ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ หัวหน้าศูนย์ STECO ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท SCG Logistics ในกิจกรรม STECO Online Forum ครั้งที่ 10 เกี่ยวกับ Next Normal for Logistics Service
คุณไพฑูรย์ ได้ถอดบทเรียนของ SCG Logistics จากสภาวะวิกฤติที่ผ่านมาในช่วงโควิดมาใหม่ๆ ประเทศเกิดการ Lock down และเคอร์ฟิวในแต่ละจังหวัด มีปัญหาและสับสนมาก อย่างแรกที่บริษัทเจอ คือ สินค้าต้องเป็น Consumer products เท่านั้นถึงจะจัดส่งได้และจำเป็นต้องมีใบรับรองคนขับรถ และใบยืนยันการเดินทางตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มา อย่างบางที่ผ่านไปตอนกลางคืน ผู้บังคับกฎหมายไม่มีปัญหา บางที่มีปัญหา เช่น ให้ไปไม่ได้ต้องถูกกัก เป็นต้น ต้องไปเรียนรู้และหาข้อมูลกลับมา อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ก็ยังมีความไม่เข้าใจอยู่ บริษัทจึงมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะทางสภาหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมเพื่อความชัดเจนว่าสิ่งใดที่ทางโลจิสติกส์ทำได้บ้างในช่วงของการ Lock down สิ่งที่ SCG Logistics ทำได้เองมี 2 ส่วน คือ B2B กับ B2C ในส่วน B2B เมื่อสินค้าเข้ามาที่ศูนย์กระขายสินค้าวังน้อย ต้องตรวจสอบสินค้าว่ามาส่งของเราจริงหรือไม่ ตรวจเอกสารผู้ขับรถ พนักงานก็ใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และฆ่าเชื้อรถขนส่งและพัสดุทุกส่วนโดยการพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ในทุกขั้นตอนการนำรถกับพัสดุเข้า-ออกด้วย เป็นต้น ส่วน B2C ซึ่งเกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรง เช่น SCG Express ที่จะส่งถึงมือลูกค้า เราจึงสร้างมาตรฐานความสะอาดขึ้นมานั่นก็คือ ‘กฎ 3 Safe’ คือ 1. People safe 2. Parcel safeและ 3. Customer safe ทั้งหมดนี้เพราะ เราใส่ใจให้พนักงาน สินค้า และลูกค้าต้องปลอดภัยที่สุด และซัพพลายเชนทั้งหมดของเราก็จะได้ราบรื่น
Next normal ของการให้บริการโลจิสติกส์ในปัจจุบัน เราต้องมาวิเคราะห์ ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างและอะไรที่จะกระทบเราบ้าง ในส่วนของซัพพลายเชนต้องมีความยืดหยุ่น ความยืดหยุ่นในที่นี้ คือ เราต้องกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด เปลี่ยนจาก Just-In-Time (JIT) เป็น Just-In-Case (JIC) นอกจากสินค้าคงคลังต้องต่ำแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เราต้องมาดูว่าอันไหนสินค้าที่จำเป็นและต้องส่งออกไปก่อน เนื่องจากถ้ายังทำแบบ JIT อยู่นั้นอาจจะไม่ทันการณ์และจะสูญเสียรายได้ไป อีกทั้งประสิทธิภาพด้านต้นทุนอาจจะเป็นเรื่องรองในแง่ของการทำ JIC หัวใจสำคัญของธุรกิจมีเพียง 3 ตัว คือ Cost Cost Cost 3 ตัวนี้ยังคงเป็นวาจาอมตะและเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญในแง่การดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อย่างไรก็ตามเรื่องประสิทธิภาพด้านต้นทุนที่เป็นปัจจัยรองก็อาจจะยืดหยุ่นได้บ้างหากต้องให้ซัพพลายเชนไปต่อได้ ส่วนของ DC ส่วนกลางบางอย่างต้องย้ายไปยัง DC ระดับภูมิภาคเพื่อให้ของถึงมือลูกค้าเร็วที่สุด
ทางด้านกลยุทธ์ต้องมองพฤติกรรมของลูกค้า ยิ่งช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนต้องทำต้นทุนให้ดีหมด อย่างไรก็ตามในแง่ของโลจิสติกส์ก็มีต้นทุนพอสมควรเช่นกัน เรื่องพลังงานกับคนภายในของเราเป็นเรื่องที่ควบคุมยากแต่สามารถทำให้มันเหมาะสมได้ ส่วนเรื่องปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว ด้านพนักงานที่ทำงานขั้นตอนซ้ำๆ ลดตรงนี้ลงเราก็จะประหยัดต้นทุนมากขึ้นและแข่งขันได้ ลูกค้าก็ต้องการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ถูกเร็วดี ซึ่งเราต้องเจาะโจทย์ลูกค้าให้ได้ ขณะเดียวกันเราต้องมีบริการที่เข้าไปหาลูกค้าทีเดียวคือลูกค้าอยากได้อะไรเรามีทั้งหมด เช่น ต้องการนำสินค้าเข้า-ออก การคัดกรองสินค้า การทำ Online เป็นต้น ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ นี่คือการทำ End-to-End Solution ให้แก่ลูกค้าได้ เมื่อลูกค้าต้องการของถูกและดี อยากเห็นทั้งซัพพลายเชนทั้งหมดของเขาไปถึงไหนแล้ว ต้องเห็นได้ถึงแผงควบคุมต่างๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่เขาต้องการ
อีกหนึ่งอย่างตอนนี้สินค้าที่ต้องการส่งไปต่างประเทศ ณ ชั่วโมงนี้ที่เราเจอ คือ สายเรือหายาก เพราะตอนนี้เรื่องของการขนส่งระหว่างประเทศน้อยลงไป จะเห็นได้ว่าสายเรือของบางประเทศ เช่น สายเรือ Hanjinของประเทศเกาหลีใต้ก็ล้มละลายไปแล้ว ตอนนี้สายเรือพยายามทำตัวเองให้อยู่ได้นานขึ้นแม้ว่าตอนนี้จะลำบากมาก หากเกิด Lock down อีกหนึ่งครั้งหรือเหตุการณ์ที่ดีขึ้นมาเลยหลังจากคลาย Lock down ทั่วโลกแล้ว มีโอกาสจะเกิด Bullwhip effect ทันที เหมือนกับเราฟาดแส้จากมือเราจากต้นทางที่เล็กๆ ไปจนถึงปลายทางที่ใหญ่ๆ ในแต่ละส่วนของซัพพลายเชนมันจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจนกระทั่งสินค้าคงคลังอาจจะมากไปหรือน้อยไปเลยก็ได้ ส่วนของที่เรามองอีกอันคือ สายการบินที่ก็ไม่ทราบว่าจะเข้ามาบินได้อีกเมื่อไหร่ การที่สินค้าบางตัวต้องการขนส่งทันที เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆที่แพงมากและชิ้นเล็ก สินค้าด้านนี้อาจจะหายไป และอีกหนึ่งอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารถที่ทำให้กลับกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะ Online delivery ส่งอาหาร ทำให้ตลาด e-commerce โตไวมาก 30-40% ในส่วนส่งพัสดุที่ SCG Express บางวันโตถึง 100% เลยก็มี ทางด้านตลาด Offline ผู้ผลิตต่างเริ่มกลัวเพราะตลาด Online ดีกว่ามากหลายรายก็เริ่มมาขาย Online เยอะขึ้นและคาดว่า B2C จะโตอย่างต่อเนื่องจากนี้และต่อไป อีกอัน คือ Online grocery พวกสินค้าที่ต้องการความเย็นก็มีความต้องการสูง เช่น Cold storage ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ความสะอาดของสินค้าสำคัญมากในช่วงนี้เพราะเห็นได้จากตอนที่ของนำเข้ามาจากจีนแล้วมีเชื้อโควิดติดที่กล่องจึงทำให้ถูกแบนได้เลย Covid-19 จะอยู่กับเราอีกนาน ผู้บริโภคจะกังวลเรื่องพัสดุมาก อย่างสุดท้ายที่จะเกิด คือ การเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ชัดจากตอนนี้ที่จีนกับสหรัฐอเมริกามีเรื่องของสงครามการค้ากันและจีนเกิดโควิดจึงทำให้ต้องปิดประเทศซึ่งเป็นประเทศฐานผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลกและยังเป็นซัพพลายเชนเป็นระดับโลกเช่นกัน พอซัพพลายเชนด้านนี้สะดุดทำให้ผู้ผลิตหลายรายต้องเปลี่ยนฐานผลิตใหม่ และมองหาประเทศที่มีศักยภาพกว่าเช่น ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น
การบริการโลจิสติกส์ต่อจากนี้เป็นต้นไปต้องปรับตัว ยกตัวอย่างของ SCG Logistics เช่น ปัจจุบันมี Supply Chain Control Tower ตัวนี้จะช่วยทำให้เรามองเห็นตั้งแต่ลูกค้าสั่งของจนของเข้ามาอยู่ในคลังจนของออกไปถึงมือลูกค้าที่ปลายทาง ตอนนี้เราจึงลงทุนกับเทคโนโลยีเยอะมากเพราะเรามองเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ปีถึง 2 ปีที่แล้ว เราใช้ Robotic Process Automation (RPA) งานต่างๆ ที่ RPA ทำเช่นงาน Intelligent adapter, Automatic spreading และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น พวกนี้หุ่นยนต์ทำได้หมดเพราะเป็นงานที่ทำซ้ำๆ การที่เราเอาคนมาทำด้านนี้มันเลยดูไม่มีคุณค่า จึงโยกย้ายให้คนที่ทำตรงนี้ไปงานด้านอื่นที่มีคุณค่ามากกว่าและเอาหุ่นยนต์เข้ามาแทน ซึ่งหุ่นยนต์ 1 ตัวทดแทนคนได้ 2-3 คน ทำได้ 24 ชั่วโมง ไม่เมื่อยล้าไม่ขอลางานและถูกต้องแม่นยำที่สุด เพราะเคยเจอพนักงานที่ทำงานหนักจนคีย์ข้อมูลผิด ทำให้เกิด Bullwhip effect เช่นกันเพราะมันสลับเส้นทางการส่งของไป จึงตัดสินใจใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้แทน กิจการไหนที่มีกำลังซื้อดิจิทัลพวกนี้ก็ควรใช้ อีกอย่างคือ เราทำ Driver APP., Safety APP., Customer APP. และ Chatbot ซึ่งในอนาคต Control Tower ของเราจะเป็นตัวจัดงานเข้ามาให้ผ่าน Driver APP. ซึ่งจะมีตัวทดสอบพนักงานขับรถว่าพร้อมขับรถหรือไม่ เช่น ทดสอบแอลกอฮอล์และความพร้อมของร่างกาย พอคนขับรับงานห้อง Logistics Command Center (LCC) ก็จะทำการเชื่อมต่อข้อมูลให้ลูกค้าเห็น พอลูกค้าเห็นก็สามารถเข้าไปพิมพ์ถาม Chatbot ได้เลยว่าของอยู่สถานะไหนแล้วและมีการให้คะแนนรถกับคนขับว่าสภาพทุกอย่างทั้งพัสดุ รถ คนขับดีหรือไม่ ข้อมูลตรงนี้จะส่งผลให้คนขับได้งานบ่อยมากขึ้นและทำให้ลูกค้ามั่นใจในแบรนด์อีกด้วย
โรงเรียนทักษะพิพัฒน์เป็นโรงเรียนสอนขับรถของ SCG ที่สระบุรี ซึ่งถ้าต้องไปถึงสระบุรีก็จะเสียเวลา ด้วยข้อจำกัดนี้เราจึงมานั่งคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงได้ขึ้น เราจึงนำ Virtual reality (VR) เข้ามาใช้ให้คนได้เรียนจากตรงนี้แทนและเนื่องจากเราทำโลจิสติกส์มานานมาก เราจึงนำกรณีที่ประสบมามากกว่า 1,000 รูปแบบมาใส่ใน VR ดังนั้น การฝึกอบรมด้านนี้ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่อีกต่อไป ทำให้เราเรียนที่ไหนก็ได้ ครูฝึกของเราจะนำแว่น VR แป้นคลัทช์ แป้นเบรกและวีดีโอติดตั้งให้การทดสอบและดูความสามารถในการควบคุมของผู้เข้าทดสอบไปด้วย อีกทั้งตอนนี้ 5G เริ่มเข้ามาแล้ว คุณสมบัติของมัน คือ การตอบสนองเร็วมาก การเชื่อมต่อเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) เร็วมาก Telematics จะปลอดภัยมาก อย่างในอนาคตเซนเซอร์จะติดรอบคันรถและไม่มีคนขับ ยกตัวอย่าง กล้องติดหน้ารถจะสามารถดูใบหน้าคนขับและประเมินได้ทันทีว่าอยู่ในอาการง่วงหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นมันจะเตือนให้ชะลอรถ หากไม่ชะลอรถระบบของรถจะชะลอให้เอง อีกเรื่องคือ เรื่องของ Predictive maintenance เช่น หากใต้ท้องรถเกิดเพลาหักหรือเกิดผิดปกติอะไรก็ตาม ระบบจะส่งข้อมูลแจ้งว่าคุณต้องซ่อมบำรุงตรงนี้ได้แล้ว ตอนนี้คลังสินค้าของ SCG กำลังพัฒนารถโฟล์คลิฟท์แบบไม่มีคนขับเพราะมันจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในคลังสินค้าได้มากขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้นอีกด้วย ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
สุดท้ายคุณไพฑูรย์ได้ฝากข้อคิดไว้ว่าเราจะเจอทั้งโอกาสและความท้าทายอีกมาก ความท้าทายในที่นี้คือ เราจะต้องปรับเปลี่ยน ดูต้นทุนตัวเองและตอบสนองลูกค้าให้เร็วที่สุด เทคโนโลยีใหม่ๆ เราต้องศึกษามันแล้วนำมาใช้ในธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์กับทุกๆด้าน เพราะจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลจิสติกส์ปัจจุบัน
สำหรับกิจกรรม STECO Online Forum ครั้งที่ 11 หัวข้อ "5G กับโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ" โดย คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในวันเสาร์ที่ 12 ก.ย. 63 เวลา 14.00 - 15.00 น. ผ่าน FB Live: STECOKMUTT ลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/WAcZ7fNqmHoutJtW9 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 083-099-0328 คุณฉันทิสา หรือ โทร. 090-416-0789 คุณปภาดา