บอร์ดประกันสังคม เห็นชอบลดค่าอัตราเงินสมทบลูกจ้างและนายจ้างจาก 5% เหลือ 4% ตั้งแต่ มี.ค.- ส.ค. รวม 6 เดือน จากผลกระทบกรณีโรคโควิด-19 เหตุเข้ากับมาตรา 46/1 ภัยพิบัติที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ยันไม่กระทบสิทธิประโยชน์
วันนี้ (11 ม..ค.) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับสถานการณ์การว่างงานจากผลกระทบดังกล่าว เพื่ออำนวยการประสานงาน และพิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเยียวยาลูกจ้าง และนายจ้าง
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 คณะกรรมการมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับนายจ้าง และผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 ปัจจุบันจ่ายฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ลดเหลือฝ่ายละร้อยละ 4 ของค่าจ้าง สำหรับผู้ประกันตนเองโดยสมัครใจมาตรา 39 จากปัจจุบันจ่าย 432 บาทต่อเดือน เป็นจ่าย 336 บาทต่อเดือน การลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน นับแต่งวดค่าจ้างประจำเดือน มี.ค. ถึง ส.ค. 2563 ทั้งนี้ การปรับลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับแต่อย่างใด และสามารถช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายในการส่งเงินสมทบให้กับนายจ้าง และผู้ประกันตน เป็นเงินประมาณ 17,000 ล้านบาท
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขั้นตอนในการบังคับใช้ตามมติคณะกรรมการดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 46/1 การลดหย่อนอัตราเงินสมทบในกรณีประสบภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงานโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตนจึงได้สั่งการให้เร่งยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอกระทรวงแรงงาน และ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ทันต่อสภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินอันส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ในช่วงนี้ และตอบสนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการเร่งบรรเทาผลกระทบนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน จากสถานการณ์ โควิด-19