xs
xsm
sm
md
lg

ลุงตู่ต้องชิงปฏิรูป-แก้ รธน.ก่อนถูกต้อนเข้ามุมอับ !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

เวลานี้หากวัดกันตามกระแสจริงๆ ยังเชื่อว่า “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังยันสถานการณ์ได้อยู่ แต่ในระยะทางยาวมากกว่านี้ จะยัง “เอาอยู่” หรือไม่ ยังไม่อาจคาดเดาได้ ซึ่ง “ตัวแปร” สำคัญที่สุด ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวเองนั่นแหละว่าจะเลือก “วิธีเดิน” แบบไหน

แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วยังพอเห็นสัญญาณบวกในแบบ “ยืดหยุ่น” รู้จักลู่ตามลม ไม่ได้แข็งตึงแบบยอมหักไม่ยอมงอ สังเกตได้จากหลายครั้งที่เขาเกิดความผิดพลาด ทั้งคำพูดหรือการกระทำบางอย่างในอดีต ก็ “รีบขอโทษ” หลายครั้งทั้งในและนอกสภา ซึ่งที่ผ่านมาหากมองย้อนอดีตพวกนักการเมืองที่อ้างว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตยทั้งหลายทั้งปวงนั่น น้อยครั้งที่จะเอ่ยคำขอโทษ พยายามเลี่ยงคำพูดไปมา หรือบางคนถึงขั้นใช้คำว่า “ขออภัย” หรือเสียใจ แต่ไม่ยอมพูดคำว่าขอโทษ

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูเหมือน “ถูกจงใจ” จากบางกลุ่ม บางฝ่ายทำให้ร้อนแรงเพิ่มมากขึ้นในเวลานี้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของบางกลุ่ม เช่น กลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” หากสังเกตให้ดีก็เป็นการผสมกันระหว่างกลุ่มนักศึกษา เยาวชน ที่เคยเคลื่อนไหวในทางเดียวกับ อดีตพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำของพรรคดังกล่าว เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นต้น และมีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย เป็นแนวร่วม

แม้ว่าจะมีรายละเอียดข้างในที่ยิบย่อยออกมาอีก เช่น ทั้งสองพรรคดังกล่าวก็มีความพยายามเคลื่อนไหวในลักษณะแย่งชิงมวลชน รวมไปถึงในกลุ่มพวกนักศึกษาบางกลุ่ม ที่พยายามแทรกเข้าไปต่อต้านสถาบันฯ โดยกลุ่มหลังนี้หลายคนก็มองว่าเป็น “สาวก”หรือพวกที่ชื่นชมยกย่อง นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิชาการที่หลบหนีคดีอาญา มาตรา 112 ในต่างประเทศเวลานี้

แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวจะเป็นการปลุกเร้าในหมู่เยาวชน ที่ถือว่าได้ผลไม่น้อยในแง่ที่ว่า มีการใช้สื่อโซเชียลฯควบคู่กันไปด้วย ทั้งการปล่อยข่าว การปลุกระดม การให้ข้อมูลที่เท็จบ้าง จริงบ้าง แต่เป้าหมายเพื่อมุ่งเป้าโจมตีฝ่ายรัฐ รัฐบาล โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก และรองลงมาเป็น “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงโจมตีฝ่ายความมั่นคง และกองทัพ จนกระทั่งมีการ“สอดแทรก”เข้ามาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากกระแสสังคม หรือความต้องการของสังคมที่ในตอนแรกจะเป็นไปในลักษณะที่เริ่ม “หวั่นไหว” วิตกไปกับสถานการณ์ที่มีความพยายามปลุกเร้าขึ้นมาอย่างดุเดือดของพวกเยาวชน ที่ไม่น้อยถูกปั่นออกมาตามกระแสโซเชียลฯ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเลยเถิด ถูกชักนำไปที่การมุ่งโจมตีสถาบันฯ จนทำให้เกิดอาการชะงัก “กระแสตีกลับ” โดยเฉพาะผลจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนทำให้ต้องปรับโหมดกันใหม่

การชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงหันกลับมาเน้นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ แก้รัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน และ นายกฯยุบสภา หรือลาออก ซึ่งจะว่าไปแล้ว 3 ข้อหลักดังกล่าวนี้ หากพูดกันให้ตรงจุด ก็เหมือนกับ “ข้อเรียกร้องของพรรคการเมือง” นั่นเอง โดยเฉพาะพรรคที่ต้องสูญเสีย และได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แน่นอนว่า พวกเขาเห็นว่าหากยังบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอีกนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเสียเปรียบ โอกาสที่จะกลับมาชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแทบไม่มีเลย ขณะเดียวกัน จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในหลายมาตรามีความก้าวหน้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่เข้มงวดในเรื่องการป้องกัน“นายทุน”หรือการครอบงำพรรค แต่ด้วยบางมาตรา บางหมวด ที่ “อ่อนไหว” ต่อการปลุกเร้าได้ง่าย เช่น เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. จำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ในบทเฉพาะกาล 5 ปี ถูกเยาะเย้ยว่าเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ แม้ว่าในความเป็นจริง ส.ว.ชุดนี้ ยังเหลือเวลาในการปฏิบัติหน้าที่อีกเพียงแค่สองปีเศษ ก็ต้องพ้นไป

และที่ผ่านมาในการโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ใช้เสียงของส.ว.มาช่วยโหวตแต่อย่างใด แต่ใช้เสียงของ ส.ส.จากสภาผู้แทนฯ ล้วนๆ ก็เอาชนะ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น แบบขาดลอย
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสของ“เผด็จการ”ที่กำลังถูกเร้ากันอย่างเต็มที่ ก็ยังได้ผลและในเรื่องดังกล่าวก็ยังพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “ผู้นำเผด็จการ” และเคลื่อนไหว ให้มีการทำลายเครื่องมือของเผด็จการ ทั้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างใหม่ ซึ่งเป้าหมายหลักก็ยังเป็นการยุบทิ้ง ส.ว. แล้วให้ยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในภาพรวมๆ แล้วยังถือว่าสถานการณ์ยังอยู่ในความควบคุมได้อยู่ โดยเฉพาะยังอยู่ในกรอบของการเดินเครื่อง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทุกพรรคกำลังเสนอขอแก้ไข และที่สำคัญ ยังได้รับไฟเขียวจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้เป็นเรื่องของสภาไปว่ากันมา รวมไปถึงแนโน้มที่รัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขเข้าสภา หลังจากที่มีข้อสรุป และข้อเสนอออกมาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ที่คาดว่าในราวปลายเดือนนี้ จะสรุปและเสนอรัฐบาลและสภาไม่เกินต้นเดือนหน้า

โดยความหมายตรงกันในเวลานี้ ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นแบบรายมาตรา ที่มองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และมีปัญหา เพื่อความรวดเร็วและมีความเป็นไปได้มากกว่ากับการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อเปิดประตูสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มีเส้นทางยุ่งยาก และเสี่ยงเกิดวิกฤตระหว่างทางได้ตลอดเวลา ว่าจะร่างกันออกมาแบบไหน

แต่เอาเป็นว่า จากท่าทีที่เห็นในวันนี้ของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เชื่อว่าจะต้องมีความยืดหยุ่น ที่สำคัญไม่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถควบคุมกระแสไม่ให้บานปลายได้พอสมควร แต่หากให้โดดเด่นไปกว่านั้นก็ต้อง “ชิงนำ” ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจังในคราวเดียวกันพ่วงไปด้วย โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจกับอัยการ ที่มีภาพลักษณ์เป็นลบอยู่ในเวลานี้ หากจริงจังก็อาจจะพลิกกลับมาเป็นบวก ได้รับเสียงสนับสนุนได้อีกก็เป็นได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น