xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินความเป็นไปได้ของการเมืองก่อนสิ้นปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ความเป็นไปได้ของสถานการณ์การเมืองก่อนช่วงสิ้นปีนี้จะมีลักษณะเป็นอย่างไรระหว่างความขัดแย้งอย่างรุนแรงและการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกและการลงมือกระทำของกลุ่มพลังหลักที่มีบทบาทอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา พรรคการเมือง กลุ่มนักศึกษาและประชาชนปลดแอก และกองทัพ


ความเป็นไปได้อย่างแรกคือรัฐบาลตัดสินใจเลือกบริหารประเทศต่อไป พลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีไปจนสิ้นปี และเลือกใช้ยุทธวิธีถ่วงวลาการแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะให้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมสภาหน้าหรือประมาณเดือนธันวาคม ขณะเดียวกันเพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์และบรรเทาแรงกดดัน รัฐบาลประกาศต่อสาธารณะว่าสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะอ้างว่าต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการของระบบรัฐสภา ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้ทันในสมัยประชุมประสภานี้ ซึ่งจะสิ้นสุดลงปลายเดือนกันยายน และสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องการแก้ในรายประเด็น ไม่ใช่ร่างใหม่ทั้งฉบับ ทางเลือกแบบนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด

แต่ทางเลือกนี้ไม่อาจตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนปลดแอกได้ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของพวกเขาเพื่อกดดันรัฐบาลจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มยกระดับและความเข้มข้นในการกดดันมากขึ้น ขณะนี้กระแสการประท้วงรัฐบาลได้ขยายตัวออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย ไปสู่รั้วของโรงเรียน ไปสู่สถานที่สาธารณะ และมีความเป็นไปได้สูงว่าในอนาคตอันใกล้จะเคลื่อนตัวไปสู่สถานที่อันเป็นศูนย์กลางของอำนาจการเมืองอย่างทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลต่อไป

เมื่อแนวโน้มการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาขยายตัวเพิ่มขึ้น รัฐบาลและเครือข่ายอำนาจเดิมก็พยายามใช้ยุทธวิธีเพื่อบั่นทอนและทำลายความชอบธรรมของการเคลื่อนไหว นั่นคือการใช้ยุทธวิธีการจับตัวแกนนำ โดยคิดว่าหากแกนนำถูกจับกุมจะทำให้พลังของนักศึกษาลดลง รวมทั้งเป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่นักศึกษาอื่น ๆ ที่จะมาเป็นแกนนำแทนด้วย และยุทธวิธีการปั้นสร้างข่าวว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม โดยเฉพาะต่างชาติและพรรคการเมืองฝ่ายค้านเพื่อลดทอนความชอบธรรมของนักศึกษา และทำให้ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวลดลงตามไปได้วย วิธีการเหล่านี้เป็นแบบแผนเดิมที่รัฐบาลในอดีตมักใช้เป็นประจำ แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิผลมากนักกลับยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ความเป็นไปได้ประการที่สอง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนายกรัฐมนตรียุบสภา ความเป็นไปได้ของทางเลือกนี้เริ่มปรากฎให้เห็นบางส่วน นั่นคือฝ่ายค้านได้ยื่นญัติติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมา ขณะเดียวกันกลุ่มนักศึกษาและประชาชนปลดแอกก็ได้เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยุบสภาด้วย และปรากฎว่าแรงกดดันได้ส่งอิทธิพลต่อการตัดสินของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้ออกมาแถลงจุดยืนว่าจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการจัดตั้ง สสร. แต่สำหรับการยุบสภานั้นพรรคภูมิใจไทยเสนอให้ยุบสภาหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

ทว่า ข้อเสนอการยุบสภาหลังการมีรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนปลดแอกเสียทีเดียว ความต้องการให้มีการยุบสภาของกลุ่มนี้หมายถึง การยุบสภาทันทีหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการจัดตั้ง สสร. สำเร็จแล้ว กล่าวให้ชัดคือ กลุ่มนักศึกษาและประชาชนปลดแอกไม่ไว้วางใจและไม่ประสงค์ให้รัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั่นเอง ด้วยอาจเกรงว่าอาจแทรกแซงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้

อย่างไรก็ตาม การทำให้นายกรัฐมนตรียุบสภาได้นั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีแรงกดดันของการชุมนุมมากเพียงพอที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แต่หากทั้งสองพรรคไม่ถอนตัว โอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาก็มีน้อย ส่วนการเพิ่มแรงกดดันต่อพรรคทั้งสองให้ตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลนั้นก็ขึ้นอยู่กับยุทธวิธีที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนปลดแอก รวมทั้งกลุ่มพลังอื่น ๆ ในสังคมใช้ว่าจะมีประสิทธิผลเพียงใด

เงื่อนไขอีกประการที่อาจเพิ่มพลังกดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจยุบสภาก็คือ การลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมาก จนทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งกลุ่มที่มีศักยภาพในการกระทำแบบนี้คือพรรคฝ่ายค้าน แต่การที่จะทำให้พรรคฝ่ายค้านตัดสินใจแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากแต่ต้องมีเงื่อนไขและแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุมและสังคมมากเพียงพอ จึงจะสามารถผลักดันให้ฝ่ายค้านตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. ได้


ความเป็นไปได้อย่างที่สาม มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งการจัดตั้ง สสร. และประเด็นเกี่ยวกับวุฒิสภา ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การจัดตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นมีความเป็นไปได้สูง แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. นั้นมีความเป็นไปได้สองระดับคือระดับปานกลางและระดับต่ำ กรณีระดับปานกลางคือ การแก้เฉพาะประเด็นอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะแม้ว่าทำให้ ส.ว.มีอำนาจลดลง แต่ก็อาจมี ส.ว.จำนวนหนึ่งยินยอมพร้อมใจเสียสละอำนาจนี้เพื่อแลกกับความสงบของประเทศ กระนั้นก็ตามก็ยังมี ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่ยังยืนกรานรักษาอำนาจนี้เอาไว้ โดยไม่สนใจใยดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับต่ำคือ การยกเลิกบทเฉพาะกาลทั้งหมดที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ชุดนี้ ซึ่งจะทำให้ ส.ว.ชุดนี้ต้องหมดสถานภาพการเป็น ส.ว.ลงไป การตัดสินใจที่ทำให้ตนเองต้องสูญเสียสถานภาพที่เต็มไปด้วยอำนาจและผลประโยชน์ทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงนั้นเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้เสียสละอย่างใหญ่หลวงเช่นนั้นได้ พวกเขามีแนวโน้มที่จะคิดว่าหากต้องพังพินาศ ก็ต้องพังพินาศด้วยกันทั้งหมดเป็นหลัก


ประการที่สี่ นายกรัฐมนตรีลาออก มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยการลาออกของนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่เงื่อนไขที่ทำให้นายกรัฐมนตรีลาออกมิได้มาจากความตระหนักรู้ด้วยตนเองต่อความร้ายแรงของสถานการณ์ที่เกิดจากการที่ตนเองยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากแต่มาจากการบีบบังคับของอำนาจภายนอก และการบีบบังคับจากภายนอกนั้นมิใช่เกิดจากพลังการชุมนุมของประชาชนโดยตรง แต่มักเกิดจากอำนาจของกองทัพ หรืออำนาจบารมีตามจารีตประเพณี เป็นหลัก ดังนั้นลำพังการชุมนุมแต่เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากอำนาจอื่นหนุนเสริมไม่อาจทำให้นายกรัฐมนตรีลาออกได้ ยกเว้นเสียแต่ว่าสังคมจะเกิดฉันทมติร่วมกันของทุกกลุ่ม และพลังของฉันทมตินั้นส่งผลให้เกิดการเห็นชอบจากพลังที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างอำนาจระดับบน การลาออกของนายกรัฐมนตรีจึงจะมีความเป็นไปได้ แต่ ณ สถานการณ์ที่เป็นอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ ความเป็นไปได้ของทางเลือกนี้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ


ประการที่ห้า การรัฐประหาร มักเป็นทางเลือกที่ถูกหยิบยกมาพูดเสมอเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง ในอดีตศักยภาพของการทำรัฐประหารอยู่ที่ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อลงมือทำแล้วก็มักประสบความสำเร็จ และภายหลังการรัฐประหารก็มักจับกุมกลุ่มที่มีศักยภาพในการต่อต้านรัฐประหารเอาไว้จำนวนหนึ่ง ครั้นเมื่อประเมินว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วก็อาจปล่อยกลุ่มคนเหล่านั้นออกมา ส่วนการชุมนุมขนาดใหญ่ของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐประหารนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยปกติผู้ที่คิดว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นมักให้เหตุผลว่า การรัฐประหารทำให้เกิดการเสียหายทางเศรษฐกิจ และต่างชาติโดยเฉพาะประเทศตะวันตกไม่ยอมรับ แต่นั่นดูเหมือนเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใด เพราะคณะรัฐประหารไม่เคยสนใจว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเสียหายมากหรือน้อย และไม่เคยไยดีว่าประเทศตะวันตกจะยอมรับหรือไม่ เพราะอย่างไรเสียประเทศอาเชียนและประเทศแถบเอเชียก็ยอมรับอยู่ดี ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากไหนก็ตาม ดังนั้นความเสียหายทางเศรษฐกิจและการยอมรับจากต่างชาติจึงไม่อยู่ในสมการของคณะรัฐประหารแต่อย่างใด

สิ่งที่คณะรัฐประหารต้องการคืออำนาจและความมั่นคงของชนชั้นนำที่พวกเขาบูชา เมื่อไรก็ตามที่เกิดสถานการณ์ที่พวกเขาคิดหรือจินตนาการเอาเองว่าจะกระทบกับสถานภาพและอำนาจเหล่านั้น พวกเขาก็มีแนวโน้มจะทำรัฐประหาร และหากมีประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน คณะรัฐประหารก็ไม่ลังเลที่จะใช้กฎหมายเพื่อจับกุมคุมขัง หรือปราบปรามด้วยกำลังอาวุธอย่างรุนแรง ดังที่เราเห็นได้จากเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๓๔ และเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ และหากความขัดแย้งครั้งนี้นำไปสู่การรัฐประหาร ความเป็นไปได้ที่กลุ่มนักศึกษาและเยาวชนปลดแอกจะออกมาต่อต้านก็มีสูงอย่างยิ่ง และหากเป็นเช่นนั้นคณะรัฐประหารก็อาจดำเนินการปราบปรามด้วยความรุนแรง สังคมไทยก็จะอบอวลไปด้วยความรุนแรงเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ในไม่ช้าผู้ก่อความรุนแรงก็มีแนวโน้มที่จะสูญสิ้นความชอบธรรมและหมดอำนาจลงไป กล่าวโดยสรุปความเป็นไปได้ของการรัฐประหารในช่วงตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นปีอยู่ในระดับปานกลาง


ภายใต้ห้าความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น สี่ทางเลือกแรกสามารถดำเนินการได้โดยสันติวิธี และอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีไม่มากก็น้อย แต่ทางเลือกสุดท้ายหรือการรัฐประหารจะเห็นหนทางที่ทำให้ประเทศเดินไปสู่ความมืดมนและความหายนะยิ่งขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น