xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

4 พันล้านผุด"ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ" คุ้มค่าแน่ !

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เริ่มแล้ว! หลังจากนับหนึ่งมานานกับ "โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Government Data Center and Cloud Services" ตามชื่อย่อ "GDCC"

หลังจากครม.มีมติเห็นชอบในหลักการของภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต่อเนื่อง 3 ปี พ.ศ. 2563-2565 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ โดยในส่วนรายละเอียดงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของ "คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ที่เห็นชอบกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,073.069 ล้านบาท และให้ ดศ.รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

เป็นการเห็นชอบในหลักการโครงการดังกล่าว ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อเนื่อง 3 ปี ( ปี 2563-2565) วงเงิน 3,954 ล้านบาท และจากงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2563 วงเงิน 798 ล้านบาท

ตามมติครม. ระบุว่า เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อให้มีระบบกลางในการให้บริการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud Service)สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีมาตรฐานปลอดภัย เป็นระบบสำรองเพื่อการกู้คืนข้อมูลกรณีเกิดภัยพิบัติ และหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทันต่อความต้องการในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

ทั้งยังรองรับการใช้งานการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หรือ Big Dataโดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute: GBDI)และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมด้านดิจิทัล เพื่อเป็นกำลังในการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่ตั้งเป้าหมายบุคลากรเบื้องต้น 2,500 คน เข้ารับการอบรมหลักสูตรระดับสูงขึ้นให้มีความเชี่ยวชาญด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง

"GDCC"เกิดขึ้นตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 มีข้อมูลว่าโดยภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อให้มีระบบกลางในการให้บริการ Cloud สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีมาตรฐานและปลอดภัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล (Government Transformation)และขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)ศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (Government Data Center)และคลาวด์คอมพิ้วติ้ง (Cloud Computing) (เป็นการให้บริการที่ครอบคลุมถึงการให้ใช้กำลังประมวลผล หน่วยจัดเก็บข้อมูลและระบบออนไลน์ต่าง ๆ จากผู้ให้บริการ เพื่อลดความยุ่งยากในการติดตั้ง ดูแลระบบ ช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเอง) ให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ระบบคลาวด์กลางภาครัฐจะทำให้สามารถประหยัดงบฯ ในส่วนของการที่หน่วยงานแต่ละหน่วยงานนำไปใช้ในการเช่าระบบ Cloud และบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล (Data Center)รวมทั้งยังทำให้ระบบสารสนเทศของประเทศมี ความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากข้อมูลและระบบงานของหน่วยงานภาครัฐจะถูกจัดเก็บอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ที่มีมาตรฐานสากลด้านความมั่นคงปลอดภัยและตั้งอยู่ภายในประเทศ

สำหรับกรอบงบประมาณ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.63 มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,073.069 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจาก

(1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563–2565 จำนวน 3,275.096 ล้านบาท (ปรับลดวงเงินในส่วนของปี 2564 ตามที่สำนักงบประมาณจัดสรร ส่งผลให้กรอบวงเงินรวมลดลง 679.481 ล้านบาท)

(2) งบกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 797.973 ล้านบาท (คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.63 อนุมัติให้ใช้งบฯ จากกองทุนฯ แล้ว)

ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านของภาครัฐเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น "รัฐบาลดิจิทัล" อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีการปรับบริการ


ตามเป้าหมายแล้วการให้บริการจัดเก็บและบริหารข้อมูล มีหน่วยประมวลผลรวมสูงสุดจำนวน 20,000 VM ซึ่งเท่ากับความสามารถในการประมวลผล CPU ของคอมพิวเตอร์ปกติ 4 เครื่อง และมีหน่วยความจำรวมอย่างน้อย 160,000 กิกะไบต์ ซึ่งปัจจุบันนี้ระบบที่ใช้อยู่คือ G-Cloud ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ซึ่งจะต้องโอนย้ายระบบงานทั้งหมดมายังโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐนี้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป

สำหรับ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจะทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณในส่วนที่เป็นค่าเช่าคลาวด์ของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ซึ่งคิดจากราคากลางของค่าเช่าคลาวด์ในระยะเวลา 3 ปี ยังทำให้ระบบการจัดเก็บข้อมูลของประเทศมีความมั่นคง ปลอดภัย เนื่องจากข้อมูลและระบบงานของทุกหน่วยงานรัฐจะถูกจัดเก็บในระบบเดียวกัน ที่เป็นมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยและตั้งอยู่ในประเทศ และจะมีการออกแบบระบบการเข้าถึงข้อมูลตามชั้นความลับของข้อมูลแต่ละประเภท อีกทั้งยังทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า เพื่อการวางแผนและตัดสินใจอีกด้วย

ที่ผ่านมา มีการจัดเตรียมพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมด้าน Digital Skill โดยในโครงการจะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความสามารถด้าน Cloud computing ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและผ่านตามเงื่อนไขที่กำหนดแต่ละหลักสูตรจะได้รับ Government Official Cloud Competency Certificate (GOCC Certificate) ที่รับรองโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ผู้ที่ได้รับ Certificate สามารถนำความรู้ ที่ได้รับการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้งานต่อในหน่วยงานของตนเองและยังสามารถนำความรู้ ที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อให้กับบุคคลากรในหน่วยงาน

โครงการนี้ ให้ "บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT)"ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่และความพร้อมเป็นผู้ดำเนินการผู้จัดทำคลาวด์กลางภาครัฐ และปัจจุบัน CAT ได้เปิดให้หน่วยงานที่มีความสนใจต้องการทดสอบและสามารถเข้าใช้งานได้แล้ว

ย้อนกลับไปดูมติ ครม. 7 พ.ค. 62 โครงการนี้ ถือเป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)โดยมี ข้อสังเกตของ "สำนักงบประมาณ" ว่า ในการจัดให้มีคลาวด์กลางภาครัฐ จะต้องมีการบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ และไม่ซ้ำซ้อนกับการจัดหาคลาวด์ของ "สำนักงานรัฐบาลอิเลกทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)"

นอกจากนั้นอีกหน่วยงานที่มีบทบาทก็คือ "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" ที่มติ ครม. เห็รควรให้เป้นองค์กรที่ จัดทำรายการข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog)และระบบนามานุกรม (Directory Services)

สุดท้าย ให้จัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute : GBD)”เป็นหน่วยงานภายในภายใต้ "สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล" เพื่อรองรับการให้บริการด้านการพัฒนาบุคลากรและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ของภาครัฐ

ซึ่งหน่วยงานนี้ "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" มีความเห็นว่า ในการจัดตั้งสถาบันจะต้องดำเนินการภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด

รวมถึง "สำนักงบประมาณ" ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อภารกิจของหน่วยงานตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ให้ใช้จ่ายจากรายได้ของหน่วยงานเป็นหลัก

ขณะที่ "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ก็ให้ความเห็นว่า ในการดำเนินการพัฒนาบุคลากร เห็นควรให้นำภารกิจงานที่หน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการมาเป็นแบบฝึกหัดหรือเป็นกรณีศึกษาในการฝึกอบรม และกำหนดเป็นเป้าหมายหรือตัวชี้วัดความสำเร็จการดำเนินงานของสถาบัน รวมถึงเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ารับการฝึกอบรมด้วย เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาบุคลากรสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันได้อย่างแท้จริง

หรือเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้มีหนังสือแจ้งเวียนมติ ครม. ระบุว่า ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 เม.ย.63 พิจารณาเห็นว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลในเรื่องต่างๆ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย มาตรการและแนวทางการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เหมาะสม เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

"จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data)ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

ทั้งนี้ ให้บูรณาการข้อมูลให้ครอบคลุมในทุกมิติและเป็นปัจจุบัน โดยอย่างน้อยต้องมีข้อมูลพื้นฐานของประชากรรายบุคคล ข้อมูลการประกอบอาชีพ ข้อมูลด้านการสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล ข้อมูลการได้รับความช่วยเหลือเยียวยาและสวัสดิการจากรัฐ ข้อมูลการชำระภาษี และข้อมูลด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงต่อไป

และ ให้กระทรวงมหาดไทยรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยด่วนด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ให้เป็นไปตามกรอบงบประมาณวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,073.069 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น