สมาพันธ์แรงงานนอกระบบฯ วอนรัฐบาลเยียวยาคนทั้งในและนอกระบบประกันสังคม ให้ธนาคารพักชำระหนี้ 12 เดือน เสนอใช้โอกาสคนกลับบ้านสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ แก้ไขปัญหาระยะยาว
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ของรัฐบาลนั้น จะต้องครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งประเทศที่มีจำนวนกว่า 21.6 ล้านคน คือ ในระบบประกันสังคมมาตรา 39-40 จำนวน 3 ล้านคน และที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมอีกจำนวน 18.6 ล้านคน เพราะล้วนได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องมีมาตรการให้สถาบันการเงินทุกแห่งพักชำระหนี้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับทุกกรณี เป็นระยะเวลา 12 เดือน เนื่องจากแรงงานหลายกลุ่มประสบปัญหาด้านรายได้ และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกันภายหลังเหตุการณ์วิกฤตก็จะต้องเข้าสู่ระยะเวลาการฟื้นฟู จึงขอให้ธนาคารออมสินทำการรีไฟแนนซ์ (refinance) หนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบแทน
“สถานการณ์ขณะนี้ส่งผลเดือดร้อนต่อประชาชนทั้งประเทศ ถ้ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ก็จะไม่เกิดความเป็นธรรมกับคนที่อยู่นอกกลุ่ม เช่นเดียวกับสถาบันการเงินทุกแห่งที่ต้องพักชำระหนี้ เพราะถึงจะลดให้ส่งเฉพาะดอกเบี้ย แต่เมื่อทำงานอะไรไม่ได้แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปส่ง เพราะสถานการณ์นี้ล้วนไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบกับแรงงานทั้งนอกระบบและในระบบ” นางสุจิน ระบุ
นางสุจิน ยังกล่าวถึงมาตรการสำหรับแรงงานที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด ควรมีสิทธิในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทุกโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรค ขณะเดียวกันรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างนักการเกษตรและนักการตลาดรุ่นใหม่ ที่สามารถทำตลาดออนไลน์ขายผลผลิตตรงส่งผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานย้ายถิ่นฐานที่้ต้องเข้ามาทำงานในเมืองหลวง
สำหรับแนวทางระยะสั้น คือ เร่งสนับสนุนการปลูกพืชหมุนเวียนระยะสั้น เพื่อให้แรงงานสามารถขายมีรายได้เสริมในช่วงที่อยู่บ้าน บรรเทาความเดือดร้อนด้านค่าครองชีพ เมื่อมีรายได้พอเพียงก็จะลดจำนวนแรงงานย้ายถิ่นได้ในอนาคต ขณะที่แนวทางระยะยาวต้องจัดทำฐานข้อมูล พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่
“ขณะนี้เราควรเร่งให้แรงงานปลูกพืชระยะสั้นขาย ให้มีรายได้ระหว่าง 2-3 เดือนที่อยู่บ้าน ถ้าเขาเห็นว่าดีก็จะไม่อยากกลับเข้ามาไปในเมือง เราก็ต่อยอดให้เขาเป็นนักการตลาดที่สามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ เพราะสุดท้ายถ้ารายได้พอเพียงก็ไม่มีใครที่จะอยากกลับมาเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งนี่จะเป็นความยั่งยืน เป็นแนวทางการเกษตรของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ทั้งยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารต่อไป” นางสุจิน กล่าว