ในยุคปัจจุบันนี้เรามักจะได้ยินเรื่องของ Mega Trend หรือแนวโน้มการลงทุนใหม่ในยุค New Normal โดยหนึ่งในประเภทของกองทุนต่างประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจคือ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นอุตสาหกรรมโรโบติกส์ โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่มีรายได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรโบติกส์ ซึ่งเราอาจจะเคยเห็นตัวอย่างกองทุนเหล่านี้ในตลาดต่างประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น กองทุน The Global X Robotics & Artificial Intelligence ETF (BOTZ) กองทุน The ROBO Global Robotics & Automation ETF (ROBO) กองทุน iShares Automation & Robotics UCITS ETF (RBOT) กองทุน Pictet - Robotics (PIROIUS) และกองทุน Credit Suisse Lux Robotics Equity Fund (CSGREBU) โดยมีผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563 อยู่ที่ประมาณ 10.01-17.31% เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นโลกโดยรวม (MSCI ACWI) ให้ผลตอบแทนที่ -2.36% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการที่หุ่นยนต์เริ่มมีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าบริษัทต่างๆ จะกลับมาพิจารณาห่วงโซ่อุปทานและโมเดลธุรกิจของตัวเองอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศต่างก็ให้ความสำคัญต่อการคิดค้นและการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่นำโดย จีน ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ที่เป็นตัวเร่งการนำหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากข้อมูลรายงานของ World Robotics คาดว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะมีแนวโน้มขยายตัวได้เฉลี่ยประมาณปีละ 8.5% ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มใช้หุ่นยนต์สูงที่สุดในโลก และอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์สูงที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมนุษย์ทำงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความสามารถในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสถียรและทำงานได้รวดเร็วกว่าการทำงานของมนุษย์ โดยระบบที่เข้ามาทำงานทดแทนมนุษย์มักถูกเรียกว่า ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งทำหน้าที่ได้ทุกอย่างตั้งแต่เฝ้าสังเกต ควบคุม และลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์และจำนวนงานตรงตามความต้องการ ระบบอัตโนมัตินี้มีความครอบคลุมทั้ง Software Hardware และ Robotics ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ ทั่วโลกได้เพิ่มการใช้หุ่นยนต์อย่างแพร่หลาย จากตัวเลขทางสถิติระหว่างปี 2013-2018 พบว่าการเพิ่มขึ้นของสต๊อกสินค้าในภาคการผลิตขยายตัวกว่า 65% ซึ่งในขณะเดียวกัน US Bureau of Labor Statistics ได้รายงานตัวเลขการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตก็ได้เพิ่มขึ้นกว่า 22% จากระดับ 824,400 งานสู่ระดับ 1,005,000 งาน สำหรับการพัฒนาการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์นั้นเดิมที Robotics เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาให้เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ต่อมาภายหลังได้มีการพัฒนาระบบ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาประยุกต์ในการสั่งงานหุ่นยนต์ ซึ่ง AI เป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผล คิด วิเคราะห์และตัดสินใจ สามารถทำงานบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มีความสามารถปรับเปลี่ยนการประมวลผลไปตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาการสั่งงานของมนุษย์น้อยลง ส่งผลให้บทบาทของหุ่นยนต์มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่ในอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังพบได้ในชีวิตประจำวันวงการการแพทย์และยานยนต์ เป็นต้น
สำหรับบริษัทที่มีรายได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรโบติกส์ สามารถแบ่งประเภทธุรกิจได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. Enabling Technologies บริษัทให้บริการด้านเทคโนโลยีที่สามารถทำให้หุ่นยนต์รับรู้กระบวนการ และลงมือปฏิบัติจริงได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท Intel บริษัทสัญชาติอเมริกัน เป็นผู้ผลิต Chipset ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานบน Main Board ให้สามารถติดต่อรับส่งข้อมูลถึงกันได้ บริษัท Cadence บริษัทสัญชาติอเมริกันเช่นเดียวกัน ทำการออกแบบและพัฒนา Cloud Computing และ Chipset เพื่อช่วยประมวลผล หน่วยจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ นอกจากนี้ Cadence ยังร่วมมือกับ Microsoft ในการออกแบบ Microsoft Azure ซึ่งเป็น Cloud Computing Platform ที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ Microsoft ในปัจจุบัน
2. Industrial Automation บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในกระบวกการผลิต ตรวจสอบ และการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ในคลังสินค้าอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของห่วงโซ่อุปทานให้ดียิ่งขึ้น เช่น บริษัท SMC บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ผลิตหุ่นยนต์เครื่องจักรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
3. Consumer and Service Application บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และแอปพลิเคชัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจกลุ่มนี้ยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจย่อย ได้แก่ 1) หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Healthcare) ประกอบด้วยบริษัทที่ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อใช้แทนหรือทำงานร่วมกับทีมแพทย์ เช่น บริษัท Intuitive Surgical บริษัทสัญชาติอเมริกัน ทำการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดเพื่อทำงานร่วมกับแพทย์ และบริษัท Dexcom ซึ่งสร้างแอปพลิเคชันตรวจจับและควบคุมการรับประทานอาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน 2) หุ่นยนต์ทางการอุปโภคบริโภค (Consumer Robotic) ทำธุรกิจพัฒนาอุปกรณ์บ้านอัจฉริยะ เครื่องมือดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ช่วยส่วนบุคคลอัจฉริยะ (Smart Personal Assistance) เช่น บริษัท Google ที่พัฒนาแอปพลิเคชันค้นหาที่สามารถให้ข้อมูลตรงตามความต้องการผู้ใช้บริการได้ และ 3) ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและระยะไกล (Remote and Autonomous System) ประกอบด้วยบริษัทที่ผลิตยานพาหนะไร้คนขับเพื่อเพิ่มความสะดวกและความคล่องตัวในชีวิตประจำวัน โดยมีระบบ AI ทำหน้าที่สั่งการภายใต้สภาวะและสิ่งแวดล้อมที่สามารถประมวลผลได้ เช่น บริษัท Mitsubishi Electric และบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำที่ปัจจุบันมีการผลิตรถยนต์ไร้คนขับออกสู่ตลาดแล้ว
อย่างไรก็ดี หุ้นของบริษัทต่างประเทศที่มีรายได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรโบติกส์ได้มีการซื้อขายกันที่ระดับ PE ratio ในช่วง 20.3-37.4 เท่า ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกที่ซื้อขายอยู่ในระดับประมาณ 19.6 เท่า ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความคาดหวังที่สูงของนักลงทุนต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในอุตสาหกรรม ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลของบริษัทอาจมีความยากมากกว่า และการเข้าใจถึงที่มาของรายได้มีความซับซ้อนเนื่องจากบางบริษัทอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ราคาหุ้นในกลุ่มโรโบติกส์อาจมีความผันผวนได้สูงหากผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นักลงทุนที่สนใจควรจะมีความระมัดระวังและควรทำความเข้าใจกับความเสี่ยงเหล่านี้เป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจลงทุน
โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด