xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครซอฟท์ไทยรายได้คลาวด์โต 3-4 หลัก “ธนวัฒน์” โฟกัสเสริมทักษะแรงงานสู้ GDP วูบ-ยอดว่างงานพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปีที่ 4 ของธนวัฒน์ในตำแหน่ง MD เชื่อว่าไมโครซอฟท์ประเทศไทยจะมีโอกาสเข้าไปร่วมสร้างอิมแพคในทุกตลาด ทั้งภาครัฐ เอกชน SMB และสตาร์อัป
ครบรอบ 3 ปี “ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ระบุปี 4 เน้นพาไมโครซอฟท์สร้างอิมแพกต์ในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเสริมทักษะเพราะไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้ต้องโฟกัสเรื่องสกิล ย้ำตัวเลข IMF ฟันธงไทยมีแนวโน้มอ่วมพิษ GDP ลดวูบและอัตราการว่างงานกระฉูด ชี้ 3 เทรนด์ฟื้นฟูไทยหลังโควิด-19 มากที่สุดคือ คลาวด์คอมพิวติ้ง ข้อมูล และการรักษาความปลอดภัย โดยภาวะคลาวด์สุดฮอตส่งให้ไมโครซอฟท์ไทยมีรายได้ธุรกิจคลาวด์เติบโตเป็นเลข 3-4 หลักในบางผลิตภัณฑ์

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายส่วนตัวและความท้าทายที่จะต้องเผชิญในขวบปีที่ 4 ในของฐานะผู้บริหารไมโครซอฟท์ประเทศไทย โดยบอกว่ามองเห็นโควิด-19 เป็นโอกาสที่ไมโครซอฟท์จะเข้าไปสร้างอิมแพกต์ที่มากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในแง่ของการอัปสกิลหรือการเสริมสร้างทักษะแรงงาน ซึ่งทีมไมโครซอฟท์เองก็ต้องเพิ่มทักษะเพื่อรองรับงานที่จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่นกัน

“ปีที่ 4 ผมเชื่อว่าเรามีโอกาสเข้าไปร่วมสร้างอิมแพกต์ในทุกแอเรีย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน SMB สตาร์ทอัป และที่สำคัญคือเรื่องพื้นฐานอย่างการเสริมทักษะ ถ้าประเทศไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็จะต้องเน้นเรื่องสกิล ซึ่งไมโครซอฟท์จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำ ส่วนความท้าทายที่ต้องทำควบคู่ไป คือการโฟกัสทีมไมโครซอฟท์เองด้วย ไม่ใช่เรามองแต่ข้างนอก แต่กลับมามองทีมเราและตัวผมเองด้วย เพื่อจะได้เซิร์ฟในสิ่งที่เราต้องการ”

การอัปสกิล หรือการเสริมทักษะที่ธนวัฒน์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษนี้ ตรงกับแนวทางที่ไมโครซอฟท์เปิดตัวโครงการเสริมสร้างทักษะแรงงานทั่วโลกไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 63 เวลานั้นบริษัทประกาศเปิดตัวโครงการระดับโลกเพื่อพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลเพิ่มเติมให้แก่ผู้คนจำนวนกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ โดยสำหรับประเทศไทย ไมโครซอฟท์ระบุว่าจะนำเทคโนโลยีและหลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Learn, LinkedIn Learning การสอบประกาศนียบัตร Microsoft Office Specialist และอื่นๆ มาปรับใช้ภายใต้ความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรในภาคเอกชน

สำหรับสิงหาคม 63 ธนวัฒน์ระบุว่า ไมโครซอฟท์สามารถระดมทีม 8 พันธมิตรไทยซึ่งมีดีป้า ยูเนสโก้ กศน. และหน่วยงานอื่นเพื่อทำโครงการบนจุดหมาย 3 ส่วน คือ การทำให้ทุกคนรู้ว่าหากต้องการทำงานนี้จะต้องพัฒนาด้านไหน การสนับสนุนการสอบใบรับรองโดยผู้ร่วมโครงการจะมีค่าใช้จ่ายในการสอบน้อยลง และการให้บริการระบบเรียนออนไลน์ ในรูปพอร์ทัลบทเรียนภาษาไทยมีการเปิดตัวแล้ว ผู้สนใจสามารถสมัครได้เลย และกำลังอยู่ระหว่างการร่วมมือกับหน่วยงาน หรือมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างทักษะเฉพาะประเทศไทยหรือสำหรับท้องถิ่นมากขึ้น ร่วมกับไมโครซอฟท์ไทยที่แปลบทเรียนภาษาไทยไว้แล้วพอสมควร

ความคืบหน้าเหล่านี้เป็นผลหลังจากปีนี้ สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโลกและพฤติกรรมมนุษย์ทำให้วิถีชีวิตของทุกคนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จนเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ไมโครซอฟท์จึงได้ยกแนวความคิด Resiliency หรือความสามารถในการปรับตัวและยืนหยัดรับมือคลื่นความเปลี่ยนแปลง ให้เป็นกรอบแนวคิดสำคัญจากเดิมที่ไมโครซอฟท์เคยเน้นแนวคิดเรื่อง Tech Intensity หรือการขับเคลื่อนศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กรมาก่อน


ธนวัฒน์ ยังย้ำถึงสถิติจากวิกฤตโควิด-19 โดยอ้างอิงกับการสำรวจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ที่คาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้จะส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกชะลอตัวลงในปี พ.ศ.2563 ที่ระหว่าง 3-10% ในขณะเดียวกันยังได้คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นที่ 5-7% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด สำหรับในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะลดลง 9.7% และมีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น 7.1% ไมโครซอฟท์ไม่ระบุเป้าหมายว่าการเสริมทักษะแรงงานจะมีเป้าหมายลดจำนวนการว่างงานลงเท่าใด แต่ระบุเพียงว่าต้องการเข้าไปเสริมทักษะกลุ่มพนักงานรายวัน โดยไมโครซอฟท์จะเข้าไปสอนทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน

ทั้งหมดนี้ ธนวัฒน์ มองว่า 3 เทคโนโลยีที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยได้มากที่สุดหลังจากโควิด-19 คือ 1.คลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของทุกคน เนื่องจากคลาวด์สามารถมอบโอกาสให้แก่ทุกคนที่เข้าถึง คลาวด์จึงมีความสำคัญมากเพราะจะช่วยเป็นฐานของทุกเทคโนโลยี ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องยกระดับให้เกิดระดับความเร็วหรือสปีดที่ดีขึ้นให้ได้

2.ข้อมูลและ AI ประเด็นนี้ ธนวัฒน์ มองว่าข้อมูลไม่เพียงแค่มีค่าในเชิงการทำรายได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในการอยู่รอดของธุรกิจไม่ต่างจากอากาศหายใจ ขณะเดียวกัน ก็เป็นเส้นทางให้ธุรกิจสามารถสร้างอนาคตใหม่ แถมยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ ข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำให้องค์กรรู้ว่าต้องพัฒนาอะไรหรือเพิ่มทักษะใดให้แก่องค์กรในระยะยาว และ 3.ความปลอดภัย เนื่องจากคลาวด์จะต้องสร้างความมั่นใจได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็จะไม่มีผลใดๆ และนวัตกรรมที่หรูหราขนานไหนก็ไม่มีคนใช้งาน

ธนวัฒน์ ชี้ว่า ธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยกำลังเติบโตก้าวกระโดดหลายเท่าตัว โดยบอกว่ากลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วยทั้งกลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่ ที่ต้องการใช้คลาวด์เทคโนโลยีในการตอบโจทย์งานเดิม และสตาร์ทอัปที่ใช้อยู่แล้ว

“สำหรับไมโครซอฟท์ประเทศไทย ธุรกิจดั้งเดิมทำรายได้ลดลงแบบติดลบ แต่คลาวด์ก็เพิ่มมหาศาลเหมือนกัน บริการคลาวด์บางตัวเพิ่มขึ้น 3-4 หลัก ทำให้ธุรกิจในไทยยังเติบโต 2 หลักเช่นเดิม”

ทั้งหมดนี้ ไมโครซอฟท์ปฏิเสธว่าไม่ได้วางเป้าหมายไว้ว่าต้องการเพิ่มรายได้เท่าใดในปีนี้ แต่ยืนยันว่าจะเพิ่มขึ้นเพราะมีการพัฒนาบริการใหม่บนคลาวด์ตลอดเวลา เว้นช่วงเพียงหลักสัปดาห์และเดือนเท่านั้น ต่างจากอดีตที่เว้นช่วงอัปเดตระบบนานนับปี


กำลังโหลดความคิดเห็น