สำนักงาน กสทช. ส่งรถตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ และการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ออกตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้อง ด้านนักวิชาการยัน อย่าให้คลื่น 2300 MHz เป็นแพะ แต่ควรกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้องบ่อย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ โดย BTS แถลงว่า สาเหตุเกิดจากรถไฟฟ้าถูกคลื่นสัญญาณวิทยุจากตึกสูงที่อยู่ในแนวเส้นทางการเดินรถไฟฟ้ารบกวน ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถขัดข้องนั้น
สำนักงาน กสทช. ได้ส่งรถตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ และการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ออกวิ่งตรวจสอบสัญญาณตั้งแต่เวลา 07.00 น. ของวันนี้ (26 มิ.ย. 2561) เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ขัดข้อง หลังจากตรวจสอบเสร็จ สำนักงานฯ จะนำผลการตรวจสอบ และบทสรุปต่างๆ มาวิเคราะห์ว่า การที่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้องบ่อยนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร และจะส่งรถตรวจสอบออกไปตรวจสอบสัญญาณตลอดในช่วงนี้ จากนั้น สำนักงาน กสทช. จะเชิญ BTS, DTAC และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อหารือร่วมกันถึงมาตรการ และแนวทางในแก้ไขปัญหาต่อไป
“สำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง และการใช้ชีวิตประจำวัน”
***นักวิชาการยันคลื่น 2300 MHz เป็นแพะ
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาของเหตุขัดข้องบ่อยๆ น่าจะมาจากหลายส่วนด้วยกัน โดยจะเห็นว่าการขัดข้องมีมาก่อนหน้านี้หลายปีก่อนมีการนำคลื่น 2300 MHz มาใช้ ถ้าดูจากข้อมูลย้อนหลังภาพรวมทั้งหมด คือ ระบบการเดินรถของรถไฟฟ้าเอง โดยระบบเดินรถที่รถไฟฟ้าใช้ คือ ระบบ CITYFLO 450 ของ Bombardier บริษัทชั้นนำของโลกในการผลิตรถไฟ และระบบควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เดิม BTS ซื้อรถไฟจากบริษัทซีเมนส์ ที่ใช้ระบบเดินรถซึ่งเป็นระบบปิดของซีเมนส์ ต่อมา มีการจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มโดยหันไปใช้รถจากบริษัทใหม่จากจีน เพื่อให้รถใหม่และรถเก่าวิ่งร่วมกันได้ จึงต้องปรับระบบควบคุม และเปลี่ยนระบอาณัติสัญญาณใหม่ ตั้งแต่เปลี่ยนระบบมา การเดินรถของ BTS ก็มีปัญหาตลอด ไม่ใช่ต้นเหตุจากคลื่นรบกวนอย่างเดียว
ทั้งนี้ ในทางเทคนิค การกวนสัญญาณจากคลื่นความถี่ที่ใช้ส่งสัญญาณระหว่างระบบ และตัวรถ อาจจะมีบ้างเป็นช่วงๆ บริษัทและพนักงานน่าจะทราบอยู่แล้ว เพราะในขบวนรถจะขึ้นแสดงว่า จุดไหนบ้างที่เจอปัญหา แต่ไม่ได้รุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นต้องเร่งแก้ไขปัญหาทุกส่วน ไม่ให้กระทบบริการ และผู้ใช้งานรายวันแบบนี้
“การโทษว่าเป็นเพราะคลื่นความถี่นั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา สำหรับคลื่นที่ตัวระบบใช้เป็นย่าน 2.4 GHz ซึ่งเป็น unlicened band ที่มีการใช้งานของอุปกรณ์หลายชนิด หากรบกวนจริงก็ต้องติดอุปกรณ์ป้องกัน หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ภาควิทยุ (RF) ใหม่ รวมถึงพิจารณาใช้ความถี่ย่านอื่นๆ ในอนาคต”
นายสืบศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น บีทีเอส ต้องพิจารณาเองว่าถึงเวลาหรือยังที่จะเปิดเผยความจริงว่าระบบมีปัญหาตรงไหน แก้ไม่ได้เพราะระบบที่ปรับเข้ากันไม่ได้ หรือเกิดจากบริษัทเจ้าของระบบเดินรถแก้ไขปัญหาไม่ได้ สุดท้าย ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ จะต้องยกเครื่องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่หรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ ไม่ว่าปัญหามาจากอะไร หน่วยงานให้บริการรถไฟฟ้าต้องมาเรียนรู้บทเรียนร่วมกัน แล้วช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา โดยต้องสร้างมาตรฐานในการให้บริการที่มีประสิทธิภาพให้ได้ เพราะในอนาคต ประเทศไทยต้องมีรถไฟฟ้าอีกหลายสายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การจะโทษคลื่นความถี่ให้เป็นแพะรับบาปตลอดไปคงเป็นไปไม่ได้