“วันเสียงปืนแตก” ก็คือวันที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ตัดสินใจเปลี่ยนยุทธวิธีจากหลีกเลี่ยงการปะทะกับฝ่ายรัฐบาล เป็นเผชิญหน้าต่อสู้ด้วยอาวุธ จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธซี่งเรียกว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” (ทปท.) เข้าโจมตีกองกำลังของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง” ปลุกชาวไร่ชาวนาเข้ายึดชนบทโดยรอบ เพื่อจะเข้ายึดเมืองต่อไป
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เดิมเรียกว่า พรรคคอมมิวนิสต์สยามเริ่มก่อตั้งโดย โฮจิมินห์ ซึ่งใช้นามแฝงว่า สหายซุง เปิดประชุมลับครั้งแรกที่ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๓ ขณะที่โฮจิมินห์และคณะได้ลี้ภัยฝรั่งเศสในอินโดจีนเข้ามาไทย เลขาธิการพรรคและคณะกรรมการพรรคต่างเป็นคนญวน
ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งในปี ๒๔๘๕ โดยมีสมาชิกก่อตั้ง ๗๕ คน เปิดประชุมสมัชชาพรรคขึ้น มุ่งสร้างความเสมอภาคทางชนชั้น ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งนั้นอยู่ในช่วงเริ่มสงครามมหาเอเซียบูรพา จึงมีเป้าหมายต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงจึงเปลี่ยนแนวมาเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบบรัฐสภา แต่เมื่อมีการรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ โดยจอมพลผิน ชุณหวัณ เพื่อนำจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งพ้นข้อหาคดีอาชญากรสงครามกลับมาสู่อำนาจ และสหรัฐอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนรัฐบาลไทย (ไหนว่าต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการ) พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้บนดินเป็นการต่อสู้ใต้ดิน ปลุกเร้าคนงานในเมืองและชาวนาในชนบทให้เข้าร่วมการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ จนสามารถขยายเครือข่ายและจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นได้ทั่วประเทศ ในบางพื้นที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์เข้มแข็งจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถย่างกรายเข้าไปได้เลย
วันเสียงปืน แตกเกิดขึ้นที่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อทางราชการได้รับรายงานว่าขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทางการเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” (ผกค.) กลุ่มหนึ่ง มาซ่องสุมอยู่ในป่าใกล้แม่น้ำโขง ปลุกปั่นชาวบ้านในย่านนั้น พ.ต.อ.สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม จึงนำกำลังตำรวจ ๒๐ คนไปด้วยตัวเอง และเดินทางตลอดคืน จนราว ๗ น.ของวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ จึงเกิดการปะทะกันขึ้น ส.ต.อ. ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง เสียชีวิต
พ.ต.อ.สงัดถูกยิงเหนือราวนมขวา ๑ นัด ขาขวา ๑ นัด ส.ต.ต.มนต์ชัย โพธิ์ดอกไม้ ถูกยิงขาขวา ๑ นัด ก่อนที่ฝ่ายตรงข้ามจะล่าถอยไป ทิ้งศพสหายเสถียรไว้ ๑ คน ซึ่งทางการระบุว่า คือ นายยน คำเผือก ส่วน ๒ นายตำรวจที่บาดเจ็บถูกลำเลียงออกจากที่เกิดเหตุส่งต่อให้เฮลิคอปเตอร์นำเข้าโรงพยาบาลตำรวจ และรอดชีวิตทั้ง ๒ คน
เหตุการครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์เข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลด้วยอาวุธ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” ถือเป็นวันเริ่มต้นสงครามประชาชน
ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นักศึกษา กรรมกร และชาวนาที่ถูกรัฐบาลขวาจัดปราบปรามอย่างรุนแรง ได้หลบหนีเข้าป่าไปพี่งพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มจำนวนขึ้นมาก แต่เมื่อการเมืองคลี่คลาย รัฐบาลขวาตกขอบหมดอำนาจลง รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาดำเนินนโยบายสร้างความปรองดองในชาติ ใช้การเมืองนำการทหาร เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กลับสู่เมือง ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดแตกแยกกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ลาวและเขมรซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม เกิดปัญหาขาดความช่วยเหลือ อีกทั้งจีนต้องการเปิดสัมพันธไมตรีกับไทย หลังจากที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ฝ่ากฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ไปเยือนจีน เข้าเยี่ยมพูดคุยอย่างถูกคอกับประธานเหมาเจ๋อตุง จีนจึงตัดความช่ววยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยอ่อนกำลังลงจนต้องยุติบทบาท กลับเข้า เมืองมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาระเทศไทยตามนโยบายของพลเอกเปรม รวมทั้งสหายธง แจ่มศรี คนเชื้อสายเวียตนาม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคนสุดท้าย ก็ได้ยุติบทบาทพร้อมกับพรรค
นักศึกษาและปัญญาชนที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยอุดมการณ์นั้น เมื่อเจอสภาพความเป็นจริงหลายคนก็เกิดตวามขัดแย้งกับกรรมการพรรค ต้องแยกตัวออก และได้รับอภัยโทษตามนโยบายการเมือง กลับมาศึกษาต่อจนประสบความสำเร็จในชีวิต ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างมาก
แม้แต่ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้เข้าเป็นวิทยากรให้กับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายซึ่งนำมาซึ่งคำสั่งที่ ๖๖/๒๕๒๓ ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้เพื่อนพ้องน้องพี่ได้กลับออกจากป่ามามีชีวิตกับครอบครัวอีกครั้ง
ในยุคนั้น ประเทศไทยเป็นเหมือนมีเมฆทะมึนปกคลุมไปทั่ว สังคมมีแต่ความหวาดระแวงและเกลียดชังกันจากการแตกแยกความคิด แต่ด้วยความเป็นรัฐบุรุษไม่ใช่นักการเมืองของผู้นำไทย จึงดำเนินนโยบายพาชาติฝ่าวิกฤติมาสู่ความมั่นคงได้ ไม่ล้มเป็นโดมิโนเหมือนประเทศรอบบ้าน
นี่ก็เป็นบทเรียนหนึ่งจากการแตกของคนในชาติ หวังว่ายุคนี้คงไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์แปลงโฉมมาปลุกปั่นคนที่ไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์ ให้ก่อความวุ่นวายปั่นป่วนจนประเทศชาติอ่อนแออีก เปิดทางให้มหาอำนาจที่ชักใยอยู่เบื้องหลังเข้ามาข่มขู่ตักตวงผลประโยชน์จนประเทศย่อยยับ ประชาชนตกนรกกันทุกหย่อมหญ้า เหมือนลิเบียและอิรักที่เป็นตัวอย่างอยู่ในขณะนี้