6 อดีต กสม.ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐยุติการใช้กฎหมายคุกคาม ผู้เห็นต่างย้ำเยาวชนมีสิทธิเสรีภาพแสดงความเห็น ควรใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ปัญหามากกว่ามองใครถูกผิด ระบุข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง รัฐบาล-ภาคประชาสังคมควรรับฟังด้วยขันติ-อหิงสาธรรม มากกว่าปลุกระดมให้คนไทยเกลียดชังกัน เหตุหวั่นบานปลายรุนแรง
วันนี้ (21 ส.ค.) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน 6 คน ประกอบด้วย นายวสันต์ พานิช, นางสุนี ไชยรส, น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องขอให้เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยุติการคุกคาม และการดำเนินคดีอาญาต่อนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน โดยระบุว่า
หลังรัฐประหาร 2557 ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ แม้ต่อมารัฐบาลจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลก็ยังคงถูกมองว่าพยายามสืบทอดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน นิสิตนักศึกษา มองว่าเป็นการปิดกั้นการวางแผนอนาคตของคนรุ่นใหม่
อีกทั้งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยทวีความรุนแรงขึ้น เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ถูกมองว่าเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ และมักถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆกันโดยเฉพาะการถูกคุกคามโดยกฎหมาย (Judicial Harassment) จนนำมาสู่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคาม แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ให้ประเทศไทยคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากแต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกตีความบิดเบือน และอาฆาตมาดร้ายจากคนบางคนบางกลุ่มว่าข้อเรียกร้องของเยาวชนเป็นความพยายาม “ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งการตีความลักษณะนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยมากขึ้น
ในฐานะผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน และมีความเห็นว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลมีหน้าที่เอื้ออำนวยให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ และปกป้องคุ้มครองผู้ร่วมชุมนุมจากการถูกคุกคามทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงตระหนักว่าเด็กทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยปราศจากความกลัว เด็กมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทั้งทางการเมืองและสังคมที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา และรัฐต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองเด็กทุกคนจากความรุนแรงทั้งทางวาจา และการใช้ความรุนแรงที่เกิดจากอคติ
พวกข้าพเจ้ามีความห่วงใยอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันอาจลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงดังที่เคยปรากฏในอดีต จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 1. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการแสดงออกอย่างสันติของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน และยุติการคุกคามทุกรูปแบบทั้งการเฝ้าติดตาม สอดแนม รวมถึงการคุกคามทางกฎหมายด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่างจากรัฐ
2. รัฐบาลควรแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติ โดยนำหลักรัฐศาสตร์มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา มากกว่ามองว่าใครผิดใครถูก และใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และความไม่ไว้วางใจรัฐมากยิ่งขึ้น
3. ในส่วนข้อเสนอของผู้ชุมนุมเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ในกรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือล้มล้างสถาบัน หากแต่เป็นการนำเสนอเพื่อตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่กับสังคมไทยอย่างสง่างาม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลและภาคประชาสังคมทุกฝ่ายจึงควรรับฟังซึ่งกันและกันด้วยขันติและอหิงสาธรรม และไม่ควรนำประเด็นนี้ไปใช้ในการปลุกระดมให้คนไทยเกลียดชังกัน ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงของคนในชาติ 4. รัฐบาลและรัฐสภาควรเร่งดำเนินการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก่อนยุบสภาเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับมติของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ และจัดตั้งสภาสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
5. รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ควรดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในทุกกิจการที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง และรับประกันว่าจะต้องไม่มีการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ กรณีเด็กทำผิดกฎหมาย ต้องมีการประกันว่าเด็กและเยาวชนทุกคนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตามกระบวนการกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ หวังอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะทำให้คนไทยทุกคนจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของการร่วมทุกข์ร่วมสุขกันบนพื้นฐานของความแตกต่างทางความคิด มีความอดทนอดกลั้นและยืดหยุ่นต่อกัน เพื่อเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยสืบไป