"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ผมเคยเขียนเรื่องการเมืองในไตรภูมิ ซึ่งประกอบด้วย ๓ โลก คือ โลกสภา โลกออนไลน์ และโลกท้องถนน ทั้งสามโลกเป็นสนามการต่อสู้ของกลุ่มพลังทางสังคมที่ปรากฎ ซึ่งสามารถรับรู้และสังเกตได้ แต่ละโลกการเมืองมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเชิงพลวัตร อย่างไรก็ตามยังมีสนามการต่อสู้ทางการเมืองอีกสนามหนึ่งซึ่งยากแก่การสังเกตเพราะเป็นสนามที่ซ่อนเร้นแอบแฝง ทว่า มีอิทธิพลสูงต่อทิศทางของโลกที่ปรากฏ นั่นคือการเมืองในโลกหลังม่าน
การเมืองในโลกสภาเป็นสนามของอำนาจหน้าที่ที่เป็นทางการเป็นหลัก การต่อสู้ส่วนใหญ่ถูกกำหนดและกำกับโดยระเบียบ กฎเกณฑ์ และบรรทัดฐานการปฏิบัติที่เป็นทางการ กระนั้นก็ตามมิได้หมายความว่าในโลกแห่งนี้จะเป็นเวทีแห่งการต่อสู้กันด้วยกฎเกณฑ์ทางการแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีพื้นที่การต่อสู้ที่ไม่เป็นทางการดำรงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ และการแสดงออกเชิงการละครของบรรดาผู้เล่นที่มีบทบาทอยู่ในโลกแห่งนี้
ผู้เล่นในฐานะอัตบุคคลที่มีบทบาทหลักในโลกสภายุคปัจจุบันคือ รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการองค์การอิสระ และข้าราชการระดับสูง ส่วนในฐานะองค์การก็คือ รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง องค์การอิสระ และหน่วยงานราชการ ขณะที่กลุ่มและองค์การภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมก็มีบทบาทบ้างบางครั้งบางคราวในบางประเด็น
ด้วยการเมืองเป็นเรื่องของการทำให้อำนาจปรากฏเป็นรูปธรรม แนวทางหลักของการทำให้อำนาจปรากฎคือการรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาเพื่อเป็นฐานและแหล่งของอำนาจ ในแง่ผลลัพธ์ของการต่อสู้ระหว่างบุคคลและกลุ่มในโลกสภามักเป็นไปในรูปแบบผู้ชนะได้ทั้งหมด ส่วนผู้แพ้ไม่ได้สิ่งใดเลย ไม่ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญ การต่อสู้เรื่องการออกกฎหมายการต่อสู้เพื่อเป็นรัฐบาล การต่อสู้เพื่อการยุบพรรค การต่อสู้เรื่องการจัดสรรงบประมาณ และการต่อสู้เพื่อตีความระเบียบกฎเกณฑ์
โดยทั่วไปในระบอบประชาธิปไตยการครองอำนาจนำในโลกสภาเป็นผลสืบเนื่องจากการเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากก็จะยึดกุมอำนาจนำในโลกสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่หากไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก ก็จะใช้วิธีการต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์เพื่อรวบรวมเสียงให้ได้เป็นเสียงข้างมาก แต่ในการเมืองไทยในโลกสภายุคปัจจุบันถูกกดดันด้วยพลังของ “โลกการเมืองหลังม่าน” ซึ่งทำให้บรรทัดฐานปกติของโลกสภาในระบอบประชาธิปไตยเกิดการเบี่ยงเบน หรือ กลายเป็นการเมืองของ “โลกสภาที่ผิดปกติ” นั่นเอง
ผู้เล่นหลักที่มีบทบาทสำคัญของการเมืองแห่งโลกหลังม่านประกอบด้วยบรรดานายพลแห่งกองทัพ ชนชั้นนำกลุ่มจารีตนิยม และนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของบริษัทขนาดยักษ์ อำนาจของกลุ่มเหล่านี้ปรากฎในหลายรูปลักษณ์และหลายรูปแบบ ซึ่งซ่อนตัวดุจเงาสลัวแฝงอยู่ในโลกการเมืองแบบอื่น ๆ แต่ก็มีบางเวลาที่สำแดงตัวออกมาอย่างชัดเจนผ่านการรัฐประหาร
ในบริบทของการเมืองไทย การเมืองแห่งโลกหลังม่านแสดงอำนาจในโลกสภาโดยกำหนดว่าบุคคลใดสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสภา กำหนดว่าใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี กำหนดว่ากฎหมายใดควรผ่านและไม่ควรผ่าน กำหนดว่าระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการเรื่องใดบ้างที่จะใช้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในแต่ละบริบท และกำหนดว่าใครจะถูกลงโทษและใครจะได้รับรางวัล เป็นต้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนของอำนาจที่ปรากฎออกมาจากการเมืองหลังม่านคือ การรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๗ ที่มีการวางแผนยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจมาอย่างนาวนาน การแต่งตั้งบุคคลเป็น ส.ว. โดยนายพลที่เป็นแกนนำของคณะรัฐประหาร ซึ่งบรรดา ส.ว. ต่างก็เป็นบุคคลในเครือข่ายพวกพ้องของผู้ทรงอิทธิพลในการเมืองหลังม่านเกือบทั้งหมด หรือแม้กระทั่งการกำหนดล่วงหน้าว่าบุคคลใดจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ทราบผลการเลือกตั้ง ๒๕๖๒
นอกจากผู้เล่นหลักผู้เล่นในกลุ่มนายพลและชนชั้นนำจารีตแล้ว กลุ่มนายทุนนักธุรกิจขนาดยักษ์ ก็มีบทบาทสำคัญในการเมืองหลังม่านต่อการกำหนดกฎหมาย ยุทธศาสตร์ นโยบายและการตัดสินใจของการเมืองในโลกสภา ดังเห็นได้จากการเกิดขึ้นของพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การออกกฎหมายกู้เงินเพื่อช่วยเหลือบริษัทขนาดยักษ์ในช่วงวิกฤติโควิด การเปลี่ยนการตัดสินใจของหน่วยงานในระบบยุติธรรม และให้ทุนแก่พรรคการมือง เป็นต้น
กล่าวได้ว่าในการเมืองแห่งโลกสภายุคนี้ ถูกการเมืองในโลกหลังม่านบั่นทอนและทำลายพลังอำนาจและความชอบธรรมลงไม่น้อย ซึ่งกลายเป็นว่าการเมืองในโลกสภาถูกทับซ้อนด้วยการเมืองของโลกหลังม่านเกือบทั้งหมด ดุจสุริยคลาสค่อนดวง เหลือพื้นที่เพียงไม่มากนักที่เหลือให้ผู้เล่นหลักที่อยู่ในโลกสภาได้แสดงบทบาทออกมา เราจึงเป็นผู้ล่นจำนวนหนึ่งที่พยายามสร้างบทบาทของตนเองให้เป็นโดดเด่นและเป็นที่รู้จัก โดยการแสดงพฤติกรรมที่แปลกประหลาดออกมานานับประการ กลายเป็นว่าเมื่อแสดงอำนาจที่แท้จริงไม่ได้ ก็ต้องแสดงพฤติกรรมเชิงการละครออกมานั่นเอง
การเมืองหลังม่านยังแทรกซึมไปสู่การเมืองในโลกออนไลน์ โดยปกติการเมืองในโลกออนไลน์เป็นเวทีในการต่อสู้ทางความคิด ข้อมูลข่าวสาร และความจริง เพื่อสร้างการสนับสนุนอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของแต่ละฝ่าย การเมืองในโลกออนไลน์มักเป็นการเมืองแบบเปิดที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปสู่สนามนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ใครหรือกลุ่มใดที่สามารถครองความเป็นเจ้าในโลกการเมืองออนไลน์ได้นั้นต้องมีต้นทุนสูงทั้งเรื่องความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยี ผู้ทรงอิทธิพลในการเมืองโลกออนไลน์จึงมักจะเป็นนักวิชาการ นักข่าว และนักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นหลัก และกลุ่มคนเหล่านี้มักแสดงความคิดและจุดยืนทางการเมืองอย่างเปิดเผยในโลกออนไลน์
แต่กลุ่มอำนาจส่วนใหญ่ที่มีบทบาทในการเมืองหลังม่านมักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยใช้ชื่อกลุ่มหรือชื่อสมมติ หรือไม่ก็ว่าจ้างตัวแทน เป้าหมายของกลุ่มอำนาจหลังม่านมิได้เน้นการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ความเชื่อและจุดยืนตนเองอย่างเปิดเผยนัก แต่มักมีเป้าหมายเพื่อบั่นทอนและทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง โดยใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยา การสร้างข่าวลวง เผยแพร่ข่าวเท็จ การโจมตีด้วยการประดิษฐ์วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง การใช้ตรรกะวิบัติ และการอนุมานเกินข้อเท็จจริง ยิ่งกว่านั้นยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อจำกัดหรือปิดพื้นที่ของผู้เล่นฝ่ายปรปักษ์ในโลกออนไลน์อีกด้วย
แต่เนื่องจากว่า โลกของการเมืองออนไลน์นั้นมิใช่โลกที่ใครหรือกลุ่มใดจะมากำกับบงการได้อย่างสมบูรณ์แบบและง่ายเหมือนดังที่กระทำในการเมืองแห่งโลกสภา ผู้เล่นการเมืองหลังม่านจึงมีโอกาสไม่มากนักที่จะประสบชัยชนะในโลกออนไลน์ และปรากฎการณ์ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกอย่างคือ การเมืองในโลกออนไลน์จะทำให้ความจริงเกี่ยวกับตัวตนและการกระทำของกลุ่มอำนาจที่อยู่ในเงามืดของการเมืองแห่งโลกหลังม่านค่อย ๆ เผยตัวออกมาสู่สาธารณะมากขึ้น
นอกจากพยายามเข้าไปแสดงอำนาจในโลกออนไลน์แล้ว กลุ่มอำนาจในการเมืองหลังม่านยังพยายามเข้าไปปฏิบัติการในโลกแห่งการเมืองท้องถนนด้วย โดยปกติกโลกแห่งท้องถนนจะเป็นเวทีการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มประชาสังคม ที่มีเป้าประสงค์ร่วมกันในเวลาหนึ่ง การเมืองท้องถนนนั้นเป็นการเมืองที่มีต้นทุนสูงยิ่ง ผู้ที่เป็นแกนนำมักประสบกับชะตากรรมที่ยากลำบาก หลายคนต้องติดคุก หลายคนเสียชีวิต หลายคนล้มละลาย แต่ก็มีบางคนที่สามารถใช้การเมืองท้องถนนปีนป่ายไปสู่การมีอำนาจในเวทีการเมืองของโลกสภาได้สำเร็จโดยมีตำแหน่งเป็น ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี
การเมืองแห่งโลกท้องถนนนั้นมีหลายหลายรูปแบบและหลายระดับ ในแง่พื้นที่การชุมนุมมีตั้งแต่การชุมนุมในสถาบันการศึกษา ในที่สาธารณะที่มีขอบเขตแน่นอน และการชุมนุมบนท้องถนน ส่วนในแง่ระยะเวลาการชุมนุม มีทั้งการชุมนุมแบบชั่วคราวและแบบยืดเยื้อ ในแง่การกระจายของการชุมนุมก็มีตั้งแต่การชุมนุมจุดเดียว และแบบกระจายหลายจุด ในแง่โครงสร้างการนำก็มีแบบการชุมนุมที่มีแกนนำหลักจำนวนน้อย และการนำแบบเครือข่ายร่วมที่หลากหลาย
เมื่อมีการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลที่ทุจริต หรือ ขับไล่รัฐบาลเผด็จการที่สืบทอดอำนาจ หรือ เพื่อปฏิรูปประเทศ หรือเพื่อให้แก้ไขโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ กลุ่มอำนาจในการเมืองหลังม่านก็พยายามเข้าไปบั่นทอนทำลายการชุมนุมในหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมด้วยการสร้างข่าวเท็จ การจัดตั้งมวลชนขึ้นมาต่อต้าน การใช้กลุ่มอาชญากรรมทำร้ายผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง หรือการใช้อำนาจรัฐปราบปรามผู้ชุมนุมโดยตรง และในบางกรณีกลุ่มอำนาจในการเมืองหลังม่านก็ใช้การชุมนุมเป็นเงื่อนไขของการทำให้อำนาจหลังม่านปรากฎตัวออกมา ในรูปของการรัฐประหาร
การเมืองท้องถนนที่ขับเคลื่อนโดยนักศึกษาและประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็ต้องเผชิญกับการแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจในการเมืองหลังม่าน ที่บงการให้ตัวแทนให้จัดตั้งกลุ่มมวลชนเพื่อมาต่อต้าน การสร้างข่าวลือเรื่องการรับเงินและรับงานจากต่างชาติเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของการชุมนุม การบิดเบือนข้อเสนอเชิงการปฏิรูปสถาบันให้กลายเป็นการล้มล้าง เป้าหมายของการใช้ยุทธวิธีแบบนี้ก็คือการสร้างสถานการณ์เพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหารนั่นเอง
ในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป แม้ว่ากลุ่มอำนาจในการเมืองหลังม่านมีอิทธิพลดำรงอยู่บ้าง ต่อการเมืองในโลกสภา โลกออนไลน์ และโลกท้องถนน แต่ก็ไม่มากนัก ทว่าสำหรับการเมืองไทยนั้นกลุ่มอำนาจของการเมืองหลังม่านมีอิทธิพลสูงยิ่ง และนั่นคือข้อบ่งชี้ถึงสภาพการด้อยพัฒนาของประชาธิปไตยไทยนั่นเอง ส่วนความพยายามในการลดและขจัดอิทธิพลของกลุ่มอำนาจในการเมืองหลังม่าน หากกระทำสำเร็จก็ย่อมเป็นการยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตยไทยให้สูงขึ้นนั่นเอง