xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจที่สาม ความรุนแรงของมือที่มองไม่เห็นในประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


การเคลื่อนไหวของนักศึกษาทวีความเข้มข้นมากขึ้นทั้งรูปแบบและเนื้อหา โดยเฉพาะการนำเสนอข้อเรียกร้องที่อ่อนไหวต่อความเชื่อเชิงจารีตนิยมของสังคมไทย กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาและข้อถกเถียงทั้งในแง่การคัดค้านและการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในสังคม บางกลุ่มตระหนกและหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ขณะที่บางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถนำมาอภิปรายกันได้อย่างมีเหตุผล และสิ่งที่น่าสังเกตคือ การชุมนุมเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและโครงสร้างการเมืองในอดีตมักมีความรุนแรงเกิดขึ้นเสมอ บางเหตุการณ์เกิดจากรัฐบาลที่ครองอำนาจในขณะนั้นโดยตรง แต่หลายเหตุการณ์เกิดจาก “อำนาจที่สาม” ซึ่งเป็นมือที่มองไม่เห็น

ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสังคมไทยการชุมนุมขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนและกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและผู้นำการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งมีความรุนแรง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังการการชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่รัฐบาลถนอมในพ.ศ. ๒๕๑๖ การชุมนุมเพื่อต่อต้านการกลับเข้าประเทศของของจอมพลถนอมในปี ๒๕๑๙ การชุมนุมเพื่อต่อต้านการครอบงำและการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.)ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ การชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชายระหว่างปี ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๐ การชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์เมื่อปี ๒๕๕๓ และการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปี ๒๕๕๖

ผู้ที่ก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ปี ๒๕๑๖ นั้น เป็นทหารและตำรวจบางกลุ่มโดยได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่นักศึกษาที่มาชุมนุม แต่เรื่องที่ยังเป็นข้อสงสัยคือ กลุ่มอำนาจใดในกลไกรัฐที่สั่งการให้มีการใช้ความรุนแรง เพราะว่ารัฐบาลถนอมในขณะนั้นก็ได้ยินยอมรับข้อเรียกร้องของนักศึกษาแล้ว และนักศึกษาก็ยุติการชุมนุมและกำลังเดินทางกลับบ้าน แต่กลับมีกองกำลังของรัฐบางฝ่ายปิดกั้นและเริ่มลงมือทำร้ายนักศึกษา จนทำให้เหตุการณ์บานปลายและลุกลาม มีการวิเคราะห์กับว่ามีความเป็นไปได้ที่ “กลุ่มอำนาจที่สาม” ที่อยู่ในกลไกรัฐซึ่งต้องการให้จอมพลถนอมสิ้นสุดอำนาจลงทันทีเป็นผู้สั่งการและจุดชนวนการใช้ความรุนแรง เพราะหากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นรัฐบาลพลเอกถนอมยังอาจอยู่ต่อไปได้อย่างน้อยระยะหนึ่งระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๙ นั้น เมื่อพิจารณาแบบแผนของการเกิดขึ้นแล้ว สามารถอนุมานได้ว่ามีการกระทำอย่างเป็นขบวนการเพื่อปราบปรามและกวาดล้างขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น กลุ่มที่เป็นแกนหลักทางความคิดคือกลุ่มชนชั้นนำอำนาจนิยมจารีตขวาจัดที่มีส่วนผสมหลากหลายกลุ่มทั้งนักการเมือง ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ และสื่อมวลชน และมีมวลชนจัดตั้งทั้งความคิดและการปฏิบัติภายใช้ชื่อ กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล และกลุ่มลุกเสือชาวบ้าน การตอบโต้การตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษาและประชาชนได้มีการวางแผนและดำเนินการอย่างระบบโดยใช้กลยุทธ์การบิดเบือนข้อมูล การปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง สร้างสถานการณ์ และการลงมือปฏิบัติด้วยความรุนแรงทั้งการสังหารด้วยปืน และวิธีการอื่น ๆ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

กรณีเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แกนนำผู้ชุมนุมมีหลากหลายกลุ่มทั้งนักการเมือง นักศึกษา นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ความรุนแรงครั้งนั้นเกิดจากการกระทำของรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยให้ทหารปราบปราม ทำร้าย และสังหารประชาชน และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของคณะรัฐประหาร และกองทัพสูญเสียความไว้วางใจจากสังคมไปนับสิบปี จนต้องลดบทบาททางการเมืองลงชั่วคราว

สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณและตัวแทนซึ่งนำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ระหว่างปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๐ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการปราบปรามของตำรวจที่ได้รับการสั่งการจากรัฐบาลและเกิดจาก “มือที่สาม” ที่ทำร้ายผู้ชุมนุม ส่วนมือที่สามมีกี่กลุ่มและกลุ่มใดบ้างนั้นยังไม่มีหลักฐานครบถ้วน แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงที่สนับสนุนรัฐบาล

ในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)พื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ปี ๒๕๕๓ มีความรุนแรงเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุม ขณะที่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดจากกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธที่มีความเชื่อมโยงกับผู้สนับสนุนและผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม

การชุมนุมขนาดใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๖ เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ นำโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ความรุนแรงเกิดขึ้นจาก “มือที่สาม” เป็นหลัก ซึ่งเชื่อกันว่ามือที่สามนี้มีทั้ง “กลุ่มต่อต้านการชุมนุม” และ “กลุ่มสนับสนุนการชุมนุม” ขณะที่หลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลเกี่ยวข้องกับความรุนแรงด้วยหรือไม่นั้นยังไม่ชัดเจนนัก

จะเห็นได้ว่าความรุนแรงในอดีตที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมเกิดขึ้นจากกลุ่มหลัก ๑) รัฐบาลเป็นผู้สั่งปราบปราม ๒) กลุ่มอำนาจที่สามที่อยู่ในกลไกรัฐ แต่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ) กลุ่มต่อต้านการชุมนุมซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและมวลชนผู้สนับสนุนรัฐบาล ) กลุ่มสนับสนุนการชุมนุมที่หัวรุนแรง และ ๕) กลุ่มที่สร้างสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม หรือกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมใช้วิธีการรุนแรงในการต่อต้านรัฐ


สำหรับการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในปี ๒๕๖๓ นี้ มีนักศึกษาเป็นแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา รัฐบาลประยุทธ์พยายามสกัดและปราบปรามการชุมนุมโดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่าจะใช้ พรก.นี้เพื่อรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ แต่ในต้นเดือนสิงหาคมรัฐบาลกลับจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมโดยตั้งข้อหาตาม พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งกระตุ้นให้นักเรียน นิสิตและนักศึกษามีความคับข้องใจและไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น

การชุมนุมรอบนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม กลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องหลัก ๓ ข้อ คือ ยุบสภา หยุดคุกคามผู้เห็นต่าง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อมามีการเพิ่ม ๒ เงื่อนไขคือ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และไม่เอาการรัฐประหาร สำหรับเงื่อนไขสองข้อที่เพิ่มตามนั้นอาจเป็นเพราะว่าในช่วงนี้มีความเห็นบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมนั่นคือ ให้รัฐบาลประยุทธ์ลาออกและมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อบริหารประเทศชั่วคราวระหว่างมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่คาดว่านักศึกษาคงไม่ไว้วางใจรัฐบาลแห่งชาติและคงเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่มีการพูดถึงกันนั้นไม่ใช่วิถีประชาธิไตย พวกเขาจึงแสดงจุดยืนคัดค้านซึ่งเป็นการตีปลาหน้าไซเอาไว้ก่อน ส่วนการรัฐประหาร ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการอ้างความไม่สงบของการชุมนุมแและการสูญเสียความชอบธรรมของรัฐบาล ก็เป็นสิ่งที่นักศึกษาไม่ยอมรับ และประกาศอย่างชัดเจนว่าจะต่อต้านรัฐประหาร ดังนั้นหากมีกลุ่มอำนาจใดทำรัฐประหารก็คาดว่านักศึกษาคงรวมพลังกันต่อต้าน และอาจทำให้คณะรัฐประหารใช้ความรุนแรงในการปราบปรามนักศึกษาได้

ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นชนวนของความรุนแรงคือการยกระดับข้อเสนอของนักศึกษาในการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันสูงสุดของสังคมไทย และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บางประการระหว่างการชุมนุมที่กระทบต่อความรู้สึกของคนไทยบางกลุ่มที่ยึดมั่นในอุดมการณ์จารีตนิยม

กลุ่มจารีตนิยมมีปฏิบัติการณ์ตอบโต้โดยการไปรื้อฟื้นและจัดตั้งกลุ่มอาชีวะและกลุ่มมวลชนในชื่ออื่น ๆ ขึ้นมาเพื่อต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษา และคาดว่าคงจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่คงไม่รุนแรงเหมือนกับกลุ่มขวาจัดในอดีต อันที่จริงกลุ่มจารีตนิยมได้มีการจัดตั้งความคิดและเดินสายปลูกฝังความเชื่อมาก่อนหน้านี้แล้วระยะหนึ่ง โดยใช้วาทกรรมชังชาติเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนและตีตราคนที่ต้องการปฏิรูปโครงสร้างสูงสุดทางการเมือง การดำเนินการของกลุ่มจารีตปรียบเสมือนการเตรียมการความคิดมวลชนเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจง

การจัดตั้งมวลชนเพื่อต่อต้านเป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากในยุคปัจจุบัน แต่ความรุนแรงที่เกิดจากการปะทะกันแบบซึ่งหน้าของมวลชนที่มีความเชื่อต่างกันนั้นมีไม่มากนัก เพราะแกนนำผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายต่างก็มีความระมัดระวังและพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมักอยู่ในรูปแบบของการ “ลอบทำร้าย” เสียมากกว่า ซึ่งเกิดจากการลงมือของกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่ม หรือ กลุ่มที่จงใจสร้างสถานการณ์ เพื่อโยนความผิดให้กับกลุ่มตรงข้าม ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “ผู้ใดสร้างความรุนแรง ผู้นั้นจะสูญเสียความชอบธรรม” อย่างไรก็ตามความรุนแรงอีกลักษณะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับแกนนำหรือผู้มีบทบาทต่อต้านรัฐบาลในยุคนี้คือ “การบังคับให้สูญหาย” หรือ การลักพาตัวไปทำร้ายหรือสังหารอย่างปราศจากร่องรอย นั่นเอง

สำหรับความรุนแรงที่เป็นทางการจากการกระทำของรัฐบาลนั้น ความเป็นไปได้อย่างมากที่สุดคือการจับกุมโดยใช้กำลังตำรวจและกฎหมาย หรือ หากมีการชุมนุมก็อาจมีการสลายการชุมนุมโดยใช้เครื่องมือสลายฝูงชนตามวิธีปฏิบัติแบบสากล สำหรับการสั่งการให้มีการใช้กองกำลังติดอาวุธปราบปรามและสังหารอย่างเลือกเย็นดังในเหตุการณ์เกือนตุลาคม ๒๕๑๙ และ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ นั้น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นมีค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตามในความขัดแย้งครั้งนี้มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกให้เห็นว่าอาจมี “กลุ่มอำนาจที่สาม” ที่พยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงขึ้น มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มอำนาจที่สามมีอย่างน้อย ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลเหนือกลไกอำนาจรัฐและสามารถใช้อำนาจรัฐแบบข้ามองค์การได้ กลุ่มนี้อาจอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลประยุทธ์ และหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างระดับบุคคลที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจสูงสุด สัญญาณอาจบ่งชี้ถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มนี้คือ การใช้กลไกรัฐและกฎหมายบางอย่างดำเนินการกับบุคคลที่พยายามเตือนการชุมนุมที่มีการพูดและเสนอประเด็นที่อ่อนไหวของนักศึกษา

กลุ่มอำนาจที่สามอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความคิดสุดขั้วที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อแกนนำนักศึกษา บุคคลเหล่านั้นพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาเสนอประเด็นที่อ่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าจะทำให้ผู้ที่ถูกระบุถึง ผู้ใต้บังคับบัญชา และมวลชนที่ศรัทธาจะเกิดความโกรธและหมดความอดทนกับนักศึกษา และลงมือใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา พวกเขาประเมินว่าหากมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นจะนำไปสู่การลุกฮือของมวลชนขึ้นมาโค่นล้มโครงสร้างอำนาจเดิม ตามที่พวกเขาปรารถนา

การเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองนั้นเป็นพัฒนาการที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ หลายครั้งก็เกิดความรุนแรง แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นไปโดยสันติ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ หากสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ก็จะเป็นคุณอย่างมหาศาลต่อสังคมไทย แต่หากเกิดความรุนแรงขึ้นมาก็จะกลายเป็นบาดแผลร้าวลึก ที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไปอีกยาวนาน




กำลังโหลดความคิดเห็น