"พุทธิพงษ์' แบ่งรับแบ่งสู้หลังมีข่าวหลุดเก้าอี้ "ดีอีเอส" ชี้ทุกอย่างอยู่ที่นายกฯ ไม่ยึดติดตำแหน่งขอทำงานเพื่อบ้านเมือง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกระแสการโดนปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไรกับสิ่งที่จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าตนได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งมา 1 ปี ในภาวะที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไม่เคยคิดไม่ดีกับกระทรวงนี้ และขอให้ข้าราชการกระทรวงทุกคนใช้ผมทำงานได้อย่างเต็มที่
"การเมืองเป็นเรื่องอนาคตผมไม่รู้ ไม่ขอให้ความเห็นตรงนี้ เพราะขอทำงานที่ได้รับอย่างดีที่สุด และการที่ทำให้กระทรวงเป็นดีอีเอส คือ เอส ต้องการให้เกิดสิ่งเกี่ยวกับสังคมมากที่สุด"
สำหรับผลงานที่ภูมิใจตลอดที่นั่งประกอบด้วย การผลักดันความคืบหน้าการควบรวมกิจการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงโครงข่ายการสื่อสารได้ในราคาที่เหมาะสม โดย ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 และตามเป้าหมายการควบรวมฯ ให้แล้วเสร็จเป็น บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ในปี 2564
รวมไปถึงโครงการที่หนุนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ Thailand Digital Valley Thailand เพื่อสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อม และ Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนา การสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล จัดตั้งอยู่ในเขต EEC เพื่อเป็นฐานของภูมิภาคในการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI, VR, AR, IoT, Robotic, 5G Application รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต และการบริการ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดโรดโชว์เข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของโลกด้านดิจิทัล ในซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา เช่น Seagate Technology, Facebook, CISCO Systems, Google, Amazon Web Services และ Microsoft และได้รับการตอบรับให้ความสนใจเป็นอย่างดี เป็นการปูทางสู่โอกาสการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ และเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนไทย ทำให้คนไทยได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทผู้นำด้านดิจิทัลระดับโลก
และโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure) เริ่มให้บริการแล้ว มีหน่วยงานส่งคำขอใช้บริการเข้ามา 472 หน่วยงาน 1,570 ระบบ (ประมาณ 24,118 VM) ซึ่งตามแผนได้มีการกำหนดให้บริการหน่วยประมวลผลรวม 32,000 vCPU ภายในปี 2563 ช่วยประหยัดงบประมาณทางด้านไอทีของภาครัฐได้ 30-70% ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่สำคัญของประเทศ จะถูกจัดเก็บอยู่ภายในประเทศไทย และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้กลายเป็น Big Data ภาครัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนได้
“การที่เรามีระบบ GDCC หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้ามาใช้งานทรัพยากรคอมพิวเตอร์บนระบบ Cloud กลางที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการใช้งานในการจัดทำระบบงานสำหรับให้บริการประชาชน, ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐที่มีมาตรฐาน เป็นระบบ และมีความต่อเนื่องในการให้บริการยิ่งขึ้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว