ ที่คณะกรรมการฯ เสนอมา ประกอบด้วย 1. ยกคดีขึ้นเพื่อดำเนินการใหม่โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ ซึ่งเรื่องนี้ดำเนินการได้อย่างแน่นอนมี 2-3 คดี ที่มีอยู่ 2. ดำเนินคดีและดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 3. ในบางเรื่องมีความชัดเจนว่ามีความผิดหรือไม่แต่ต้องตรวจสอบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องในเชิงจริยธรรม 4. ซักซ้อมเกี่ยวกับความเข้าใจการมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชาว่าจะทำอย่างไรเมื่อรับมอบไปแล้วจะรับผิดชอบอย่างไรก็ต้องไปดูและแก้ไขกฎระเบียบอีกหลายเรื่อง วิธีปฏิบัติในการมอบอำนาจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยทันที ถ้าเป็นตำรวจตนก็กำกับดูแลอยู่แล้ว ในส่วนอัยการนั้นก็เป็นอิสระ ในส่วนของทนายความก็มีสภาทนายความที่จะไปดูแลว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า และรัฐบาลจะมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เป็นศูนย์กลางติดตามดูแลประสานงานในการดำเนินการความก้าวหน้า พร้อมรายงานให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า และ 5. ทางคณะกรรมการฯ ขอทำงานต่ออีก 30 วัน เพื่อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเชิงปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน ซึ่งได้พูดคุยกันแล้วว่าจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงซึ่งต้องช่วยกันผลักดันต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าใครมีเบาะแสหรือข้อเสนอแนะอะไรก็ขอให้ส่งกับทางคณะกรรมการฯ
“หลายท่านได้ให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ชุดนี้โดยไม่ได้หวังผลอะไรตอบแทน เพราะทุกคนต้องการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นในเรื่องของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหลักของประเทศชาติ ถ้าเราอยู่กันแบบไร้กฎหมายมันไม่ได้ บ้านเมืองก็จะกลายเป็นอนาธิปไตยทันที ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้วถ้าไม่มีกฎหมายเหล่านี้มันอยู่ไม่ได้ หลายอย่างทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเสียไป เศรษฐกิจก็ไม่มั่นคง การลงทุนก็ลดลง ผมถามว่าเราจะได้อะไร ชัยชนะท่ามกลางซากปรักหักพัง ใครจะได้อะไรขอถามหน่อย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ยกมือไหว้ขอบคุณนายวิชาญ และคณะกรรมการซึ่งมานั่งฟังการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี และรอเพื่อชี้แจงในรายละเอียด