xs
xsm
sm
md
lg

บลูบิค พาส่อง 4 ปัจจัย อยู่รอดยุคโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บลูบิค เปิด 4 ปัจจัยสร้างโอกาส จากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดช่องว่างการตลาด ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ เชื่อองค์กรดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชันไวขึ้น คาดสิ้นปีบริษัทโต 20%

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทให้คำปรึกษาและลงทุนระบบไอทีแบบครบวงจร เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจประเทศไทยจากข้อมูลของกองทุนการเงินระ หว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) พบว่า จีดีพี ปี 2563 ของทั้งโลกมีโอกาสติดลบ 4.9% และประเทศไทยมีโอกาสติดลบ 7.7% ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ลดลงในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกันยังเปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่ได้พลิกวิกฤตสู่โอกาสจากช่องว่างทางการตลาดที่เกิดขึ้น หากสามารถปรับตัวรับมือกับวิกฤตได้

แม้ว่าวิกฤตดังกล่าวทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ยังมีธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถคว้าโอกาสและขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.ช่องว่างทางการตลาดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถแจ้งเกิดได้ ประกอบกับอุปสงค์ใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด

2.ดิจิทัล ดิสรัปชัน เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในระยะยาว เมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการจึงมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งไร้ข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ 3.การขยายธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม เป็นการขยายโอกาสเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเพิ่มฐานลูกค้าระหว่างผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม เกิดเป็นความร่วมมือที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจได้อย่างหลากหลายมิติมากขึ้น

และ 4. กฎหมายบังคับใช้ใหม่ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจกรรมพร้อมทั้งสามารถเตรียมความพร้อมในการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งส่งผลต่อแนวทางการปฏิบัติด้านข้อมูล หากธุรกิจปรับตัวได้เร็วเท่าใดก็จะเกิดโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น


นายพชรกล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัจจัยข้างต้น การค้นหาโอกาสและทางรอดในยุคเศรษฐกิจผันผวน คือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและภาครัฐฯให้ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดการระบาดระลอก 2 ฉะนั้นองค์กรต้องเตรียมความพร้อมด้วย 4 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S – Curve) หรือสร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation) องค์กรควรเตรียมธุรกิจให้พร้อมในช่วงนี้ เพื่อหวังสร้างผลกำไรยามเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ เพราะหากธุรกิจสามารถอยู่รอดและมีกลยุทธ์ที่ดี จะกลายเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งที่น่าจับตา เช่น ธุรกิจค้าปลีกอาจวาง กลยุทธ์ปรับช่องทางการขายหน้าร้านเดิมให้เป็น Third Place ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ หรือเพิ่มช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

2.นำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้ (Digital Platform) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นช่วงชะลอตัวของภาคธุรกิจ ถือเป็นโอกาสในการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการทำงานจากที่พักอาศัย เช่น การเก็บเอกสารในรูปแบบ Soft file ซึ่งสะดวกมากกว่าการเก็บเอกสารรูปแบบเดิมที่พนักงานจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศมาจัดการ การจัดประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารระยะทางไกล หรือการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยในการบริหารจัดการงานร่วมกับทีม

3.ลดต้นทุน (Cost) และเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) องค์กรควรแปลงค่าใช้จ่ายจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สู่ต้นทุนแปรผันตามรายได้ (Variable Cost) ทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่สามารถเลือกใช้บริการได้ตามต้องการเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การให้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภายนอกองค์กร (Outsourcing) หรือการเลือกใช้ระบบซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน (Software as a Service-SaaS) ซึ่งส่วนใหญ่คิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งาน (Pay-as-you-go) จาก จำนวนผู้ใช้ ปริมาณที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ เช่นการใช้งานระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ถูก และสามารถเพิ่ม-ลดขนาดให้เหมาะกับธุรกิจได้ตลอดเวลา

4.สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) องค์กรควรขยายโอกาสในการทำธุรกิจและปรับกลยุทธ์ในการขยายกิจการทั้งแนวตั้งและแนวนอน อาทิ การควบรวมกิจการ หรือการร่วมมือกับพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีโอกาสในการทำกำไร เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด พร้อมทั้งลดต้นทุนผ่านการเพิ่มขนาดการผลิตในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply Chain) จนก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

สำหรับแนวทางการให้บริการครึ่งปีหลังของ บริษัท เน้นให้ความช่วยเหลือองค์กรธุรกิจและภาครัฐในการวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลักข้างต้น ประกอบด้วย 1.การลดต้นทุน (Cost Reduction) และเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ (Flexibility) บริษัท สามารถช่วยลูกค้าลดต้นทุนได้ด้วยการให้บริการด้าน Outsourcing เช่น การบริหารงานด้านระบบสารสนเทศ (IT Outsourcing) และการบริหารจัดการโครงการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Project Management Officer - PMO) ที่เป็นงานที่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ซึ่งไม่คุ้มค่าในการจ้างเป็นพนักงานประจำ เพราะจะเกิดเป็นต้นทุนระยะยาว หรือการออกแบบและวางระบบคลาวด์ (Cloud Implementation) รวมทั้งบริการย้ายระบบขึ้นคลาวด์ (Cloud Migration) ที่ช่วยประหยัดเวลาและยืดหยุ่นด้านค่าใช้จ่าย

2.การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ (Business Transformation) และการหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S – Curve) บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการวางกลยุทธ์สำหรับธุรกิจใหม่ (New Business Strategy) และทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ตามลักษณะหรือประเภทธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงให้บริการออกแบบประสบการณ์ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล(Digital Customer Experience Design) ให้ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

3.การสร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation) บริษัทมีบริการช่วยลูกค้าที่สนใจขยายการลงทุนหรือสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขันจากธุรกิจเดิม โดยทำหน้าที่คิดค้นกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจร่วมกันระหว่างพันธมิตร และลูกค้า

4.การส่งเสริมการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนด (Compliance Services) บริษัทมีบริการช่วยเหลือธุรกิจในการเตรียมความพร้อมรับมือพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และการออกแบบธรรมาภิบาลข้อมูล(Data Governance) รวมทั้งให้บริการที่ปรึกษา ทบทวนและวางแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง(Business Continuity Plan - BCP)

“ยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่คาดการณ์ยากมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมตลาดการให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลยังคงเติบโต ซึ่งหากรวมการลงทุนวางระบบร่วมกับลูกค้าแล้วในภาพรวมตลาดนี้ยังมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทเองมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาหลายปีที่ 40-50% ต่อปี แต่ปีนี้แม้จะคาดการณ์ว่าการเติบโตลดลงแต่ก็ยังเติบโตอยู่ที่ 20% เนื่องจากบริษัทนอกจากการให้คำปรึกษากับลูกค้าแล้วก็ยังร่วมลงทุนและอิมพลีเม้นท์ระบบให้ลูกค้าด้วย ซึ่งตรงกับโจทย์ที่ลูกค้าต้องการบริการครบวงจร ที่สำคัญคือ โควิด-19 ทำให้การดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชันเกิดเร็วขึ้นอีกด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น