xs
xsm
sm
md
lg

ฆ่าตัวตายหนีทุกข์ : เพิ่มทุกข์ให้คนข้างหลัง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



“หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว ตายประชดป่าช้า ไม่ควรทำ” นี่วาทกรรมของนักปราชญ์ท่านหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนไว้ในคอลัมน์ ซอยสวนพลู เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

โดยนัยแห่งวาทกรรมนี้ คงจะหมายถึงพฤติกรรมทำประชด โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายเพราะต้องการประชดใครสักคนที่ตนเองโกรธแค้น แต่ทำอะไรไม่ได้ เช่น ลูกที่โกรธหรือน้อยใจพ่อ แม่ที่ขัดขวางไม่ให้ตนทำในสิ่งที่ต้องการ

อันที่จริง การฆ่าตัวตายมิได้เกิดจากการประชดประชันผู้อื่นเท่านั้น แต่เกิดจากหลายๆ สาเหตุซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

1. ความรักมีอุปสรรค เนื่องจากมีเหตุมาขัดขวาง เช่น ความรักของหนุ่มสาวที่ถูกพ่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกีดกัน จึงชวนกันฆ่าตัวตาย หรืออกหักเนื่องจากคนรักตีจากน้อยใจฆ่าตัวตาย หรือรักเขาข้างเดียวตามงอนง้อขอความรัก แต่ถูกอีกฝ่ายปฏิเสธ จึงฆ่าตายและฆ่าตัวเองตายตาม เป็นต้น

2. มีหนี้สินถูกเจ้าหนี้บีบคั้นหาทางออกไม่ได้ฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้

3. เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ประกอบธุรกิจขาดทุนเกิดความเครียดฆ่าตัวตาย และบางรายฆ่าคนในครอบครัวและฆ่าตัวเอง

4. ป่วยด้วยโรคร้ายรักษาไม่หาย เบื่อหน่ายในชีวิตทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย

5. ป่วยทางจิต เป็นโรคซึมเศร้ามองโลกในแง่ร้าย ต้องการตายไม่ต้องการอยู่

ในขณะนี้ ประเทศไทยได้พบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้ทำการค้นด้วยมาตรการต่างๆ ควบคู่ไปกับทำการรักษาผู้ป่วย หนึ่งในมาตรการก็คือ ประกาศปิดกิจการห้างร้านต่างๆ พร้อมกัน ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม เป็นเหตุให้การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นหลายราย และมีบางคนไม่ต้องการจะตาย แต่ต้องการประท้วงรัฐบาลที่ไม่ให้ความช่วยเหลือ หรือช่วยเหลือช้า ดังที่เกิดขึ้นที่หน้ากระทรวงการคลัง เป็นต้น

ดังนั้น ปัญหาการฆ่าตัวตาย จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่สังคมจะต้องรับรู้ และช่วยกันป้องกันแก้ไข ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

1. เมื่อความผิดปกติเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว หรือคนที่ท่านใกล้ชิด โดยสังเกตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากคนที่เคยร่าเริงกลายเป็นคนเงียบขรึมเก็บตัวเอง ก็จะต้องพยายามเข้าไปสนทนาชักชวนออกไปทำกิจกรรมร่วมกัน รวมไปถึงถ้าเห็นว่ามีอาการรุนแรงถึงขั้นจะทำร้ายตนเอง ก็ควรนำไปพบจิตแพทย์

2. ถ้าเขายอมพูดคุยด้วย และมีท่าทีเป็นมิตร ก็ควรจะสอบถามถึงเหตุที่ทำให้เขาเป็นทุกข์ และวิตกกังวลแล้วแนะนำให้เขามองคนอื่นที่มีปัญหาเช่นเดียวกับเขา แต่ต่อสู้กับปัญหา และผ่านพ้นมรสุมชีวิตไปได้

อันที่จริง คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธ และคำสอนของศาสนาพุทธถือว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปหนัก ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 2 ซึ่งว่าด้วยอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ 3 มีข้อความโดยย่อดังนี้

“พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เรือนยอดป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลี และได้แสดงธรรมว่าด้วย อสุภกถา คือ ถ้อยคำที่ปรารภสิ่งที่ไม่สวยงาม สรรเสริญคุณแห่งอสุภะ และคุณแห่งความเจริญ อสุภะคือ การพิจารณาเห็นร่างกายโดยความเป็นของไม่งามกันทั้งคุณแห่งอสุภสมาบัติโดยปริยายเป็นอันมาก ครั้นแล้วตรัสว่า ทรงพระสงฆ์ จะหลีกเร้นอยู่ตามลำพังตลอดถึงเตือนใครๆ ไม่พึงเข้าเฝ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำอาหารเข้าไปเพียงรูปเดียว

ภิกษุทั้งหลาย ปฏิบัติอสุภภาวนา การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน คือ การพิจารณาร่างกายโดยความเป็นของไม่งามเกิดเบื่อหน่ายรังเกียจร่างกายของตนเหมือนชายหนุ่ม หญิงสาวที่ชอบประดับตกแต่งอาบน้ำดำเกล้าแล้ว รังเกียจซากศพ ซากศพมนุษย์ ซึ่งคล้องอยู่ที่คอฉะนั้น เบื่อหน่ายรังเกียจเช่นนี้ ก็ฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เข้าไปหานายมิคลัณฑิก ผู้แต่งตัวเหมือนสมณะ จ้างด้วยมารจีวรเพื่อให้ฆ่าตนบ้าง โดยนัยนี้นายมิคลัณฑิกรับจ้างฆ่าภิกษุวันละหนึ่งรูปบ้าง สองรูปบ้าง สามรูปบ้าง สี่รูปบ้าง จนถึงหกสิบรูปบ้าง

เมื่อครั้นถึงเดือนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากที่หลีกเร้นทรงทราบเรื่องนั้น จึงเรียกประชุมสงฆ์ทรงสั่งสอน อานาปานสติสมาธิคือการทำใจให้สงบ โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกโดยปริยายต่างๆ แล้วทรงปรารภเรื่องภิกษุฆ่าตัวตาย ฆ่ากันและกัน รวมทั้งจากคนอื่นให้ฆ่าตน ทรงติเตียนแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุฆ่ามนุษย์ หรือใช้ให้คนอื่นฆ่าทรงปรับอาบัติแก่ผู้ล่วงละเมิด

โดยนัยดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า การฆ่าตัวตายไม่ว่าจะเกิดจากเหตุอันใด ก่อให้เกิดความทุกข์แก่คนที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งมีความรักและห่วงใย ไม่ต้องการให้จากไปและยังเป็นบาปแก่ตนเองถึงขั้นเป็นครุกรรมคือห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานด้วย

ดังนั้น ท่านที่เป็นชาวพุทธ ควรจะใช้สติเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา อย่าวู่วาม และทำตามใจตนเอง ก็จะทำให้หลุดพ้นจากปัญหาฆ่าตัวตายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น