ถ้าเรายึดกาลเวลาเป็นแกนกลางในการค้นหาความจริง ซึ่งเกิดขึ้นในอดีต และยังมีผลปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เราจะต้องเริ่มจากสิ่งที่เห็นได้ และจับต้องได้ในปัจจุบัน แล้วสาวไปหาต้นเหตุแห่งการเกิดขึ้นในอดีต โดยอาศัยความเชื่อมโยงจากผลไปหาเหตุ เราก็จะพบความจริงที่ถูกต้อง และครบถ้วนทุกประการ แล้วนำความจริงที่ได้มาคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยหลักแห่งตรรกศาสตร์ (Logic)
วันนี้ และเวลานี้ คนไทยส่วนหนึ่งได้ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยที่พวกเขาอยากให้มี และอยากให้เป็น โดยยึดรูปแบบของประเทศตะวันตก และนำแนวทางการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มาเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการคิด และพยายามต่อยอดการดำเนินการของคณะราษฎร ซึ่งทำการปฏิวัติยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ คิดเป็นเวลา 88 ปีกว่าแล้ว แต่ประชาธิปไตยในความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็น เฉกเช่นที่พวกเขาต้องการ และที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้จะเห็นได้จากการเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลทางด้านการเงิน และอิทธิพลเถื่อนระดับเจ้าพ่อ จะได้รับเลือกเข้ามาทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ถ้ายึดมาตรฐานจะต้องเป็นคนดี และเป็นคนเก่งแล้ว คนเหล่านี้ไม่ควรจะได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชน และที่ยิ่งกว่านี้ เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งซึ่งมีอำนาจรัฐแล้ว ก็จะใช้อำนาจนั้นแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ถอนทุนเงินที่ลงไปในการเลือกตั้ง และในขณะเดียวกัน ได้หาเพิ่มเพื่อเป็นทุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
โดยนัยแห่งพฤติกรรมของนักการเมืองเยี่ยงนี้เอง ทำให้ประชาธิปไตยตามแนวทางของตะวันตกที่ว่า โดยประชาชน เพื่อประชาชนได้ถูกบิดเบือนเป็นโดยประชาชน แต่เพื่อตนเอง และพวกพ้อง ซึ่งเป็นจุดด้อยของระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยตลอดมา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
2. ถ้านับถอยหลังจาก พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่ชนชาติไทยมีประเทศเป็นของตนเองอย่างเป็นทางการ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก แต่มิได้หมายความว่าก่อนหน้านี้ ไม่มีคนไทยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ แท้จริงแล้วคนไทยอยู่อาศัยในแผ่นดินนี้มาเนิ่นนานแล้ว แต่อยู่ภายใต้การปกครองของขอม แต่เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ปลดแอกจากขอม และสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยได้เริ่มขึ้น และมีการสืบทอดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรื่อยมาจนถึงพ.ศ. 2475
ดังนั้น ชนชาติไทยจึงมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มายาวนาน 700 กว่าปี และภายใต้การปกครองของระบอบนี้ ประเทศไทยก็เจริญรุ่งเรืองและอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา ทั้งนี้เนื่องจากว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงมีทศพิธราชธรรมเป็นแนวทางในการปกครองประเทศ ซึ่งประกอบด้วยธรรม 10 ประการมีทานคือการให้ และบริจาค การเสียสละ เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ด้วยการเลือกผู้แทนของตนเองเข้าไปทำหน้าที่ทั้งในด้านการออกกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ และในการควบคุมดูแลให้การใช้กฎหมายเป็นไปโดยถูกต้อง และเป็นธรรมโดยเสมอภาคกัน
แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มิได้เป็นไปตามแนวทางที่คาดหวังไว้ว่า จะมีและจะเป็น จะเห็นได้จากความร่ำรวยกระจายในวงจำกัด เฉพาะคนกลุ่มเดียว และเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ และความไม่ชอบธรรมได้เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงคนจนไม่มีโอกาสที่ยกตนเองให้หลุดพ้นจากความยากจน เนื่องจากถูกครอบงำด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและทางสังคม เช่น เข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก และมีข้อจำกัดในด้านการศึกษา ซึ่งจะต้องได้ด้วยทุนเงิน เป็นต้น และนี่เองคือจุดที่ทำให้ผู้คนในสังคมลุกฮือขึ้นขับไล่รัฐบาลหลายครั้งหลายหนที่ผ่านมา และรวมถึงครั้งที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ด้วย
3. เมื่อประชาชนได้ลุกขึ้นต่อต้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม ถ้ารัฐบาลไม่สนใจข้อเรียกร้อง ประชาชนจะกลับไปสู่ระบอบการปกครองก่อนปี 2475 ก็ไม่ได้ และจะทนอยู่กับการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้ จึงได้หันไปดึงกองทัพ และนี่เองคือจุดให้เกิดการรัฐประหาร และมีการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร จึงเกิดขึ้นดังที่เป็นมาแล้วหลายครั้งในประเทศไทยในระยะ 80 ปีกว่าที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อพ.ศ. 2557 ในยุครัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อประชาชนได้ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล เนื่องจากการทุจริต คอร์รัปชัน และออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอยจนบานปลายกลายเป็นความแตกแยกในสังคม กองทัพภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในยุคนั้นได้ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลปกครองประเทศในระบอบเผด็จการอยู่มา 5 ปีกว่า แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยอาศัยเสียง ส.ว. 250 คนร่วมกับ ส.ส.จากหลายพรรคจัดตั้งรัฐบาล
แต่ครั้นเป็นรัฐบาลมาได้ 1 ปีกว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนได้ออกมาชุมนุมเรียกร้อง 3 ข้อจากรัฐบาลคือ
1. ให้เลิกคุกคามประชาชน
2. แก้รัฐธรรมนูญ
3. ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่
ส่วนการชุมนุมจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ และผลของการชุมนุมจะลงเอยอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป
แต่ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า การชุมนุมในครั้งนี้ ขยายวงออกไปกว้างขวาง และครอบคลุมถึงกลุ่มคนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ซึ่งไม่ปรากฏมาก่อน
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามหรือทำตาม แต่ยืดเยื้อเป็นการยื้อเวลาให้เนิ่นนานออกไป ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ และทางเดียวที่คิดว่าจะทำให้กระแสของการชุมนุมลดลง และยุติในที่สุดก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประชาชนยอมรับเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศพร้อมๆ กับการแก้รัฐธรรมนูญแล้วจัดการเลือกตั้งเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม