กสทช. นั่งหัวโต๊ะ เชิญ ทีโอที ดีแทค และบีทีเอส ถกแนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าขัดข้อง พบคลื่น 2300 MHz ของทีโอที กวนสัญญาณ 2400 MHz ของบีทีเอสจริง เหตุบีทีเอส มีแผนเปลี่ยนอุปกรณ์รับ-ส่งอาณัติสัญญาณและฟิลเตอร์ล่าช้าก่อนดีแทคเปิดให้บริการ เร่งบีทีเอส ขยับคลื่นออกห่างไปใช้ช่วง 2480-2495 MHz และติดตั้งระบบให้เสร็จภายในคืนวันที่ 29 มิ.ย. ส่วนทีโอที ให้ปิดคลื่น 2300 MHz ไปก่อนจนกว่าจะแก้ปัญหาเสร็จ คาดบีทีเอส ใช้งานได้ปกติเช้าวันเสาร์ที่ 30 มิ.ย. นี้
วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังเชิญ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เข้าหารือกรณีระบบรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันว่า ปัจจุบัน คลื่นที่ใช้งานกับรถไฟฟ้าบีทีเอส คือ คลื่น 2400 MHz ขึ้นไป ส่วนทีโอที และดีแทค ใช้งานในย่านความถี่ 2310-2370 MHZ
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการใช้งานของบีทีเอส กับคลื่นของทีโอที มีระยะห่างกันอยู่ 30 MHz ซึ่งในทางเทคนิคเมื่อดูจากระยะห่างแล้วไม่น่าจะมีปัญหาการรบกวนสัญญาณระหว่างกัน เพราะในการใช้งานคลื่นความถี่ของระบบโทรคมนาคมด้วยกันสามารถมีความถี่ของคลื่นห่างกันแค่ 2.5 MHz แต่สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นกลับมีการรบกวนสัญญาณกัน กสทช. จึงแนะนำให้บีทีเอสย้ายช่องความถี่สื่อสารไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480-2495 MHz โดยระหว่างการย้าย ทีโอทีจะปิดการใช้งานคลื่น 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าไว้ชั่วคราวจนกว่าบีทีเอส จะเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จ ซึ่งบีทีเอส ระบุว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ และช่วงการใช้งานคลื่นเสร็จเรียบร้อยในช่วงกลางคืนของวันที่ 29 มิ.ย. 2561
“ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าทีโอที จะปิดการใช้งานบางสถานีตามแนวรถไฟฟ้าไปแล้ว แต่ก็ยังมีการรบกวนอยู่ ถึงแม้จะลดลง แต่ประชาชนก็ยังใช้งานอยู่ และแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว คือ ให้บีทีเอส ย้ายคลื่นความถี่ไปทางด้านย่าน 2500 MHz มากที่สุด โดยใช้ช่วง 2480-2495 MHz” นายฐากร กล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กล่าวว่า บีทีเอส จะติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งระบบอาณัติสัญญาณ ติดตั้งฟิลเตอร์ และย้ายช่องความถี่ให้เสร็จภายในกลางดึกวันที่ 29 มิ.ย. 2561 และเชื่อว่า เช้าวันที่ 30 มิ.ย. 2561 การให้บริการจะเป็นปกติ ทั้งนี้ บีทีเอส ตระหนักว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด ส่วนมาตรการเยียวยาลูกค้านั้น ขณะนี้ทางบีทีเอส อยู่ระหว่างหารือว่าจะช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ใช้งานอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ บีทีเอสมีแผนในการเปลี่ยนอุปกรณ์รับ-ส่งระบบอาณัติสัญญาณจากยี่ห้อโมโตโรล่า เป็นยี่ห้อม็อกซ่า (Moxa) และมีการติดตั้งฟิลเตอร์อยู่แล้ว โดยกำหนดการเดิมคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ต.ค. นี้ แต่เมื่อต้นเดือนนับตั้งแต่ดีแทค เปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มิ.ย. บีทีเอส ก็ได้สั่งซื้อฟิลเตอร์มาแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นเร็ว เพราะไม่เคยมีประเทศไหนได้รับผลกระทบมาก่อน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ บีทีเอสก็ต้องเร่งทำให้เสร็จภายในกลางดึกวันที่ 29 มิ.ย. 2561
ขณะที่นายรังสรรค์ จันทร์นฤกูล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที กล่าวว่า การย้ายช่องสัญญาณ และเปลี่ยนอุปกรณ์ น่าจะทำให้การสื่อสารระบบอาณัติสัญญาณทำได้ดีขึ้น โดยระหว่างนี้ ทีโอที และบีทีเอส จะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา และหากช่วงนี้ถ้ามีปัญหาอะไรทางทีโอที กับบีทีเอส จะเข้าไปดูแล และร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา ทีโอทีได้ปิดสถานีฐานไปแล้วราว 20 สถานีฐาน และการปิดเพิ่มเติมหรือไม่นั้น จะต้องดูหน้างานอีกที
สำหรับการเยียวยา ดีแทคในฐานะคู่สัญญาที่ใช้คลื่น 2300 MHz กับทีโอทีนั้น ต้องให้ กสทช. ดูอีกทีว่าจะทำอย่างไร เพราะหากต้องปิดนานก็ต้องมาคุยกันอีกที ทั้งนี้ ทีโอที และดีแทค คำนึงถึงประชาชนมากที่สุด และช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นหากปิด 2 วัน ไม่น่าจะกระทบกับลูกค้าดีแทค เพราะดีแทคมีคลื่นอื่นรองรับอยู่แล้ว
“เรื่องนี้ไม่มีใครผิด หรือถูก เราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน ทางบีทีเอส เขาไม่คิดว่า ดีแทคจะเปิดให้บริการเร็ว เพราะเขาเองก็มีแผนในการติดตั้งระบบดังกล่าวอยู่แล้วที่คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ต.ค. นี้ ส่วนทีโอที เราก็ทดลองระบบมาเป็นปีแล้วว่ามันไม่กระทบ เรื่องนี้ ทีโอที กับดีแทค เข้าใจว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระบบ ก็ต้องมีผลกระทบบ้าง”
ด้านนายนฤพล รัตนสมาหาร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีหน้าที่ทำตามที่ทีโอทีเสนอมา ส่วนลูกค้าที่ใช้งานขณะนี้ยังมีไม่มาก จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ