xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บิ๊กอ๊อด” ตัวละครลับ “คดีบอส” กับปฏิบัติการ “อุ้มเนตร นาคสุข”??

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดูเหมือนจะยังคงย่ำอยู่กับที่และยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่า ใครและอะไรมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติเป่าคดีให้บอสพ้นมลทิน โดยเฉพาะ “สำนักงานอัยการสูงสุด” ที่สังคมเฝ้าจับตากระบวนการตรวจสอบ  “กันเอง”  ของหน่วยงานแห่งนี้ว่าจะออกมาอย่างไร และจะสามารถสร้างศรัทธาให้กับกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ หลังจาก  “นายเนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด ข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร” และยืนยันว่าทำหน้าที่ตามประจักษ์พยานและหลักฐานที่พนักงานสอบสวนชงมา อะไรๆ เรื่องก็กลับมาร้อนและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอีกครั้ง เมื่อ “นายอรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอัยการ (กอ.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีวาระเรื่องการตั้งกรรมการสอบดุลยพินิจ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิต และผลออกมาว่า “เสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมไม่เห็นชอบ ทำให้ไม่สามารถตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้” 

 แปลไทยเป็นไทยก็คือ นายเนตรใช้ดุลยพินิจในการสั่งคดีอย่างถูกต้อง และถ้าจะกล่าวชัดๆ ว่า เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม กอ. “อุ้มเนตร” ก็คงจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก 

จากการให้สัมภาษณ์ของนายอรรถพล การประชุม กอ.ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 15 คน มีเพียง 5 คนเท่านั้น ที่เห็นชอบให้ตั้งกรรมการสอบการใช้ “ดุลยพินิจ” ของนายเนตร ส่วนที่เหลืออีก 9 เสียงไม่เห็นด้วย อีก 1 เสียงคือนายเนตรซึ่งเป็น กอ.โดยตำแหน่งลุกออกจากที่ประชุม ซึ่งนั่นหมายความว่า กอ.ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบนายเนตรได้ และไม่สามารถเสนอกลับมาเข้าได้อีก ดังนั้น กระบวนการสอบสวนจะเหลือเพียงคณะทำงานตรวจสอบความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ที่มี “นายสมศักดิ์ บุญทอง” อดีตรองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงานที่  “นายวงศ์สกุล กิติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด” ตั้งขึ้นมาเท่านั้น

และเมื่อวิเคราะห์ผลการลงคะแนนอย่างละเอียดก็จะพบความน่าสนใจว่า กอ.5 คนที่เห็นชอบให้ตั้งกรรมการสอบการใช้ดุลยพินิจของนายเนตร ประกอบด้วย  1.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง 2.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจ 3.นายไพรัช วรปาณิ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ 4.นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรี และ 5.นายชาตรี สุวรรณิน ผู้ตรวจอัยการ  ส่วนที่เหลืออีก 9 คนที่  “อุ้มเนตร”  ประกอบด้วย  1.นายวงศ์สกุล กิติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด 2.นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด 3.นายสาวิตร บุญประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุด 4.นายสุริยะ แบ่งส่วนรองอัยการสูงสุด 5.ร.ท.ไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด 6.นางพิมพร โอวาสิทธิ์ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ 7.นายประสาน หัตถกรรม กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ 8.นายกิตติ ไกรสิงห์ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ และ 9.นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ 

จะบอกว่า กอ.แตกเป็นเสี่ยงๆ ก็คงไม่น่าจะใช่ เพราะเสียงส่วนใหญ่ของ กอ.ล้วนแล้วแต่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และถ้าดูปฏิกิริยาจากสำนักงานอัยการสูงสุดที่ผ่านมาในการตรวจสอบคดีนี้และการทำหน้าที่ของนายเนตร ผลที่ออกมาก็ล้วนแล้วมิได้เห็นว่านายเนตรดำเนินการโดยมิชอบ เช่น กรณีการที่นายเนตรใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องแทนอัยการสูงสุด คณะกรรมการตรวจสอบก็มีความเห็นว่า สามารถทำได้

ดังนั้น คงไม่ต้องคาดหวังอะไรมากไปกว่านี้ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า ถึงอย่างไร  “เนตรก็รอด” 

แต่สุดท้ายแล้วผลจะออกอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป

แต่ที่ต้องร้องว้าวก็คือเมื่อตรวจสอบ  “ขบวนการอุ้มบอสผ่าน กมธ.กฎหมายฯ สนช.”  เพราะมีข้อมูลยืนยันชัดแจ้งออกมาแล้วว่ามี  “นายตำรวจใหญ่” เป็น “ตัวละครลับ” ถูกกพาดพิงว่าเป็นผู้พานักวิชาการไปกดดันให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเปลี่ยนความเร็วรถยนต์ของบอส จาก 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหลือไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ชื่อของ “ตัวละคร” ลับเป็นที่โจษจันและค้นหาว่าคือใคร เมื่อ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ให้ปากคำต่อ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ชุดปัจจุบันว่า ได้รับแรงกดดันจากผู้บัญชาการระดับสูง จนต้องกลับความเห็นความเร็วรถจาก 177 เหลือ 79.22 กม.ต่อ ชม. แต่เมื่อพบความผิดพลาดของการคำนวณ 40% จึงพยายามขอแก้ไขในสำนวนแต่ไม่ทัน

และในเวลาต่อมาเป็นที่ชัดแจ้งว่าคือ “บิ๊กอ๊อด-พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เวลานี้ผันตัวไปเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และมีปัญหาการบริหารจัดการภายในสมาคมฯ มาอย่างต่อเนื่อง

“บิ๊กอ๊อด” ถูกพาดพิงว่าเป็นผู้พา  “ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม” ไปเข้าพบ “พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น”  (ยศขณะนั้น ปัจจุบันคือ พ.ต.อ.) ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ในวันที่ 26 กุมภาพันธุ์ พ.ศ.2559 เพื่อเสนอสูตรคำนวณความเร็วใหม่ จนความเร็วรถของบอส อยู่วิทยา เหลือไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องในท้ายที่สุด

ไทม์ไลน์ที่บันทึกในเอกสารระบุว่า พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ (ยศในขณะนั้น) เป็นเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. ที่ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุมาตั้งแต่วันเกิดเหตุ และเป็นผู้ออกรายงานการตรวจพิสูจน์ ยืนยันความเร็วที่ 177 กม./ชม. ลงวันที่ 26 ก.ย. 55 หลังจากนั้นอีก 4 ปี คือ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 59 พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี ผกก.สอบสวน สน.ทองหล่อ ได้เดินทางมาพร้อมกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. และ ดร.สายประสิทธิ์ ขอเข้าพบ พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผบ.สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่สำนักงานของ พล.ต.ท.มนู

ในวันเดียวกันนั้น พล.ต.อ.สมยศ ได้แนะนำ ดร.สายประสิทธิ์ ให้ผู้แทนกองพิสูจน์หลักฐานกลางทำความรู้จัก และแจ้งว่า ดร.สายประสิทธิ์ มีสมมติฐานอีกวิธีมานำเสนอ การหาอัตราความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธเป็นผู้ขับขี่ โดยนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ 10 หน้า ระบุความเร็ว 79.22 กม./ชม. และได้มอบเอกสารดังกล่าวให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง จากนั้นได้มีการสั่งการให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ เข้าร่วมพิจารณากับ พ.ต.อ.วิรดล ในสำนักงานกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ซึ่ง พ.ต.อ.วิรดลได้ส่งเอกสารสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 14 ม.ค. 59 โดยข้อความท้ายหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีสอบสวนเพิ่มเติม พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ และส่งผลการสอบสวนให้พนักงานอัยการภาย ในวันที่ 12 ก.พ. 59 พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ได้มีการคำนวณความเร็วตามสมมติฐานของ ดร.สายประสิทธิ์ ในกระดาษอีกแผ่น ซึ่งได้ค่าใกล้เคียงกัน พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ ลงนามไว้ว่าเป็นการคำนวณของตนเอง

พร้อมกันนั้น พ.ต.อ.วิรดล ให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ ให้ปากคำเรื่องการคำนวณตามสมมติฐานของ ดร.สายประสิทธิ์ โดยถามถึงความคลาดเคลื่อน ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการคำนวณตามรายงานการตรวจพิสูจน์ เมื่อ 26 ก.ย. 55 ที่ได้ 177 กม./ชม. ซึ่ง พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ ได้ให้ปากคำว่า อาจเกิดขึ้นได้ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ส่วนในเรื่องความคลาดเคลื่อนตามสมมติฐานของ ดร.สายประสิทธิ์ ซึ่งในเวลานั้นเพิ่งได้เห็นสมมุติฐานของ ดร.สายประสิทธิ์ เป็นครั้งแรก จึงไม่สามารถบอกได้ว่า มีความคลาดเคลื่อนหรือความบกพร่องอย่างไร

พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ ได้ให้ปากคำในวันนั้น จนถึงเวลา 22.00 น. สุดท้ายจึงลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ 26 ก.พ. 59 อีกฉบับ ลงวันที่ 2 มี.ค.59 โดยมีการให้เหตุผลว่า ถูกเร่งรัดให้รีบดำเนินการ
ต่อมา 29 มี.ค. 59 พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ นำรายงานการคำนวณของ ดร.สายประสิทธิ์ มาให้ ร.ต.อ.ชวลิต ร.ต.ท.ปิยวัฒน์ ตรวจสอบ พบว่า การกำหนดให้ค่าตัวแปรต่างๆ ของ ดร.สายประสิทธิ์ ผิดไปจากความเป็นจริงมาก จึงทำให้ความเร็วที่ได้เท่ากับ 79.22 กม./ชม. ซึ่งเป็นค่าคำนวณที่ไม่ถูกต้อง จึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาขอให้ประสานไปยัง พ.ต.อ.วิรดล ผกก.สอบสวน สน.ทองหล่อ เพื่อขอให้ปากคำเพิ่มเติม ยืนยันผลการตรวจพิสูจน์ ที่ 177 กม./ชม. ตามรายงานเดิม ซึ่งในวันนั้น ผู้บังคับบัญชาได้โทร. ประสาน พ.ต.อ.วิรดลทันที แต่ พ.ต.อ.วิรดล ปฏิเสธว่า ไม่สามารถสอบปากคำเพิ่มเติมได้ และได้ส่งเอกสารการให้ปากคำให้กับพนักงานอัยการแล้ว พร้อมทั้งยังได้อ้างเหตุว่า คดีเรื่องขับรถเร็วขาดอายุความไปแล้ว ทำให้ผู้บังคับบัญชา และ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ สำคัญผิดว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกใช้ในสำนวนแล้ว แต่ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ ยืนยันกับผู้บังคับบัญชาว่าจะให้ปากคำเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องในสำนวน

จากนั้น วันที่ 21 ก.ค. 59 พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ได้เดินทางไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเข้าร่วมการประชุม กมธ.กฎหมายฯ สนช. แต่เมื่อไปถึงห้องประชุม ได้มีเจ้าหน้าที่สภามาแจ้งว่าขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อน และไม่เคยมีใครติดต่อไปจนปัจจุบัน กระทั่งวันที่ 11 ส.ค. 60 และ 4 ก.ย. 60 พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เดินทางไปให้ถ้อยคำกับจเรตำรวจ และสำนักงาน ป.ป.ช. และได้แจ้งว่าขอเพิ่มเติมความเห็นในกรณีความเร็วของรถ ว่าสามารถพบความบกพร่องของสมมติฐานในการคำนวณความเร็วของ ดร.สายประสิทธิ์ ดังนั้น ความเร็ว 79.22 กม./ชม. จึงไม่ถูกต้อง ซึ่งทั้งมีบันทึกคำให้การถูกคัดถ่ายเป็นสำเนาไว้ ดังนั้น ในความเห็นของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ เขายืนยันว่าไม่ได้กลับคำให้การในเรื่องการคำนวณความเร็วแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี “พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก” ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ขณะเกิดเหตุเป็นผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ยศ พล.ต.ท. ในฐานะผู้บังคับบัญชา พ.ต.ท.ธนสิทธิ) และ “พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี” อดีตพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ (ยศขณะนั้นคือ พ.ต.ท.) เจ้าของสำนวนคดีบอส อยู่วิทยาขณะนั้น ยืนยันว่า ในวันดังกล่าว “พล.ต.อ.สมยศไม่ได้มาด้วย” แต่ทั้งคู่กลับให้คำตอบชัดเจนไม่ได้ว่า แล้วเหตุใด ดร..สายประสิทธิ์จึงมาพบกับ พ.ต.ท.ธนสิทธิกับคณะทำงานได้

พล.ต.อ.มนูอ้างว่า คิดว่าพนักงานสอบสวนเป็นผู้พา ดร.สายประสิทธิ์มา

. ส่วน พ.ต.อ.วิรดลอ้างว่า พอมาถึง ก็เห็น ดร.สายประสิทธิ์อยู่ในห้องกับ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์และคณะทำงานแล้ว

ถึงกระนั้นก็ดี ในประเด็นนี้ มีความชัดเจนจนดิ้นไม่หลุดอีกครั้ง เมื่อนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ได้เชิญ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์มาให้ข้อมูล โดยนายวิชาออกมาบอกต่อสาธารณชนชัดเจนว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ยอมรับว่าคนที่พานายสายประสิทธิ์มา คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ในขณะนั้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.สมยศได้เดินทางเข้าให้ปากคำถึงกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการชุดของนายวิชา มหาคุณ ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า “ได้อยู่ในห้องประชุมพร้อมคณะทำงานของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น พนักงานพิสูจน์หลักฐาน ในขณะนั้นหรือไม่” พล.ต.อ.สมยศตอบว่า จะชี้แจงในห้องประชุมต่อคณะกรรมการฯ และเมื่อถามว่ามีความกังวลในการให้ข้อมูลคดีนี้หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวสั้นๆ ก่อนขึ้นลิฟต์ไปห้องประชุมว่า  “สบายๆ” และให้สัมภาษณ์ยืนยันหลังชี้แจงเสร็จว่า “ช่วงเวลานั้นระหว่างวันที่ 23 -28 ก.พ.2559 ผมเดินทางไปประชุมฟีฟ่า ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงไม่ได้อยู่ในห้องสอบสวนคดีตามที่มีการกล่าวอ้าง ส่วนใครพูดอะไรไว้ ทำอะไรไว้ก็ต้องรับผิดชอบ”

ส่วนคณะกรรมการชุดที่  “บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา”  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งขึ้นมานั้น ขณะนี้ได้ส่งผลสรุปความเห็นการตรวจสอบถึงมือ พล.ต.อ.จักรทิพย์เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาใน 2 ส่วน คือ การดำเนินคดีกับนายวรยุทธ และการดำเนินการทางวินัยกับตำรวจ 20 นาย เป็นผู้ที่ยังอยู่ในราชการ และเกษียณไปแล้ว โดยในจำนวนนี้มี 11 นาย เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดไปแล้ว ส่วนที่เหลือ 9 นาย คณะกรรมการฯ เพิ่งตรวจสอบความผิดเพิ่มเติม

“ตำรวจในกลุ่มนี้มีตั้งแต่ระดับสารวัตร ถึงผู้บัญชาการ บางส่วนเกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งรายชื่อทั้งหมดจะถูกส่งให้กองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาโทษทางวินัยและความผิดทางอาญา หากมีมูลจะส่งต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป” พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจสอบตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการ คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 กล่าว

เอาเป็นว่า คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วดคีบอส-กระทิงแดงจะลากโยงไปถึง “ใคร” ให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ้าง.


กำลังโหลดความคิดเห็น