ชั่วข้ามคืนที่กระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID -19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน มีคนฝ่าด่านเข้าไปลงทะเบียนสำเร็จประมาณ 9 ล้าน 6 แสนคน และมีคนรออยู่อีกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน
ลงทะเบียนสำเร็จไม่ได้หมายความว่า จะได้รับเงินเยียวยา เพราะจะต้องผ่านการคัดกรองตรวจสอบว่า มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้หรือไม่ คือ ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ ที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้ว ไม่ใช่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนรับเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หมอนวด เด็กเสิร์ฟ ช่างตัดผม แรงงานนอกระบบ ฯลฯ ที่ขาดรายได้ เพราะรัฐบาลสั่งให้ปิดห้าง สถานบันเทิง ร้านอาหาร ฯลฯ เพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายวง
อย่างไรก็ตาม เชื่อได้เลยว่า จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มีสิทธิต้องมากกว่า 3 ล้านคนอยู่แล้ว 3 ล้านคนนั้น เป็นตัวเลขประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อให้รู้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร และรัฐบาลน่าจะมีเจตนาแจกให้กับทุกๆ คนที่ลงทะเบียนเข้ามา ยกเว้นคนที่ไม่มีสิทธิจริงๆ ที่ตรวจสอบได้ง่าย คือ คนที่มีชื่ออยู่ในระบบสวัสดิการอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น ประกันสังคม มาตรา 33 ข้าราชการบำนาญ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจาก ธ.ก.ส. เป็นต้น
พ้นไปจากนี้ รัฐบาลแจกให้หมดทุกคน และเป็นไปได้มากกว่าครบ 3 เดือนแล้ว น่าจะแจกต่อไปอีก เพราะสมมติว่า ควบคุมการระบาดได้แล้ว แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรง บวกไปอีกอย่างน้อยครึ่งปี เศรษฐกิจจึงจะฟื้นเดินหน้าได้
การระบาดของไวรัสโควิด-19 คราวนี้ ไม่ต่างจากสงครามใหญ่ สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สงครามนั้น เป็นการรบของคน ส่วนการระบาดของโรคเป็นศึกระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรค สงครามโลกทั้งสองครั้งทำความเสียหายให้กับชีวิต ทรัพย์สินมหาศาล โรงงาน โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายพังพินาศ เป็นสาเหตุให้เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว เศรษฐกิจทั้งโลกตกต่ำรุนแรง
สงครามไวรัสครั้งนี้ยังไม่จบ แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว สายการบินหยุดบิน โรงแรมปิด โรงงานผลิตรถยนต์หยุดผลิตชั่วคราว ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหารปิด สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ คนว่างงาน ผู้ประกอบการขาดรายได้ คนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบในทันที เช่น พนักงานประจำ ก็ไม่แน่ว่า นานไปกว่านี้จะเกิดอะไรขึ้น
มาตรการแจกเงิน 15,000 บาทต่อคน แบ่งจ่าย 3 เดือนๆ ละ 5,000 บาท ไม่มากเลยเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่แต่ละคนเคยได้ก่อนเกิดการระบาด แต่ก็เป็นจำนวนที่พอจะทำให้ประคองตัวไปได้ เป็นเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเฉพาะหน้าไปก่อน
ก่อนหน้าที่การระบาดจะรุนแรง รัฐบาลออกมาตรการมาชุดหนึ่ง ตอนแรกจะมีการแจกเงินประชาชนด้วย แต่ยังไม่กำหนดจำนวนแน่นอน ปรากฏว่าถูกโจมตีอย่างรุนแรง ว่า สิ้นเปลือง แจกแล้วไม่ได้อะไร ทำไมไม่นำเงินไปซื้อหน้ากาก อุปกรณ์การแพทย์ เตรียมรับมือโควิด จนนายกรัฐมนตรีต้องสั่งให้ถอนมาตรการนี้ออกไป
คราวนี้แจกมากกว่าเดิมไม่มีใครด่า กลับสนับสนุนให้แจกมากกว่านี้ ถ้าเงินไม่พอ ไปกู้มาก่อนก็ได้สัก 1-2 แสนล้านบาท เพราะทุกคนเห็นแล้วว่า ผลกระทบเป็นอย่างไร
หลายประเทศในโลกนี้ ใช้มาตรการแจกเงิน หรือเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ล่าสุดคือ สหรัฐอเมริกา ที่รัฐสภาเพิ่งจะผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยหนึ่งในมาตรการเหล่านั้นคือ แจกเงิน 1,200 เหรียญ หรือประมาณ 40,000 บาทให้กับคนอเมริกันทุกคนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 7,500 เหรียญ และแจกเงินให้เด็กคนละ 500 เหรียญ
มิลตัน ฟรายด์แมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เป็นคนบัญญัติศัพท์ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน โดยเสนอให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินแจกให้ถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่ต้องผ่านกลไกดอกเบี้ยหรือนโยบายการเงิน เมื่อประชาชนได้รับเงิน ก็เชื่อว่า จะนำไปจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
ประเทศไทยใช้เงินเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ กระตุ้นเศรษฐกิจมานานแล้ว ใช้ชื่อต่างๆ กัน ครั้งแรกเลยเรียกว่า โครงการเงินผันสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2517 จ้างชาวบ้านขุดสระ ซ่อนถนน สร้างสะพาน แลกกับเงินค่าจ้าง
โครงการมิยาซาว่า ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2542 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ใช้เงินกู้จากญี่ปุ่น 53,000 ล้านบาท กระจายสู่ท้องถิ่น จ้างงาน และแจกฟรีให้กับเด็กและคนชรา
โครงการกองทุนหมู่บ้านสมัยรัฐบาลไทยรักไทย โครงการไทยเข้มแข็ง ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาทที่อยู่ในระบบประกันสังคม
มาตรการแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนั้นถือว่า เป็นเฮลิคอปตอร์ มันนี่ก้อนใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และครอบคลุมประชาชนจำนวนมากกว่า เพื่อประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤตเฉพาะหน้า ก่อนที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหลังการระบาด ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะรุนแรงขนาดไหน และจะยืดเยื้อหรือไม่