xs
xsm
sm
md
lg

“กสท” เสนอแนวทางควบรวม “ทีโอที” เหลือบริษัทเดียวซึ่งยังมีคนไม่เห็นด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสท โทรคมนาคม เสนอแนวทางรอด 2 รัฐวิสาหกิจ ด้วยการควบรวม 2 บริษัท เหลือบริษัทเดียวเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ดีกว่าการแตกบริษัทลูก NBN-NGDC ชูข้อดีลดการลงทุนซ้ำซ้อน ไม่ต้องแข่งขันกันเอง แต่ทีโอทียังไม่เห็นด้วย เตรียมนัดประชุมหาข้อสรุปร่วมกัน 18 ก.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะทำงานดีอี และเข้า คนร.เพื่อเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่ง ส่วนใครกลัวตกเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดแค่ค้านหัวชนฝาก็ควบรวมไม่สำเร็จหันไปแตกบริษัทลูกตามเดิม

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ความคืบหน้าในการเข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ที่มี น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี อยู่ในขั้นตอนการหาข้อสรุปร่วมกันกับทีโอที ในการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัทเดียว คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด แต่ในการประชุมร่วมกัน 2 ครั้งที่ผ่านมา จากจำนวน 5 ครั้งในการประชุม ยังไม่สามารถหาข้อสรุปไปในแนวทางเดียวกันได้

ดังนั้น ในวันที่ 18 ก.ค.2561 นี้ สหภาพฯ กสท จึงจะจัดประชุมใหญ่วิสามัญ โดยจะเชิญผู้แทนบอร์ด ประธานคณะทำงานเข้าร่วมประชุมชี้แจงประเด็นรายละเอียด แนวทางการแก้ไขปัญหาของ กสท กับทีโอที ที่ต้องเสนอกระทรวงดีอีพิจารณาก่อนนำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ต่อไป หากเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้ก็สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ปัญหา 2 รัฐวิสาหกิจแทนการตั้ง 2 บริษัทลูกขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม สหภาพฯ กสท ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงที่มาของแนวคิดในการควบรวม 2 บริษัท เป็นบริษัทเดียว ว่า เป็นการแก้ปัญหาตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้แก้ไขและลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องร้องเรียน ด้วยการพูดคุยและหาวิธีปฎิบัติที่เหมาะสมสำหรับรัฐวิสาหกิจเพื่อให้การทำงาน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้างในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน และจากมติการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา แจ้งว่า ทั้งนี้ หากคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที และ กสท พิจารณาแล้วเห็นว่ามีประเด็นรายละเอียดที่ต้องปรับปรุงก็ให้เสนอกระทรวงดีอี พิจารณาก่อนนำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯและสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สนร.) ตามลำดับต่อไป

ดังนั้น ต่อมา กสท จึงได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง กสท และทีโอที เพื่อดำเนินการปรับปรุงแนวทางแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจดังกล่าว

ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารระดับสูงของ กสท และคณะทำงานฯ ได้เสนอหลายแนวทางเพื่อให้บอร์ด กสท พิจารณา ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ บอร์ดเห็นชอบแนวทางการควบรวม กสท และทีโอทีเป็นนิติบุคคลเดียว จัดตั้งเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เนชั่นแนล เทเลคอม) เพื่อให้มีหน่วยงานของรัฐในกิจการสื่อสารโทรคมนาคมเพียงหน่วยงานเดียวให้มีความมั่นคงเกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ใช้ประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพจากทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ไม่แข่งขันกันเองระหว่างหน่วยงานของรัฐ ตอบสนองนโยบายรัฐ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและความมั่นคงของประเทศ

โดยให้ไปศึกษารายละเอียดเรื่องข้อกฎหมาย สิทธิการถือครองคลื่น ระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการตามรูปแบบที่ผู้บริหาร และบอร์ดเห็นชอบ

สำหรับแผนงานการจัดตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติในปี 2561 หลังจากควบรวม กสท และทีโอทีแล้วเสร็จเป็นนิติบุคคลเดียว โดยระยะแรกอาจให้ 2 องค์กรเป็นบียูแบบเบ็ดเสร็จภายใต้บริษัทใหม่ดังกล่าว และมีการจัดตั้งคณะกรรมการควบรวมเพื่อดำเนินการศึกษาใน 4 ประเด็นประกอบด้วย กฎหมายและคดีความ การเงินและแผนธุรกิจ โครงสร้างและบุคลากร และกระบวนการเปลี่ยนผ่าน

หลังจากนั้น ในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2562-2564 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจะผนึกทรัพยากรด้านต่างๆ และปรับกระบวนการไปพร้อมกับการจัดตั้งบียู และ/หรือ บริษัทลูกตามความเหมาะสม โดยอาจเริ่มจากธุรกิจที่มีขอบเขตชัดเจน เช่น จัดตั้งกลุ่มธุรกิจด้านสื่อสารไร้สาย (โมบาย) ไปพร้อมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาคุณภาพในการปรับปรุงการทำงานต่างๆ

และแผนระยะยาวคือ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจะดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ แบ่งเป็น 4 สายธุรกิจ คือ โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจต่างประเทศ ไอดีซี และคลาวด์ บรอดแบนด์เซอร์วิส และโมบาย เซอร์วิส

ประธานสหภาพฯกสท ระบุว่า ในขณะที่คณะทำงานที่กระทรวงดีอีที่จัดตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของทีโอที กสท และอีก 2 บริษัท ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา เห็นด้วยกับการควบรวม แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น ระยะเวลาการควบรวม ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ระหว่างผู้บริหารของ 2 องค์กร ดังนั้น น.ส.อัจฉรินทร์ ปลัดกระทรวงดีอี จึงเสนอให้ไปหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร และบอร์ด รวมทั้งหารือกับตัวแทนสหภาพฯ ของ 2 องค์กรด้วย เพื่อให้ได้ข้อสรุปเดียวกันทุกประการ ส่วนเมื่อควบรวมแล้วก็ต้องหาพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่งต่อไป แต่หากทั้ง 2 องค์กรยังไม่สามารถตกลงกันได้ ก็อาจจะต้องกลับไปใช้แนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2560 ในการตั้งบริษัทลูก NBN และ NGDC

ดังนั้น สหภาพฯ กสท จึงจะจัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นในวันที่ 18 ก.ค.นี้ โดยจะเชิญผู้แทนบอร์ด ประธานคณะทำงานเข้าร่วมประชุมชี้แจงประเด็นรายละเอียด แนวทางการแก้ไขปัญหาของ กสท กับทีโอที ที่ต้องเสนอกระทรวงดีอีพิจารณาก่อนนำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและ คนร.ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น