1 ปี "พุทธิพงษ์" ไม่ได้มีดีแค่เรื่องเฟกนิวส์ โชว์ 3 ผลงานเด่นที่ภาคภูมิใจ อย่างการลดแรงต้านเดินหน้าควบรวมทีโอที-กสท โทรคมนาคม เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) พร้อมดันประมูล 5G หวังเป็นองค์กรกลางทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมร่วมกัน การดำเนินโครงการคลาวด์ภาครัฐ เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนและการเนรมิตโครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ ดึงเม็ดเงินต่างชาติสร้างไทยเป็นฮับด้านดิจิทัล
การเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกของ "พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างมาก เหตุเพราะเป็นกระทรวงที่หาผลงานออกมาหาเสียงได้ยาก อีกทั้งยังมีหน่วยงานในสังกัดที่มีปัญหาให้รอการสะสาง ขณะที่กำลังคนของกระทรวงดีอีเอสนี้มีน้อยมากพอๆ กับงบประมาณที่ได้มาอย่างจำกัดจำเขี่ย
ช่วงเวลา 1 ปีของ "พุทธิพงษ์" จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถรอ หรือลังเลได้ว่าจะทำงานสิ่งไหนก่อนหลัง หากแต่ละงานจำเป็นต้องเร่งเรียนรู้และทำงานควบคู่กันไปเนื่องจากกระทรวงดีอีเอสกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเดินหน้า หลังจากที่มีการเปลี่ยนชื่อกระทรวง มีกฎหมายใหม่และสำนักงานใหม่ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นอีกหลายสำนัก
***เพิ่มมิติทางสังคม
ช่วงแรกของการทำงาน "พุทธิพงษ์" มักโดนแซวเสมอว่าเป็นเพียงรัฐมนตรีเฟกนิวส์เพราะทำแต่เรื่องเฟกนิวส์ ไม่ค่อยมีผลงานด้านอื่นที่เห็นเด่นชัด แต่จะว่าไปการปลุกปั้นศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ทำให้สังคมตระหนักถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริงมากขึ้นก่อนที่จะแชร์หรือบอกต่อด้วยการตรวจสอบก่อนเสมอ ซึ่ง "พุทธิพงษ์" เองก็ยอมรับว่าในการตรวจสอบข้อมูลบางเรื่องอาจจะมีการชี้แจงคลาดเคลื่อนหรือล่าช้าบ้าง เนื่องด้วยต้องทำงานกับหลายฝ่ายที่เป็นต้นตอของข้อมูล ดังนั้น จึงค่อนข้างใช้เวลาแต่เมื่อได้รับความกระจ่างแล้วกระทรวงดีอีเอสก็พร้อมแก้ไขและรับผิดไว้เพียงผู้เดียว
"สิ่งหนึ่งที่ผมเข้ามาทำงานและยึดมั่นคือผมต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่ ผมไม่เคยรังแกข้าราชการด้วยกัน ผมไม่เคยโทษกระทรวง ผมเข้ามาทำให้กระทรวงเดิมคือดีอี เป็นดีอีเอส คือมีมิติทางสังคมเข้าไปด้วย เราต้องการทำเพื่อสังคม ยกตัวอย่างการผลักดันให้ทีโอที และ กสท โทรคมนาคมประมูล 5G ก็เพราะเราต้องการให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ให้บริการแก่สังคมกับประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี"
การผลักดันให้เกิดการประมูล 5G ในประเทศไทยโดยไทยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มมีการวาง cell site เพื่อรองรับการให้บริการ 5G โดยภาคเอกชน หลังจากเสร็จสิ้นการประมูล 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในปี 2564 โดยกระทรวงดีอีเอสได้จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทางมาตรการและกลไกในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
***3 โครงการที่ภูมิใจ
"พุทธิพงษ์" กล่าวว่า ในช่วง 1 ปี มี 3 โครงการที่ภูมิใจได้แก่ 1.การผลักดันความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงโครงข่ายการสื่อสารได้ในราคาที่เหมาะสม ตามที่ ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ให้ควบรวมให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ลงมติ
แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การส่งเอกสารแจ้งลูกหนี้ต่างประเทศล่าช้าจึงจะดำเนินการขอมติ ครม.ในการขยายการควบรวมให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2564
อีกโครงการที่สนับสนุนด้านเศรษฐกิจคือ 2.โครงการไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อม และ Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนา การสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล จัดตั้งอยู่ในเขต EEC เพื่อเป็นฐานของภูมิภาคในการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI, VR, AR, IoT, Robotic, 5G Application รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรการผลิตและการบริการ
ที่ผ่านมา ได้มีการจัดโรดโชว์เข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของโลกด้านดิจิทัล ในซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกาเช่น Seagate Technology, Facebook, CISCO Systems, Google, Amazon Web Services และ Microsoft และได้รับการตอบรับให้ความสนใจเป็นอย่างดีเป็นการปูทางสู่โอกาสการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ และเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่คนไทย ทำให้คนไทยได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทผู้นำด้านดิจิทัลระดับโลก
และโครงการที่สนับสนุนนโยบายการพัฒนาสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลไทยแลนด์ ได้แก่ 3.การพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure) เริ่มให้บริการแล้ว มีหน่วยงานส่งคำขอใช้บริการเข้ามา 472 หน่วยงาน 1,570 ระบบ (ประมาณ 24,118 VM) ซึ่งตามแผนได้มีการกำหนดให้บริการหน่วยประมวลผลรวม 32,000 vCPU ภายในปี 2563 ช่วยประหยัดงบประมาณทางด้านไอทีของภาครัฐได้ 30-70% ขณะเดียวกันข้อมูลที่สำคัญของประเทศจะถูกจัดเก็บอยู่ภายในประเทศไทยและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้กลายเป็นบิ๊ก ดาต้า ภาครัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนได้
***เร่งผลักดันกฎหมายด้านดิจิทัล
ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนเสริมการได้รับการยอมรับในระดับสากล ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลูก โดยมีการรับฟังความเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนหลายภาคส่วน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการและให้การบังคับใช้กฎหมายมีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง อีกทั้งยกระดับประสิทธิภาพการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติโดยดำเนินการคืบหน้าไปแล้วในหลายเรื่องและอยู่ระหว่างการเสนอรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อพิจารณานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อมีคำสั่งแต่งตั้ง อีกทั้งอยู่ระหว่างการเสนอ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติต่อคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเพื่อลงนามและประกาศใช้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเปิดตลาดให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์พ.ศ. ... เพื่อเป็นแนวนโยบายในระดับรัฐ (State Level) ที่ชัดเจนในการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะดำเนินการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ในระดับผู้ประกอบการ (Firm Level) ต่อไป
***เดินหน้าสนับสนุนนโยบายรัฐ
"พุทธิพงษ์" กล่าวว่า ทิศทางต่อจากนี้กระทรวงดีอีเอสจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูประเทศ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ภาคครัวเรือนและเอกชน โดยล่าสุด ได้มีการจัดทำโครงการเพื่อนำเสนอของบประมาณสนับสนุนเพื่อสนับสนุนการนำดิจิทัลมาใช้ในการช่วยเพิ่มรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้แก่ โครงการจัดทำข้อมูลประชาชนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (People Data for Economy and Society : PDES) โครงการพัฒนา cloud platform เพื่อรองรับ New Normal หลังสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โครงการฝึกอบรมสร้างทักษะด้านดิจิทัล โครงการ Unified Communication Platform โครงการสนับสนุนค่าจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าจัดส่ง/จัดซื้อสินค้าที่จำหน่ายในแพลตฟอร์มของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เช่น HYPERLINK "http://www.thailandpostmart.com/"www.thailandpostmart.com
การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงการขยายจุดให้บริการ Free Wi-Fi ในชุมชนเมืองทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โครงการ "บวร4.0" เพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้แก่ศาสนสถานในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาความเท่าทันในการใช้ดิจิทัล และโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนสู่การเติบโตด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Village Economic Growth)