กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงแรงงาน จับมือลงนาม "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านแรงงาน" เพิ่มมูลค่าบิ๊กดาต้าด้านแรงงาน สู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาประเทศ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าววว่า ในวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2563) ได้มีพิธีลงนาม "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านแรงงาน" ระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (GBDI) ในสังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และกระทรวงแรงงาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลสำหรับภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคการศึกษาและประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในการยกระดับศักยภาพแรงงานและขีดความสามารถของแรงงาน การนำข้อมูลเศรษฐกิจด้านแรงงานมาสร้างคุณค่าในการพัฒนาประเทศ และการตัดสินใจเชิงนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งสร้างคุณค่าและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในการตอบสนองกับสถานการณ์ด้านแรงงานต่าง ๆ
“ทั้งสองหน่วยงาน จะจัดทำแผนการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการกำหนดกลยุทธ์และมีแผนการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนจะมีการสำรวจโครงสร้างข้อมูล ระบบข้อมูลสารสนเทศเดิมของกระทรวงแรงงาน เพื่อการพัฒนา Data Platform สำหรับรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับส่วนราชการ/หน่วยงานอื่น ๆ ด้วย ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงข้อมูลเป็นภาพ (Data Analytics and Visualization)” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นทำงานเกี่ยวกับ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติ” ดังนั้น จึงมีความสำคัญยิ่งที่กระทรวงแรงงาน และกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ข้อมูลที่มีความ “dynamic” เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำงานในมิติของ “คน” และมีความท้าทายจากปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องอาศัยความแม่นยำในการจัดระเบียบและวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย สำหรับการกำหนดมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และตลาดแรงงานในทุกมิติ โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ วันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) อย่างแท้จริง
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาประเทศ ผ่านการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า ที่จะช่วยสร้างการรับรู้ไปยังหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทำให้การบูรณาการการทำงานเกิดความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในการยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของกระทรวงแรงงานในการนำข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานมาสร้างคุณค่าในการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมบริการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและทุกภาคส่วน ด้วยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาหน่วยงานของรัฐให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล พัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลของประเทศให้เป็นระบบและครบวงจร (Data Management Life cycle) ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพ ในการวิเคราะห์แนวทางการเพิ่มศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ คุ้มครองและส่งเสริมให้แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม (Data Modeling)
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทั้งสองกระทรวง มีเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรกระทรวงแรงงานใน 4 ด้าน ได้แก่ การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้วยข้อมูล (Data-driven Policy and Strategy) วิศวกรรมข้อมูล(Data Engineering) วิทยาการข้อมูล (Data Science) และการจัดการข้อมูลให้เหมาะกับมุมมองการวิเคราะห์ (Business Intelligence)
โดยกำหนดเป้าหมายในการวางรากฐานด้านข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานใน 3 ประเด็น คือ 1. การกำหนดทิศทางและกลยุทธ์สำหรับกระทรวงแรงงานในการนำข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2. การจัดทำข้อเสนอเพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างข้อมูล และระบบสารสนเทศของกระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ซึ่งครอบคลุมถึงการวางรากฐานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และการจัดทำรายการข้อมูล (Data catalog) ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และ 3. การพัฒนาบุคลากรของกระทรวงแรงงาน ให้มีความรู้ด้านการวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูลและข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถจัดทำโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับประเด็นที่มีความซับซ้อนที่หลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง