"พ.อ.สรรพชัย" เผย การควบรวมกิจการ กสท-ทีโอที ต้องเสร็จภายในปีนี้ เตรียมต่อสัญญาจ้างเป็นกจญ.อีก 1 ปี หวังดันภารกิจให้จบ ชี้ โควิด-19 กระทบยอดขาย ทำขาดทุน 500 ล้านบาท
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตนเองอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับคณะกรรมการบริษัท ในการต่อสัญญาจ้างเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกจนกว่าจะมีการควบรวมแล้วเสร็จ หรือ ไม่เกิน 1 ปี จากเดิมที่กำลังจะหมดวาระในเดือน ส.ค.ปีนี้ เพื่อเดินหน้าการควบรวมกิจการระหว่าง กสท โทรคมนาคม กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ซึ่งกระบวนการต้องเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้ว 50%
ทั้งนี้ ความยากของการควบรวมกิจการนี้ คือเรื่องบุคลากร เพราะสภาพการว่าจ้างมีหลายรูปแบบ ซึ่งต้องมีคนตัดสินใจว่าจะใช้แบบไหน ส่วนบอร์ดของเอ็นที ตามกฎหมายจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการจัดตั้งบริษัท อย่างไรก็ตาม ควรจะมีการจัดตั้งบอร์ดเข้ามาทำงานก่อน โดยเป็นตัวแทนจากทั้ง 2 บริษัท เพื่อให้การควบรวมกิจการดำเนินการได้เร็วขึ้น
พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้จากเดิมที่ตั้งเป้าปีนี้จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 500 ล้านบาท เป็นขาดทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตามคาดว่าครึ่งปีหลัง หรือตั้งแต่เดือนส.ค.2563 จะมีรายได้เพิ่มจากการให้บริการคลาวด์ ประมาณ 500 ล้านบาท
ดังนั้น จะพยายามหารายได้เข้ามาชดเชยเพื่อไม่ให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น หรือผลักดันผลประกอบการเป็นกำไรให้ได้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีกำไรอยู่ที่ 521 ล้านบาท โดยโควิด-19 จะส่งผลกระทบในช่วงไตรมาสหลังของปีนี้ รวมถึงจะมีการบันทึกการปรับปรุงหุ้นกู้ด้อยค่าของการบินไทยตามมาตรฐานบัญชี
ส่วนความคืบหน้าในการหาพันธมิตรสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมเพื่อลดภาระการลงทุน และสร้างรายได้เพิ่มเติม 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนของเสาโทรคมนาคมและไฟเบอร์ออปติก (Passive Infrastructure Sharing) โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน
2.การลงทุนอุปกรณ์ 4G/5G เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัดสูงสุด เช่น การใช้อุปกรณ์ Active Network Element บางส่วนร่วมกัน (Active Infrastructure Sharing) เป็นต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาโมเดลกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และ 3.ด้านการตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาพันธมิตรเข้ามาช่วยทำการตลาด
"การหาพันธมิตรทั้ง 3 ด้าน คาดว่าจะเสนอบอร์ดได้ในช่วงปลายเดือนก.ค. 2563 จากนั้นเสนอขออนุมัติงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป และคาดว่าเริ่มวางโครงข่ายและเปิดให้บริการได้ในเดือนเม.ย. 2564"
พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ส่วนโครงการฝึกอบรมสร้างทักษะด้านดิจิทัล มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ในโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต่อ สศช. นั้น ต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะอนุมัติโครงการหรือไม่ โดยคาดว่าจะทราบผลภายใน 1 เดือน ซึ่งหากโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติจะเริ่มได้ในเดือนก.ย. 2563
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเปิดอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้นักศึกษาจบใหม่ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่เกิน 3 ปี และยังไม่มีงานทำ เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีเงินให้ผู้เข้าร่วมโครงการ เดือนละ 10,000 บาท ระหว่างอบรม ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้แก่นักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ให้สามารถหางานได้ โดยตั้งเป้าคนเข้าอบรมเบื้องต้น 50,000 ราย